X

ถก“ปัญหาและทางออกของทีวีดิจิทัล” ถึงเวลาปฏิรูปกสทช.

หลังเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กสทช. เปิดโอกาสให้ดิจิทัลทีวีเลิกกิจการ คืนใบอนุญาต จนมีผู้ประกอบการแสดงความประสงค์จะคืนใบอนุญาตถึง 7 ช่อง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงจัดเวทีเสวนา “ปัญหาและทางออกของทีวีดิจิทัล” เพื่อวิเคราะห์เหตุการณ์ดังกล่าวและทางออกของปัญหานี้

(16 พ.ค. 62)จุุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 20 เรื่อง  “ปัญหาและทางออกของทีวีดิจิทัล” ที่ ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ของทีวีดิจิทัลในปัจจุบัน ท่ามกลางการแข่งขันและการอยู่รอดในแวดวงสื่อโทรทัศน์ ภายหลังจากที่ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิทัล 7 ช่องได้ยื่นคำร้องขอคืนใบอนุญาตกับ กสทช. เพื่อขอยุติการออกอากาศทางดิจิทัลทีวี โดย ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ  ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและระบบโทรคมนาคม ผู้อำนวยการโครงการ CU Transformation , นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ นักกิจกรรมสังคมด้านสื่อ อดีตกรรมการ กสทช. , นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม นายกสมาคมนักข่าววิทยุและ โทรทัศน์ไทย และรองผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ สปริง 26 , ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา และดำเนินรายการโดย ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้

ต้นตอของวิกฤตทีวีดิจิทัลนี้คืออะไร ?

ดร.สุพจน์ ระบุว่า ต้นตอของปัญหานี้ต้องย้อนกลับไปดูในยุคที่เราประมูลทีวีดิจิทัล ในยุคนั้นทุกคนประกาศผลสำเร็จ เมื่อมีผู้เข้าประมูลสูงถึง 24 ช่อง และด้วยราคาประมูลที่สูง นั่นทำให้ต้นทุนในการผลิตเนื้อหาสูงขึ้น ในยุคนั้นมองว่า การเข้ามาถึง 24 ราย ทำให้คนดู มีโอกาสได้รับชมเนื้อหาผ่านโทรทัศน์มากยิ่งขึ้นแต่เมื่อเวลาผ่านไปการเข้ามาของเทคโนโลยีที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่การผลิตเนื้อหาทางโทรทัศน์จะต้องผ่านกระบวนการมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การตัดต่อ , การออกอากาศ และการรับชมผ่านโทรทัศน์ ซึ่งเมื่อเทคโนโลยี 4G และ อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง เข้ามาทำให้ กระบวนการผลิตเปลี่ยนไป ผู้คนสามารถเนื้อหาของตนเองได้ (user generate content) หรือแม้กระทั่ง การเข้ามาของสื่อสังคมออนไลน์ นั่นทำให้ผู้คนลดอัตราการรับชมโทรทัศน์ลดลง

ในอนาคตจะยังคงมีอุปสรรค์อีกมากมายที่จะเข้ามาสร้างผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสื่อมากยิ่งขึ้น นั่นคือ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ที่สามารถรู้ว่าผู้ชมต้องการอะไร และเทคโนโลยี 5g ที่จะทำให้อินเตอร์เน็ตแรงกว่าเดิมจนทำให้ประชาชนไม่จำเป็นต้องดูโทรทัศน์อีกต่อไป ทุกอย่างมีความรวมเร็วมากขึ้น จากเดิม 3G ดาวน์โหลดได้เพียงคลิปสั้นๆเล็กๆ แต่เมื่ออินเตอร์เน็ตมือถือมีความเร็วมากขึ้น ทำให้การดูสตรีมมิ่งบนมือถือและการดูทีวีบนมือถือเป็นเรื่องที่ปกติ ดังนั้นคนจึงไม่จำเป็นต้องเฝ้าหน้าจอโทรทัศน์อีกต่อไป และในอนาคตคลื่นสัญญาณไม่จำเป็นต้องมีโครงข่ายเฉพาะอีกต้อไป จะไม่มีจำว่าคลื่น 700 , คลื่น 1600 ต้องเป็นโทรทัศน์หรือมือถืออีกต่อไป ในประเทศอินโดนิเซีย มีการสร้างโครงข่ายรวมทั้งโทรคมนาคมและโทรทัศน์ตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน และทำให้ต้นทุนของโทรคมนาคมและโทรทัศน์ลดลง

ดร.สุพจน์ เชื่อว่า ประเทศไทยน่าจะมีทีวีดิจิทัลมากที่สุดในโลก เพราะในต่างประเทศ เป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านจากทีวีอนาล็อคเป็นดิจิทัล ไม่ได้เพิ่มเป็นหลายร้อยช่องจนทีวีดิจิทัลเป็นแบบทีวีดาวเทียม แบบที่เป็นอยู่ ซึ่งในต่างประเทศที่มีการเข้ามาของเทคโนโลยี(Digital Disruption)ก่อนไทย ก็มีการปรับตัว ไม่ว่าจะเป็น New York Times ที่เปลี่ยนจากสื่อสิ่งพิมพ์มาเป็นสื่ออนไลน์ก่อนใคร โดยการที่จะอ่าน New York Times ได้ต้องจ่ายเงิน แต่คำถามสำคัญเลยคือ ประเทศไทยจะทำแบบนั้นได้หรือไม่ ?

ด้าน นางสาวสุภิญญา อดีต กสทช. ระบุ ในยุคที่มีการพูดคุยกัน ตอนนั้น กสทช.มีการพูดคุยเรื่องคลื่น 700MHz มาทำโทรคมนาคม แต่ด้วยข้อกฏหมายและความต้องการของ กสทช. ในยุคนั้น ต้องการให้มีการแข่งขันบนโลกโทรทัศน์ และมีแผนแม่บทที่จะทำทีวีดิจิทัล ทำให้คลื่น 700MHz เป็นของโทรทัศน์ ดังนั้น ต้องยอมรับว่าในยุคที่มีการประมูลทีวีดิจิทัล เป็นช่วงเวลาเดียวกับการประมูล 3G และประเทศไทยมีการประมูลทั้งทีวีดิจิทัลและ 3G ช้ากว่าประเทศอื่นๆ และเมื่อมี 3G แล้วจึงทำให้การพัฒนาก้าวเร็วกว่าปกติ จนทำให้เกิดวิกฤตทีวีดิจิทัล ซึ่งเรื่องนี้ กสทช. ก็ควรมีส่วนรับผิดชอบในความเสียหายด้วย แต่เมื่อมี ม.44 ของ คสช. มาช่วยรับผิดชอบให้ กสทช. จึงทำให้เกิดการเยียวยาและการคืนช่องล่าสุด

แล้วทำไมถึงมีการประมูลถึง 48 ช่อง ? อดีต กสทช. ระบุว่า ในตอนแรกที่ กสทช. จะประมูลช่องทีวีดิจิทัล เอกชนก็เป็นผู้เรียกร้องเองว่าของให้มีช่องต่างๆเพิ่ม จากช่องข่าว 4 ช่อง ก็กลายเป็น 7 ช่อง จนกลายมาเป็น 24 ช่อง ในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งที่ กสทช.ทำ ในการช่วยแบกภาระของทีวีดิจิทัล ทั้งค่าโครงข่าย(mux) และค่าใบอนุญาต เป็นเรื่องที่ผิดพลาด เพราะมาตรการดังกล่าวเอื้อให้กับผู้ให้บริการโครงข่าย หรือ เจ้าของ mux มากกว่า เพราะเมื่อมีการคืนช่องดิจิทัล 7 ช่อง กสทช. เยียวยาด้วยการจ่ายค่า mux ให้ผู้ประกอบการทีวีทั้งหมด แม้แต่ช่องที่คืนไปแล้ว กสทช. ก็ต้องจ่ายให้ผู้บริการโครงข่าย ซึ่งระยะเวลาในการให้บริการโครงข่ายที่มีถึง 15 ปี จะทำให้ผู้ให้บริการโครงข่ายเมื่อครบสัญญา 15 ปีได้รับรายได้ถึงกว่า 1,000 ล้านบาท

ปัจจุบันผู้บริการโครงข่าย (mux) ปัจจุบันมีทั้งหมด Thaipbs , อ.ส.ม.ท. , NBT และ ททบ.5(2 โครงข่าย)

 

นางสาวสุภิญญา มองว่าการปฏิรูปสื่อของประเทศไทย จะยังไม่ได้ไหน หาก กสทช. ยังคงเอื้อประโยชน์ให้นายทุนมากกว่า ซึ่งเงินที่ กสทช. เยียวยาผู้ประกอบการก็ไม่มั่นใจว่า จะถึงมือลูกจ้าง-พนักงานมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการที่ กสทช. ยอมลงมาอุ้มกิจการทีวีดิจิทัลในครั้งนี้ก็ไม่ได้มีข้อบังคับเหมือน TOR ว่าจะต้องเข้าเงือนไขอะไรบ้างที่จะรับการเยียวยา และ กลุ่มทีวีที่ทำต่อเมื่อมีการเปิดให้ซื้อ-ขาย และเปลี่ยนมือคนทำทีวีแล้ว ก็ไม่มีข้อกำหนดว่าจะให้ทำสาธารณะประโยชน์อะไร ดังนั้นเราจึงเห็น การขายตรง-ขายยาลดน้ำหนักบนทีวี

ขณะที่เมื่อ คสช. ออก ม.44 มาอุ้มอุตสหกรรมทีวีแบบนี้แล้ว จะกลายเป็นบุญคุณให้ดิจิทัลทีวีหรือไม่ ? เพราะ คสช. เป็นคนออกมาตรการช่วยเหลือดิจิทัลทีวี แล้วเวลานำเสนอข่าวก็จะเกิดความเกรงใจขึ้น เป็นผลพวงต่อๆมา ซึ่งหลังจาก กสทช. ชุดนี้หมดวาระแข้ว จะมีการตามกลับมาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นหรือไม่ ก็อาจจะต้องก้มหน้ารับชะตากรรมกันต่อไป

นายพีระวัฒน์ นายกสมาคมนักข่าวฯ และผู้บริหารช่อง Spring 26 แปลกใจ ที่รัฐบาลออก ม.44 มาพร้อมกับมาตรการเยียวยาของ กสทช. ซึ่งทางกลุ่มผู้บริหารเองมีการเตรียมทางออกไว้เป็นร้อยเส้นทาง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดให้คืนช่องแต่ไม่เยียวยา หรือความเป็นไปได้อื่นๆก็ตาม แต่ไม่คาดคิดว่า กสทช. จะเปิดให้คืนช่องและให้เงินเยียวยาผู้ประกอบการมากขนาดนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงค่าโครงขายสัญญาณ(Mux)ด้วย ถ้าหาก Spring News ช่อง 19 คืนช่องจะได้ค่าเยียวยาและเงินอื่นๆอีกถึงกว่า 1,000 ล้านบาท และ Spring 26(Now 26 เดิม) จะได้เงินกลับมากว่า 800 ล้านบาท ซึ่งคำถามหลักเลยคือ ทำไมช่อง 19 และ 26 ไม่ทำต่อ ? เพราะเมื่อประเมิณดูแล้ว หากทำกิจการต่อไปจนครบสัญญา 15 ปี โอกาสที่จะได้กำไร 1,000 ล้านบาท แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถึงไม่ต้องเสียค่าโครงข่าย(Mux)แล้ว ก็ยังมีเรื่องของกฏ Must Carry และค่าใช้จ่ายอื่นๆอีกปีละกว่า 10 ล้านบาท

ซึ่งเมื่อเทียบกันแล้วค่าใช้จ่ายต่างๆทั้ง ค่าโครงข่าย , ค่าใบอนุญาต และ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่ต้องจ่ายแบบลดหย่อนไม่ได้(Fix Cost) คิดเป็น ร้อยละ 30 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด นั่นทำให้ส่วนแรกที่จะตัดออกคือ เงินส่วนที่จะนำไปจ้างคน และทำเนื้อหา(Content) จึงทำให้เกิดวิกฤตเมื่องบประมาณต่ำแต่ต้องการเนื้อหาคุณภาพ อีกทั้งยังไม่รวมเรื่องที่เมื่อดิจิทัลทีวีออกอากาศได้ไม่กี่เดือนก็เกิดการรัฐประหาร จากเดิมที่คาดหวังว่า เมื่อหมดยุคดิจิทัลแล้วจะมีเสรีภาพสื่อมากขึ้น ปลดแอกสื่อจากค่าสัมปทานทีวีอนาล็อก กลับถูกคุมด้วยคณะรัฐประหารแทน แขะทำให้ช่วงเวลาไพรม์ไทม์ของทีวีหายไปทันทีคือช่วง 18.00 น. และ 20.00 น. ของวันศุกร์

“อย่างน้อยหยุดเลือดตัวเองที่ไหลก่อน แล้วค่อยจัดการปัญหาอื่นๆต่อ” นายพีระวัฒน์ กล่าว

ขณะที่ก่อนหน้า คสช. จะออก ม.44 ให้คืนทีวีดิจิทัลได้ กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดีจิทัลเอง มีแนวโน้มว่าจะลงไปสู่ตลาดออนไลน์มากยิ่งขึ้น แต่เมื่อ กสทช. ออกมาตรการเยียวยาออกมา ทำให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงงบประมาณเป็นหลัก เมื่อคืนช่องแล้วได้เงินกลับมากว่า 1,000 ล้านบาท ก็ทำให้ผู้ประกอบการชั่งน้ำหนักแล้วว่า ระยะเวลาอีกกว่า 10 ปีที่เหลืออยู่จะได้กำไรกลับมาเท่ากับเงินที่ กสทช. จะเยียวยาหรือไม่ ? ซึ่งเมื่อพนักงานเห็นเงินที่ กสทช. จะจ่ายแล้วก็รู้ทันทีว่าในอีก 10 ปีข้างหน้าไม่มีทางที่ ทีวีดิจิทัลจะทำกำไรกลับมาได้ถึงขนาดนั้น

ในส่วนของ Spring News เปลี่ยนตัวเองจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์มาเป็น ผู้ให้บริการด้านเนื้อหา(Content Provider) เดิม Spring News มีแผนว่าจะลงมาสู้ตลาดออนไลน์ในอีก 2 ปี แต่เมื่อ กสทช. เปิดช่องทางให้คืนช่องทีวี ก็ทำให้บริษัทต้องลงมาในตลาดออนไลน์เร็วขึ้น

ดังนั้นหลังจากนี้ กสทช. จะทำอะไรก็ต้องทำและมองสถานการณ์ให้รอบคอบ การคืนช่องของดิจิทัลทีวีจะเสร็จสมบรูณ์ก็ต่อเมื่อทำแผนการเยียวยาผู้ชมว่าช่องนั้นๆจะเลิกออกอากาศ ภายใน 30 วัน และส่งให้ กสทช. พิจรณา แต่สิ่งหนึ่งที่ กสทช. ไม่ได้ออกมาบังคับผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล คือ มาตรการเยียวยาพนักงาน ซึ่งสมาคมสื่อฯ หลายๆสมาคมก็ออกมาเรียกร้องให้ผู้ประกอบการเยียวยาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด แต่เนื่องจากดิจิทัลทีวีหลายๆบริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นการที่ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ออกมาระบุให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ดูแลพนักงานที่จะต้องให้ออก ต้องมีมาตรการเยียวยาพนักงานมากกว่าที่กฏหมายกำหนด แต่ไม่ออกเป็นหนังสือราชการ เมื่อผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์จะจ่ายเงินเยียวยาพนักงานเกินกว่าที่กฏหมายกำหนด จะให้เหตุผลอะไรกับผู้ถือหุ้นในการจ่ายเงิน

ขณะที่ทีวีดิจิทัลหลายๆช่องจำเป็นต้องลดคนหรือปลดพนักงานไปสู่รูปแบบออนไลน์มากขึ้น หนึ่งส่วนที่จะตกงานแน่นอนในกระบวนการข่าวคือ ฝ่าย สตูดิโอ เพราะปัจจุบันเมื่อมีสตูดิโอเสมือนจริงบนฉากเขียว(Visual Studio) ก็ไม่จำเป็นต้องใช้พนังงานเยอะเหมือนในอดีตแล้ว และเมื่อปรับรูปแบบไปเป็นออนไลน์ ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สตูดิโอใหญ่ที่ใช้คนคุมเป็นสิบๆคนอีกต่อไป นี่เป็นเพียง สึนามิทีวีดิจิทัล ลูกแรกเท่านั้น ยังมีอีกหลายลูกที่กำลังจะเข้ามาถาโถมดิจิทัลทีวีอีกในอนาคต

ส่วน ผศ.ดร.เอื้อจิต เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา มองว่า ไม่ว่ากสทช. จะทำอะไร หรืออกมาตรการอะไรมาก็เกิดผลกระทบต่อสังคมทุกครั้ง เมื่อ คสช. ออก ม.44 ต่ออายุให้ กสทช. นั่นทำให้ กสทช. อยู่ใต้อำนาจของ คสช. และไม่ว่า กสทช. จะทำอะไร สิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่ง คือ คำนึงถึงผู้บริโภคน้อยมาก เช่น เว็บไซต์ของ กสทช. ที่มีแต่ตัวเลข และข้อมูลต่างๆที่เอื้อให้กับผู้ประกอบการมากกว่าผู้บริโภค หาก กสทช. มองคลื่นความถี่เป็นโอกาสทางธุรกิจ จะนำคลื่นความถี่นั้นมาสร้างสาธารณะประโยชน์ได้อย่างไร ?

ผศ.ดร.เอื้อจิต ระบุว่า ใครๆก็ตั้งคำถามว่าทำไม ททบ. 5 ถึงได้สัมปทานโครงข่าย(Mux) ถึง 2 สัมปทาน ในขณะที่ ม.44 ปลดล็อคทีวีดิจิทัลคืนช่อง พร้อมทั้งการออก มาตรการเยียวยาของ กสทช. คือการจ่ายค่าโครงข่าย(Mux)ให้กับเจ้าของสัมปทานจนครบสัญญา 15 ปี แม้ทีวีช่องนั้นจะคืนใบอนุญาตแล้วก็ตาม ซึ่ง ททบ.5 ที่ทหารเป็นผู้ดูแลถึง 2 โครงข่าย ซึ่งยังไม่รวมถึงคลื่นวิทยุที่ทหารเป็นผู้ถือสัมปทานทั้งหมดอีก

“ตราบใดที่มีองค์กรณ์อิสระที่ไม่อิสระก็จะทำให้ประชาชนไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเลย” ผศ.ดร.เอื้อจิต กล่าว

การตัดสินใจของ กสทช. อาไม่รอบด้านพอ และตราบใดที่กองทัพ ยังมีผลประโยชน์อยู่บนกิจการคลื่นความถี่ในการสื่อสาร กสทช. ก็ยังจะเป็นเครื่องมือของกองทัพต่อไป ซึ่งใน กสทช. เองจะมีหน่วยงานมอนิเตอร์และติดตามทีวีดิจิทัลอยู่ แต่ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนดังนั้นการทำงานของหน่วยนี้จึงไม่มีจุดหมายชัดเจน และเมื่อ คสช. เข้ามาทำให้หน่วยนี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามช่องที่ส่งผลต่อความมั่นคงของ คสช. มากกว่า ประโยชน์ของประชาชนที่รายการทีวีเมื่อใกล้ถึงข่วงเวลาออกสล่กกินแบ่งรัฐบาลกลับใบ้หวยอย่างชัดเจน

แล้วทางออกของเรื่องนี้อยู่ตรงไหน ?

นางสาวสุภิญญา อดีต กสทช. มองว่า หลังจากนี้ที่รัฐเข้ามาอุ้มกิจทีวีดิจิทัลแล้วยังไม่สามารถทำให้อยู่รอดได้ ส่วนนี้ก็จะเป็นความผิดของเอกชนเรื่องการบริหารแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เอง กสทช. ก็ต้องออกมาตรการเป็นขั้นตอนเพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไปตอบกลุ่มผู้ถือหุ้นได้ ก็มีความเป็นไปได้ยากที่พนักงานลูกจ้างจะได้รับการเยียวยามากกว่าที่กฎหมายแรงงานกำหนด อย่างที่สมาคมสื่อต่างๆเรียกร้อง

และเมื่อรัฐบาลเข้าไปเยียวยากลุ่มทีวีดิจิทัลแล้ว เงินส่วนนี้จะถูกเปลี่ยนไปเป็นต้นทุนทางเนื้อหา(Content)ได้อย่างไร ? เมื่อผู้ประกอบการเลือกที่จะตัดต้นทุนทางเนื้อหา จ้างนักข่าวด้วยเงินที่ต่ำและทำงานล้นมือ เขาจะใช้เวลาที่ไหนไปพัฒนาฝีมือตนเองและเรียนรู้ในการพัฒนาเนื้อหาต่างๆ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เมื่อมีการจัดงานแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการด้านสื่อสารมวลขนในต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทยมีน้อยรายมากที่จะส่งพนักงานออกไปอบรมและกลับมาพัฒนาบริษัท เพราะผู้ประกอบการไม่มาลงทุนในส่วนนี้

กสทช. มีกองทุนที่ชื่อว่า กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. แต่ไม่เคยมีการนำกองทุนดังกล่าวมาพัฒนาเนื้อหา(Content)ที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมเลย ในประเทศเกาหลีมีงบประมาณที่จะให้กับผู้ประกอบการเพื่อสร้าง ละครและรายการที่วีที่จะส่งออกไปยังต่างประเทศ แต่ประเทศไทยไม่มีการนำกองทุนมาทำสิ่งเหล่านี้

นางสาวสุภิญญา มองว่า สื่อไทยเป็นกลุ่มที่น่าสงสารมากกลุ่มหนึ่ง เพราะ ไม่เคยมีการเปิดกิจกรรม Open House ให้เอกชนรายอื่นๆได้เข้ามาแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ทางธุรกิจกัน อีกทั้งผู้ประกอบการยังไม่มีการลงทุนส่งพนักงานไปอบรมและสัมมนาในต่างประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ว่าต่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ถ้าหากผู้ประกอบการไม่หันกลับมามองในส่วนของ ผู้ผลิตเนื้อหา(Content) การที่จะได้เนื้อหาดีๆมาฉายให้ประชาชนคงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากเช่นกัน

หน่วยงานภาครัฐ ควาเลิกส่งข้าราชการไปดูงานที่ต่างประเทศและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการส่งพนักงานและผู้ผลิตเนื้อหาไปดูงานต่างประเทศมากกว่า และถ้าหาก กสทช. ไม่มีงบที่จะสนับสนุนให้เอกชนไปดูงาน ก็จัดงานเหล่านั้นในประเทศขึ้นมาและเชิญต่างชาติเข้ามาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความรู้กัน โดยใช้เงินจากกองทุน กทปส. ตราบใดที่ไม่สามารถส่งเนื้อหาที่มีคุณภาพไปสู่ผู้ชมได้ ก็ไม่มีทางทีดิจิทัลทีวีจะไปรอด

นางสาวสุภิญญา เชื่อว่า ทางออกของดิจิทัลทีวีในอนาคตมีแน่ แต่ต้องเปลี่ยนวิศัยทัศน์ของผู้ออกนโยบายให้ได้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ , กสทช. หรือกระทั่งกระทรวงวัฒนธรรมเองก็เช่นกัน กสทช. เยียวยาทีวีดีจิทัลเป็นเงินหลายพันล้าน แต่เงินเหล่านั้นส่งไปถึงมือผู้ผลิตเนื้อหาสักเท่าไหร่กัน ?

 

แล้วประเทศไทยมีโอกาสที่จะสามารถพัฒนาเนื้อหา(Content)ให้เข้าถึงมือผู้บริโภคได้มากขึ้นหรือไม่ ?

ดร.สุพจน์ ระบุว่า สิงคโปร์เองพยามทำให้เนื้อหาดีๆส่งไปถึงผู้ชม โดยการตั้ง Channel News Asia(CNA) ซึ่งในยุคแรกเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว เนื้อหาต่างๆดูล้าสมัยไม่ทันต่อเหตุการณ์ แต่เมื่อผ่านไป 20 ปี CNA สามารถพัฒนาจนสามารถสร้างเนื้อหาระดับอาเซียนได้ การที่จะทำให้เนื้อหาส่งไปถึงมือผู้ชมได้ การมี Platform กลางก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะส่งไปถึงมือผู้ชมได้ง่ายขึ้น ซึ่งประเทศไทยเคยมีการทำ Platform เหล่านี้ในหลายๆวงการแต่กลับสู้กลุ่มทุนจากต่างประเทศไม่ได้เพราะขาดการสนับสนุนจากภาครัฐ และแน่นอนว่าไม่มีใครไว้วางใจให้รัฐบาลเป็นคนทำ Platform ดังกล่าวด้วยเพราะเชื่อว่าจะได้รูปแบบที่ล้าสมัยแบบเว็บไซต์กระทรวงบางกระทรวง

 

ในส่วนของโครงข่ายและคลื่นความถี่ต่างๆ ในประเทศพม่า รัฐบาลมีการลงทุนโครงข่ายต่างๆให้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบกิจการมือถือและอินเทอร์เน็ตที่ไปลงทุนที่พม่า ไม่จำเป็นต้องลงทุนปักเสาพาดสายอีกต่อไป ดังนั้นหาก กสทช. เขามาดูแลในส่วนนี้ กำหนดราคากลางให้เหมาะสม ไม่ใช่ว่าพอ กทม. จะเอาสายสื่อสารลงดินก็ปล่อยให้ กทม. จัดการเองและเก็บค่าบริการที่สูงกว่าความเป็นจริง และเมาอต้นทุนในการลงทุนเครื่องข่ายลดลงก็จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดค่าบริการให้ถูกลงได้เช่นกัน

นายพีระวัฒน์ ผู้บริหารช่อง Spring 26 มองว่า ไม่ว่าอย่างไรโทรทัศน์ก็จะไม่มีวันตายเพียงแต่ผู้ประกอบการต้องมองว่า TV เป็นแค่ Platform หนึ่งที่จะส่งเนื้อหาออกไปให้ผู้ชม อย่างไรก็ตาม Content is King คนจะดูรายการหรือคลิปของเราหรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าเนื้หานั้นน่าสนใจหรือไม่ ตราบใดที่เนื้อหารเรายังไม่แน่น โอกาสที่จะทำให้คนเข้ามาอ่านและติดตามก็เป็นไปได้ยาก หากสังเกตพฤติกรรมของคนดูจะพบว่าในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมาการอ่านข่าวที่ลึกและจริงเป็นเรื่องที่ลำบากมากสำหรับผู้ชม ดังนั้นถ้าหากสำนักข่าวสมารถทำข่าวให้ ลึก จริง และเร็วได้ ก็จะทำให้คนเข้ามาติดตามและประสบความสำเร็จนั้น แต่ความสำเร็จนั้นต้องไม่อยู่บนความสำเร็จเดิมด้วย เช่น ละครแรงเงา 2 ที่ทำขึ้นบนความสำเร็จของแรงเงา 1 จนไม่ประสบความสำเร็จและไม่ได้รับการติดตาม

ซึ่งผู้ผลิตเนื้อหา ต้องรับรู้ถึงความแต่ต่างในการนำเสนอเนื้อหาในแต่ละ Platform ด้วย การนำเสนอเรื่องราวเดียวกัน ควรจะเสนออย่างไรบน Facebook , Instagram , Twitter ดังนั้นเมื่อรู้แล้วว่าแต่ละที่ ควรจะนำเสนออย่างไร ก็เริ่มสร้างชุมชน(Community)ของตัวเอง เพราะชุมชนบนโลกออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญ และเมื่อสร้างชุมชนได้ใหญ่พอก็จะทำให้สื่อเหล่านั้นอยู่ได้ แต่การที่จะสร้างชุมชนเหล่านั้นและดึงดูดคนมาอยู่ในชุมชนของเราได้ ก็ต้องมีสินค้าที่ดีก่อน ซึ่งสินค้าที่ดีก็คือ เนื้อหา(Content) ที่จะดึงดูดคนเข้ามา

สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือคนดูต้องการดูเนื้อหาที่มีคุณภาพอยู่เสมอ เมื่อต้องการดูเนื้อหาที่มีคุณภาพบนโลกออนไลน์ก็ย่อมต้องมีต่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็น NetFlix , Joox , Ais Play ก็มีค่าบริการรายเดือน แต่ฟรีทีวี ต้องมีเนื้อหาคุณภาพแต่คนดูไม่ต้องจ่ายเงิน บนโลกออนไลน์บางเรื่องก็ไม่ได้ถูกกรองทั้งหมด แต่ฟรีทีวีมีคนกรองเนื้อหาเหล่านั้นมาหแล้ว

ซึ่งเมื่อมีเนื้อหาที่ทคุณภาพค่ามช้จ่ายก็ต้องตามมา ในปัจจุบันหากสังเกตุทำไม TV Shopping ถึงมีมาก นั่นเป็นเพราะว่า TV Shopping พร้อมที่จะจ่ายมากกว่า ลูกค้ารายอื่นๆ ทำให้ TV Shopping เป็นรายได้หลักของช่อง หรือคิเป็น ร้อยละ 40 ของรายได้หลักช่อง แต่ทีวีที่ดีก็ต้องมีความพอดี เนื้อหาต้องไม่มากเกินไปจนค่าใช้จ่ายบานปลาย และโฆษณาก็ต้องไม่เยอะเกินไปจนคนดูเปล่ยนช่องหนี

 

ส่วน ผศ.ดร.เอื้อจิต เลขาธิการมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา ระบุว่า จริงๆแล้ว กสทช. มีข้อกำหนดต่างๆที่บังคับให้ช่องโทรทัศน์กลุ่มช่องเด็ด , ช่องวาไรตี้ , ช่องข่าว มีสัดส่วนรายการอยู่ที่เท่าไหร่ แต่หากถามว่ามีการกำกับดูแลและมอนิเตอร์จาก กสทช. หรือไม่ ? กลับไม่มีการตรวจสอบจาก กสทช. เองเลย ปัจจุบัน กสทช. อาศัยการร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องทำเรื่องเข้าไปร้องให้ กสทช. ตรวจสอบให้ ทั้งๆที่ กสทช. มีงบประมาณมากมายที่จะเข้าไปขอความร่วมมือจากภาคประชาสังคมให้เข้ามาร่วมตรวจสอบ แต่กลับไม่ปรากฏสิ่งเหล่านี้เช่นกัน

ยิ่ง กสทช. ทำงานและมี คสช. คุ้มครองอยู่ ยิ่งทำให้หลักธรรมภิบาลบางอย่างขององค์กรอิสระหายไป จึงอยากให้รัฐบาลหน้าไม่ว่าจะเป็นนายกฯคนเก่าหรือใหม่ ปฏิรูป กสทช. ให้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้จริงๆ ยิ่ง TV Shopping มีมากขึ้น ประชาชนย่อมต้องได้รับการคุ้มครองจาก กสทช. มากขึ้น ทุกฝ่ายจะต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องที่เกิดขึ้น และมองเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจริงๆกับสังคมไทย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ

นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ

ผู้ประกาศข่าว รายการ 77 ข่าวเด็ด ช่อง FIVE Channel HD / ผู้สื่อข่าว การเมืองและสังคม เว็บไซต์ 77ข่าวเด็ด และผู้สื่อข่าวออนไลน์ BrickinfoTV.com