X

จุฬาฯ จัดบรรยายพิเศษ ความรู้เนื่องในโอกาส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

(29 เม.ย. 62) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดบรรยายพิเศษ ชุด “ความรู้เนื่องในโอกาส พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ที่ หอประชุมจุฬาฯ เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในศาสตร์สาขาต่างๆ จากคณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี กล่าวเปิดงาน

ศ.ดร.บัณฑิต ระบุว่า การจัดบรรยายพิเศษในครั้งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร และเพื่อเผยแพร่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับพระราชพิธีฯ ตามโบราณราชประเพณี ให้กับประชาชนที่สนใจ ซึ่งจะได้เป็นหนึ่งในพระราชพิธีสำคัญในประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของประเทศไทย และนำไปใช้เพื่อให้ก่อเกิดประโยชน์ต่อไป

สำหรับการบรรยายพิเศษในครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 4 หัวข้อหลัก คือ เรื่อง “ที่มาและความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” โดย ผศ.ดร.ประพจน์ อัศววิรุฬหการ อดีตคณบดีคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ , เรื่อง “สถาปัตยกรรมในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” โดย ผศ.ดร.พีรศรี โพวาทอง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ , เรื่อง “มนต์และมนตร์ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” โดย ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ และ เรื่อง “ดนตรีในพระราชพิธี” โดย ผศ.ดร.ภัทระ คมขำ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ

จากแนวคิด พระจักรพรรดิราช ซึ่งตามในพระพุทธศาสนา หมายถึงพระมหาจักรพรรดิผู้ยิ่งใหญ่เหนือมวลมหากษัตริย์ทั้งหลาย โดยมีของวิเศษ 7 ประการ อันเป็นเครื่องหมายแห่งพระองค์ ได้แก่ ช้างแก้ว , มาแก้ว , ขุนพลแก้ว , เสนาแก้ว , ชายาแก้ว , จักรแก้ว และ มณีแก้ว ซึ่งสันนิษฐานว่าแนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงรัชสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช โดยมีการรวมเอาความเชื่อเรื่องศาสนาพราหมณ์เข้ามาด้วย ที่มีการประกอบพิธีให้พระมหากษัตริย์มีฐานะประดุจดั่งเทพเจ้า ซึ่งเรียกกันว่า “พิธีราชสูยะ” ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นที่มาของ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ในปัจจุบันก็ว่าได้

ซึ่งสำหรับ พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ของประเทศไทยคาดว่าได้รับรูปแบบมาจากประเทศอินเดีย ซึ่งมี 4 วรรณะ ซึ่งผู้ที่จะดำรงตำแหน่ง “ผู้นำ” หรือ “กษัตริย์” ต้องผ่านการประกอบพิธีการ 3 ขั้นตอน คือ การอภิเษก , การกระทำสัตย์ และ ถวายราชสมบัติ

หากมองดูความหมายของคำว่า “พระราชพิธีบรมราชาภิเษก” จะพบว่า ประกอบด้วยคำว่า พระราชพิธี , บรม , ราช , อภิเษก ซึ่งคำสำคัญที่สุดคือคำว่า อภิเษก ซึ่งหมายถึง “การรดน้ำ”  โดยมีปรากฏในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ซึ่งให้ความหมายไว้ว่า “แต่งตั้งโดยการรดน้ำ” ดังนั้น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงหมายความว่า การรดน้ำเพื่อสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์

ดังนั้นก่อนพระราชพิธีฯ จึงมี “พิธีสรงน้ำมูรธาภิเษก” หากเทียบกับคำสำหรับสามัญชนหมายความได้ถึง “การอาบน้ำ” แต่เนื่องจากพระมหากษัตริย์ เป็นสมมุติเทพ จะเป็นการมิบังควรหากมีผู้ใดสรงสรงมูรธาภิเศกพระมหากษัตริย์ ดังนั้นตามโบราณราชประเพณีจึงมีการคิดค้น “ฝักบัว” ขึ้น เพื่อให้สมพระเกียรติ และน้ำที่จะใช้ในพิธีสรงน้ำมูรธาภิเษก ก็จะต้องเป็นน้ำจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งในอดีตมีการนำน้ำจากแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์จากประเทศอินเดียมาประกอบพิธี แต่ช่วงหลังจากรัชสมัยของรัชกาลที่5 การเดินทางไปยังประเทศอินเดียเป็นเรื่องที่ยากลำบาก ดังนั้นจึงมีการปรับเปลี่ยนเป็นการนำน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ในประเทศแทน

อ่าน : ดร.วิษณุ กล่าวถึง “พิธีสรงมูรธาภิเศก”

ขณะที่อีกหนึ่งสิ่งที่ไทยได้นำเอาวัฒนธรรมจากรอบๆ สุวรรณภูมิเข้ามาผสมเป็นวัฒนธรรมได้ สังเกตได้จากอาหารไทย ที่มีการนำเอาวัตถุดิบจากรอบประเทศไทยมารวมกันเป็นอาหารแบบไทยๆ ที่เมนูเดียวกันแต่ของไทยจะมีรสชาติที่กลมกล่อม ครบรส ผศ.ดร.ชัชพล ไชยพร เปรียบเทียบการนำเอาวัฒนธรรมจากรอบสุวรรณภูมิเขามาประกอบเป็นวัฒนธรรมไทย ซึ่งก็ปรากฏความในช่วงหนึ่งของราชวงศ์จักรีว่า ประเทศไทยมีการส่งสาสน์เพื่อขอหนังสือกฎหมายจากต่างประเทศมาศึกษาและปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทยในยุคต่อมา

ซึ่งประเทศไทยก่อนที่จะมีการเข้ามาของศาสนาจากทางฝั่งประเทศอินเดีย มีการนับถือผีสาง เทวดาเป็นหลัก สังเกตจากการตัดสินโทษและความเชื่อในอดีตบางอย่าง เช่น การให้คนร้ายเดินบนถ่านไฟร้อน โดยมีความเชื่อว่าหากไม่ถูกไฟลวกจะแปลว่าผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ เทวดาปกปักษ์รักษา และความเชื่อเหล่านี้ก็ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน ผศ.ดร.ชัชพล พูดติดตลกอยู่ตอนหนึ่ง ระบุว่า ทุกวันนี้เราก็ไม่ได้ตัดสินกันที่ความยุติธรรม แต่ตัดสินด้วยการกดไลค์และกดแชร์ หรือไม่ ?

ซึ่งสำหรับขั้นตอน พระราชพิธีฯ ที่จะเกิดขึ้นเป็นอันดับแรก คือการจุดเทียนชัย ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการเริ่มพระราชพิธีฯ (สำหรับการเตรียมน้ำอภิเษก และ สรงสรงมูรธาภิเศก เป็นขั้นตอนเตรียมการก่อนพระราชพิธีฯ) ซึ่งการจุดเทียนชัยในพระราชพิธีฯนั้นจะแตกต่างออกไปจากปกติ ที่จะมีข้าราชบริพารจุดเทียนและนำถวายแก่พระมหากษัตริย์ แต่ในพระราชพิธีฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่จะอภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ จะทรงจุดเทียนชัยด้วยพระองค์เอง แต่มิใช่การใช้ไม้ขีดตามพระราชพิธีอื่นๆ จะมีการใช้ “ไฟฟ้า” ในการจุด ซึ่งคำว่า “ไฟฟ้า” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงกระแสไฟที่สร้างแสงสว่าง(Electricity) แต่หมายถึง “ไฟจากฟ้า” หรือ แสงจากพระอาทิตย์ แล้วจึงทรงนำเทียนเล่มดังกล่าวที่จุดติดแล้ว ให้กับสมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้จุดเทียนชัยในการเริ่มพระราชพิธีฯ

ซึ่งการจุดไฟจากแสงอาทิตย์เป็นการแสดงความหมายว่า พระมหากษัตริย์ มีเชื้อสายสุริยวงศ์ หรือ สืบเชื้อสายจากพระอาทิตย์ ซึ่งอาจตีความในแง่พระบรมเดชานุภาพอันยิ่งใหญ่ของพระมหากษัตริย์เทียบเท่ากับดวงอาทิตย์

ขณะที่บทสวดที่พระสงฆ์จะใช้ในพระราชพิธีฯ ก็จะมีใจความสำคัญ ในการอัญเชิญและเรียกเหล่าเทวดาและเทพทั้งหลายเข้ามาร่วมในพิธี และเพื่อปัดเป่าภยันตรายออกไป ซึ่งในบทสวดในพระรชาพิธีจะมีภาษาในบทสวดด้วยซึ่งในส่วนภาษาไทยนั้นจะใช้เพื่อเป็นการแจ้งให้พระสงฆ์ในพิธีอยู่ในความสำรวม แล้วจึงสวดเป็นภาษาบาลีเพื่อเป็นการสื่อสารกับเทพและเทวดาในพิธีฯ ใจความโดยสรุปส่วนใหญ่จะกล่าวถึงความเมตตา เพื่อเป็นการบอกกล่าวกับผู้ฟังว่า เมื่อมีเมตตาความคุ้มครองจะมาเอง

ขณะที่อีกหนึ่งหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ตามความเชื่อโบราณ คือ เป็นผู้ปกปักษ์รักษาแผ่นดินให้อุดมสมบรูณ์ ฝนตกถูกต้องตามฤดูกาล ดังนั้น ในบทสวดหลายๆ บทต่อมาจึงมีการพูดถึงการทำให้ประชาชนมีอาหารกิน อยู่ดีมีสุข เพราะถ้าหากประชาชนไม่มีกิน ก็จะอดตาม และเมื่ออดตาย เหล่าอมนุษย์หรือผีก็จะเข้ามาอยู่อาศัยแทนที่มนุษย์ แล้วความวุ่นวายจะบังเกิด ดังนั้นหากพระมหากษัตริย์จึงมีหน้าที่ปกป้องประชาชนให้อยู่ดีมีสุข

ช่วง 12 ปี ก่อนพุทธกาล มีเรื่องราวเกิดขึ้นทั้งบนโลกเทวดาและบนสวรรค์ คือ ข้อสงสัยที่ว่า “ความมงคลคืออะไร ?” โดยเทวดาทั้งปวงรู้ว่าในอีกไม่กี่ปี พระพุทธเจ้าจะประสูติ ดังนั้นคำถามนี้จึงถูกนำไปถามพระพุทธเจ้า เช่นกัน และเหล่าเทวดาและมวลมนุษย์ก็ได้คำตอบจากพระพุทธเจ้าว่าความมงคลคืออะไร จึงเป็นที่มาของ “มงคล 38 ประการ” และบทสวดนี้ก็ถูกนำเข้าไปใช้ในพระราชพิธีด้วยเช่นกัน

นอกเหนือจากความเมตตาในบทสวดแล้ว ยังมีการพูดถึงการรู้เขา รู้เรา , การลดการรัก โลภ โกรธ หลง ด้วยการนึกถึงพระรัตนตรัย และ ความยุติธรรมเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพรักของประชาชน ไม่นำอคติส่วนตนเข้ามาตัดสินเรื่องต่างๆ และเมื่อเสร็จสิ้นพิธีจะมีบทสวดที่จะอัญเชิญเหล่าเทพเทวดาที่มารวมตัวกันในพิธีฯ กลับสู่สวรรค์ชั้นต่างๆ

ผศ.ดร.ชัชพล กล่าวสรุปว่า พระราชพิธีราชาภิเษก ไม่ใช่เรื่องล้าหลัง แต่เป็นสิ่งที่จะให้เรารู้ถึงแหล่งกำเนิดที่แท้จริงของวัฒนธรรม วิถีชีวิตของเรา สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดความทราบซึ้งและรู้ว่าเรามีดีอะไร แล้วความดีเหล่านั้น จะนำพาเราไปสู่ความถูกต้องที่จะทำหน้าที่ของประชาชนได้อย่างดี

อ่าน : กำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 6 พ.ค. เป็นวันหยุด

ขณะที่เสียงดนตรีก็เป็นหนึ่งสิ่งที่เข้ามามีส่วนสำคัญในพระราชพิธีต่างๆ ผศ.ดร.ภัทระ คมขำ ระบุว่า ในอดีตพิธีต่างๆ ของพราหมณ์และฮินดูจะสมบูรณ์ไม่ได้หากขาดดนตรีเข้ามาประกอบ และประเทศไทยก็ได้นำเอาวัฒนธรรมเหล่านี้เข้ามา ซึ่งเครื่องดนตรีในพระราชพิธีก็จะสื่อถึงพระราชอิสริยยศของเจ้านายองค์นั้นๆ ด้วย

ซึ่งเครื่องดนตรีที่เราจะเห็นได้ในพระราชพิธีครั้งนี้คือ กลองมโหระทึก ซึ่งกลองนี้มีการใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งในราชสำนักมีทั้งหมด 4 ตัว และถูกเก็บรักษาไว้เพื่อให้คงไว้ซึ่งเสียงเดิมที่หมายถึงเสียงของ ฝน , ฟ้าร้อง และน้ำตก ซึ่งมีความเชื่อว่าเมื่อ กลองมโหระทึกนี้ถูกตีแล้วจะทำให้ประเทศเกิดความอุดมสมบูรณ์ และกลองมโหระทึกนี้จะถูกใช้ในพระราชพิธีที่พระมหากษัตริย์เสด็จฯ เท่านั้น

ขณะที่เครื่องดนตรีอีกชิ้นที่มีความสำคัญในพระราชพิธีคือ แตรฝรั่ง ถึงแม้ว่าจะมีชื่อแตรฝรั่ง แต่มิได้มีลักษณะเหมือนกับเครื่องดนตรีสากลชนิดใดเลย และมีวิธีการเป่าที่แต่ต่างจาก ทรัมเป็ต หรือ ทรอมโบน อย่างสิ้นเชิง โดยแตรฝรั่งจะมีการใช้ลิ้นและริมฝีปากในการเล่นเป็นเสียงต่างๆ ซึ่งแตรฝรั่งนี้ สื่อความหมายถึง เสียงของช้างเจ้าป่า

ซึ่งในพระราชพิธียังมี แตรงอน และ สังข์ (มีสรรพนามเป็น “ของ”) ซึ่งจะต้องมีเปลือกหนา และไม่สามารถหาได้ตามชายหาด แต่จะต้องเป็นสังข์จากมหาสมุทรลึก ถึงจะมีลักษณ์ของเปลือกที่แข็งใช้งานได้โดยมีความหมายถึงเสียงของสวรรค์

และอีกหนึ่งเครื่องดนตรีที่ขาดไม่ได้คือ ฆ้องชัย ซึ่งมีความหมายว่าจะโชคดีมีชัย ถ้าเป็นฆ้องชัยสีดำจะหมายถึงพระราชพิธีทั่วไป หากแต่เป็นฆ้องสีแดงจะหมายถึงงานพระราชพิธีนั้น พระมหากษัตริย์จะทรงเสด็จมาในพิธีนั้นเช่นกัน โดยกรมมหรสพ ซึ่งภายหลังถูกเปลี่ยนมาเป็นกรมศิลปากร ยังคงยึดหลักธรรมเนียมเดิมมาตั้งแต่ในอดีต

นอกจากการบรรยายพิเศษแล้ว ยังมีการจัดนิทรรศการเรื่อง “จุฬาฯ ประณตทศมหาราช” ที่ หอประชุมจุฬาฯ และจะนำไปจัดแสดงที่ศาลาพระเกี้ยว ระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 8 พฤษภาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. โดยเป็นเนื้อหาในนิทรรศการเป็นการนำเสนอพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่เสด็จฯ มาทรงร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จุฬาฯ และการทูลเกล้าฯ ถวายปริญญากิตติมศักดิ์ในสาขาต่างๆ

อ่าน : การเดินทาง-จุดจอดรถ ให้บริการพี่น้องประชาชน ในงานพระราชพิธี

อ่าน : ระวัง เข็มที่ระลึกงานพระราชพิธีฯ ปลอม

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ

นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ

ผู้ประกาศข่าว รายการ 77 ข่าวเด็ด ช่อง FIVE Channel HD / ผู้สื่อข่าว การเมืองและสังคม เว็บไซต์ 77ข่าวเด็ด และผู้สื่อข่าวออนไลน์ BrickinfoTV.com