X

Saint Young Men การ์ตูนบนบริบทของศาสนาพุทธที่แตกต่างของญี่ปุ่น

เมื่อบริบททางศาสนาที่แตกต่างกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ทำให้วัฒนธรรมต่างๆและแนวคิดต่างๆแตกต่างออกไป ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่เป็นปัญหาคือ การ์ตูนเรื่อง saint-young men ที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศไทย


(18 เม.ย. 62)สาขาวิชาภาษาเอเชียใต้ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาในหัวข้อ “ศาสดา(ไม่)ลาพักร้อนที่ไทย” จากประเด็นปัญหาจาก มังงะและภาพยนตร์ชื่อดังของญี่ปุ่น เรื่อง “Saint Young Men” 『聖☆おにいさん』 โดย อาจารย์ ดร. สรัญญา ชูโชติแก้ว อาจารย์ประจำสาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ ดำเนินรายการโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชานป์วิชช์ ทัดแก้ว ที่ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดยการ์ตูนเรื่อง saint-young men เป็นเรื่องเกี่ยวกับ ศาสดาของ 2 ศาสนา นั่นคือ ศาสนาพุทธและคริสต์ ลงมาลาพักร้อนในกรุงโตเกียวประเทศญี่ปุ่น และมีการนำมุขตลกเข้ามาใส่ในเรื่อง โดยแต่ละมุขจะมีความเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติมากในระดับหนึ่ง

คำถามหนึ่งที่ถูกตั้งไว้ในการเสวนาครั้งนี้ คือ “เรื่องนี้ทำไมถึงไม่เป็นปัญหาในญี่ปุ่นแต่เป็นปัญหาในไทย ?”

ต้องเริ่มจากย้อนกลับไปมองบริบททางศาสนาของญี่ปุ่น

โดยเรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปยังเส้นทางของศาสนาพุทธในประเทศญี่ปุ่นก่อน การเผยแพร่ศาสนาพุทธในญี่ปุ่น ได้รับอิทธิพลมาจากคาบสมุทรเกาหลี ช่วงศตวรรษ ที่ 6 โดยเดิมญี่ปุ่นนับถือลัทธิชินโต คือการนับถือเทพเจ้า เช่น การนัลถือภูเขาทั้งลูก เมื่อศาสนาพุทธเข้ามาก็เริ่มมีความเป็นระบบมากขึ้นโดยมีการสร้างศาลเจ้า วัด และรูปบูชาต่างๆ ต่อมาในช่วงศตวรรษ ที่ 8 มีการผสมผสานวัฒนธรรม เป็นความเชื่อว่าเทพเจ้าทั้งหลายของลัทธิชินโต เป็นผู้ปกป้องศาสนาพุทธ ซึ่ง ทำให้วัดบางวัดในประเทศญี่ปุ่นมีเทพเจ้าคอยปกปักษ์รักษาวัด และมีการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม ศาสนาเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

ขณะที่ข้อแตกต่างระหว่างวัดและศาลเจ้าของญี่ปุ่นจะมีความแตกต่างกัน โดยศาลเจ้าของญี่ปุ่นจะมีซุ้มประตูหนึ่งที่เป็นสัญญาลักษณ์ว่าเป็นศาลเจ้า ซึ่งบางแห่งก็มีความคล้ายคลึงกัน เช่น ศาลเจ้าที่มีพระประจำศาลเจ้า

 

การเมืองและศาสนาเป็นสิ่งคู่กัน

ซึ่งสำหรับศาสนาพุทธก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการปกครองเช่นกันในช่วงยุค เอโดะ(ค.ศ.1603-1868) มีการเข้ามาของมิชชันนารี นอกจากมิชชันนารีจะเข้ามาเผยแพร่ศาสนาแล้ว จะมีการนำสินค้าเข้ามาขายด้วย ดังนั้นจึงเกิดข้อบังคับว่า ไดเมียว(เจ้าเมือง) ต่างๆจะทำการค้าขายก็ต้องรับศาสนาคริสต์เข้ามาในเมืองและเปลี่ยนศาสนา ดังนั้นโชกุนโทกูงาว่า ผู้ปกครองประเทศในยุคนั้นกลัวว่าศาสนาคริสต์จะเข้ามาครอบงำและสร้างปัญหาในการปกครอง จึงมีการสั่งห้ามนับถือศาสนาคริสต์และขับไล่มิชชันนารีในยุคนั้น และมีการสั่งให้เจ้าเมืองในยุคนั้น ส่งภรรยาและบุตร มาที่เมืองหลวงเพื่อป้องกันการกบฏ โดยในเมืองหลวงมีหลายสิ่งที่ห้ามนำออกจากเมืองหลวง หนึ่งในนั้นคือ เด็กผู้หญิง ดังนั้นการที่ภรรยาและบุตรสาวของเจ้าเมืองจะออกจากเมืองได้คือการแสวงบุญ หรือเจ้าเมืองคิดการกบฏ ดังนั้นคนที่จะออกจากเมืองหลวงได้ จะต้องมีการลงทะเบียนกับวัดและวัดจะออกหนังสือเดินทาง เพื่อให้ออกไปแสวงบุญนอกเมืองหลวง หนึ่งในช่วงกีดกันศาสนาของญี่ปุ่นมีการพิสูจน์ความเป็นพุทธศาสนิกชินโดยการให้เหยียบหินหรือรูปสลักพระเยซูคริสต์ด้วย

ขณะที่ช่วงปลายยุคเอโดะ ต้นยุคเมจิ มีการปฏิวัติศาสนาขึ้น ทำให้พระสามารถมีภรรยาและดื่มสุราได้จนมาถึงปัจจุบัน ซึ่งกฏหมายของญี่ปุ่นบังคับให้รัฐบาลห้ามสนับสนุนศาสนาใดศาสนาหนึ่ง ดังนั้นจึงทำให้วัดในยุคต่อมาจำเป็นต้องมีการสร้างรายได้ขึ้น หากสังเกตวัดหรือศาลเจ้าในญี่ปุ่นจะมีการสร้างของที่ระลึกและเครื่องรางต่างๆ เก็บค่าที่จอดรถ-ค่าเข้า เพื่อสร้างรายได้ให้กับวัด เพื่อให้วัดอยู่รอด

หนึ่งในการปรับตัวคือการนำเกมเข้ามาในวัดเพื่อทำให้คนเข้าใจถึงศาสนามากยิ่งขึ้น เช่น เกมกระดานในการบริหารวัด รูปแบบจะคล้ายๆกับเกมเศรษฐี เป้าหมายของเกมคือ ใครมีพระลูกวัดมากกว่ากัน

ขณะที่หนึ่งในวัฒนธรรมที่เป็นที่รู้จักของประเทศญี่ปุ่น คือศิลปินไอดอล อย่างวงพี่ของ BNK48 นั่นคือ AKB48 ที่มีการซื้อบัตรจับมือ และ บัตรถ่ายรูปคู่ด้วยโพรารอย(การเชกิ) ศาสนาพุทธในประเทศญี่ปุ่น ก็มีการนำวัฒนธรรมนี้มาปรับใช้กับวัดเช่นกัน ดังนั้นเราจะเห็นว่าประเทศญี่ปุ่นจะมีการถ่ายรูปคู่กับพระในราคา 500 เยน การซื้อบัตรจับมือกับพระในราคา 300 เยน เป็นต้น

https://youtu.be/1bTeKR1cQvc

รวมถึงมีการนำหุ่นยนต์เข้ามาสวดมนต์ในงานศพด้วย เพราะงานศพในประเทศญี่ปุ่นมีค่าจัดงานศพที่สูงมากๆ รวมถึงในประเทศญี่ปุ่นก็มีการแก้กรรมและสร้างบารมีในชีวิตที่ล่วงลับไปแล้วเช่นกัน โดยการการสลักชื่อที่สำคัญลงในป้ายชื่อหน้าหลุมศพ ราคาตั้งแต่หลักหมื่นจนไปถึงหลักแสน ในบางที่เชื่อว่า ยิ่งจ่ายมาก ยิ่งขึ้นสวรรค์ชั้นสูงๆ แต่สำหรับผู้ไม่ศรัทธาก็ไม่มีการบังคับ

“กันดั้ม” ก็พูดถึงศาสนาอยู่บ่อยครั้งและพระสายไอดอล ?

หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ร่วมพูดคุยกับวิทยากร ถึงความเกี่ยวข้องระหว่างวัฒนธรรมและศาสนาในประเทศญี่ปุ่น ที่มีการนำศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องในภาพยนตร์การ์ตูนเรื่อง “กันดั้ม” โดยมีตัวละครพยามเข้าไปหาทางพ้นทุกข์ในทิเบตและทวีปต่างๆ รวมถึงมีการสร้างลัทธิการส่งพลังงานความแข็งแกร่งในโลก ซึ่งหนึ่งในข้อห้ามของลัทธิในเรื่องนั้น คือห้ามทำอะไรที่เกินกว่าศาสนากำหนด และนอกจากการซื้อบัตรจับมือพระแล้ว ยังมีพระที่เป็น DJ และนำพระธรรมคำสอนมาทำเป็นเพลงแร็พและเพลงแนว Electronic Dance Music(EDM) รวมถึงมีการปล่อยโหลดให้ฟังในแอพพลิเคชัน Music Streaming อีกด้วย นั่นแสดงให้เห็นว่า ในประเทศญี่ปุ่น มีความเห็นทางศาสนาที่แตกต่างออกไป

หรือแม้กระทั่งพระที่เป็นช่างแต่งหน้า และผู้ที่รับช่วงต่อการเป็นเจ้าอาวาสต่อจากบิดา ก็ต้องจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยสูงๆ ก็จะสร้างความศรัทธาให้กับพุทธศาสนิกชนได้มาก พระที่ญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีวิศัยทัศน์ที่แตกต่างจากไทย มีความสนใจเหมือนบุคคลทั่วๆไป ไม่เคร่งในคำบาลี หรือ สันสกฤตมากนัก

ในประเทศญี่ปุ่น พระมีการเปิดบาร์ต่างๆเพื่อแทรกซึมพุทธศาสนาลงไปในการเข้าไปใช้บริการด้วย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาที่เคยไปใช้บริการ บาร์ดังกล่าว ระบุว่า มีการแทรกซึมคำสอนลงมาในการใช้บริการจริง เช่น การสวนมนต์ก่อนดื่มสุรา

เว็บไซต์ข่าวของญี่ปุ่นแห่งหนึ่งระบุว่า ผู้เขียน Hikaru Nakamura ก็ยังคงเป็นพุทธศาสนิกชน เหมือนคนญี่ปุ่นทั่วไป และเดิมทีไม่ได้ต้องการให้การ์ตูนเรื่องนี้เผยแพร่ออกไปในประเทศอื่นๆ เพราะรู้ว่าประเทศอื่นก็ไม่ได้มีวิถีชีวิตแล้วัฒนธรรมแบบญี่ปุ่น โดยผลสำรวจชาวญี่ปุ่นโดย กระทรวงวัฒนธรรม ญี่ปุ่น พบว่า นับถือศาสนาพุทธถึงร้อยละ 78

ถ้าหากเราไปถามชาวญี่ปุ่นว่านับถือศาสนาอะไร ? คนญี่ปุ่นจะตอบว่า ไม่นับถือศาสนา

เมื่อพูดถึงศาสนาในประเทศญี่ปุ่น คนญี่ปุ่นจะนึกถึงลัทธิที่สุดโต่งทางความคิด ไม่ได้นึกถึง ศาสนาพุทธหรือคริสต์แบบประเทศไทย ดังนั้นจึงเป็นที่มาของคำตอบของคนญี่ปุ่นเมื่อถามว่า “คุณนับถืออะไร ?” เขาจะตอบว่า “ฉันไม่ได้นับถือศาสนาอะไร” เพราะกลัวว่าจะถูกชวนเข้าลัทธิสุดโต่งต่างๆ ซึ่งหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้คนญี่ปุ่นกลัวคือ ลัทธิที่นำแก๊ซซารีนไปปล่อนในช่วงเวลาเร่งด้วนที่สถานีรถไฟที่ญี่ปุ่น ช่วงปี 1990

หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาซึ่งนับถือศาสนาคริสต์ มองว่า ฝั่งคริสต์มีปัญหากับเรื่องนี้น้อยกว่าฝั่งพุทธ เพราะมองว่า ศาสนาคริสต์เองก็มีรูปแบบการจัดการองค์กรทางพระพุทธศาสนาที่คล้ายคลึงกับวัดในญี่ปุ่นที่มีลักษณะขององค์กร ต้องหารายได้เพื่อให้โบสถ์อยู่รอด และวิศัยทัศน์ต่างๆที่ทำให้ผู้นับถือศาสนาคริสต์มองแตกต่างออกไป

ไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนเรื่องราวให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังสอดแทรกการส่งเสริมการท่องเที่ยว

ขณะที่ในการ์ตูน Saint Young Men มีการใช้ในการโปรโมทสถานที่ท่องเที่ยวและร้านค้าต่างๆ เช่นการตามรอยร้านค้าต่างๆในการ์ตูนเรื่องนี้ ที่มีอยู่จริง ก่อนหน้านี้ เคยมีภาพวงดนตรีญี่ปุ่นใส่จีวร ขึ้นแสดงดนตรีจนเกิดเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม จึงทำให้เห็นถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของไทยและญี่ปุ่น ซึ่งสำหรับในประเทศญี่ปุ่นคำว่า พระพุทธเจ้า ไม่ได้หมายความถึง เจ้าชายสิทธะ อย่างเดียว แต่หมายความถึง ดวงวิญญาณที่ไปสู่สุขติด้วย ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นถือว่าพระพุทธรูปในญี่ปุ่นถูกมองว่าเป็นศิลปะด้วย ดังนั้น จะมีของที่ระลึกต่างๆมากมาย อาหาร ฝาท่อน้ำ และสิ่งของอื่นๆที่มีรูปพระพุทธเจ้าอยู่ในสิ่งของนั้นๆ

โดยหากมองถึงแก่นสารของเรื่องนี้จริงๆ ผู้เขียนมีการศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นอย่างดี เช่น ในการ์ตูนดังกล่าวมีการนำพระเกษาของพระพุทธเจ้ามาเล่นอย่างเปิดเผย ทั้งการที่พระเยซูสอบถามพระพุทธเจ้าว่า “จะเข้าร้านตัดผมทำไม ?” หรืออีกฉากหนึ่งของเรื่องคือฉากที่พระพุทธเจ้าบรรทม เป็นกริยาเดียวกันกับทรงเสด็จปรินิพพาน และพระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “เรายังไม่ได้สวรรคต” หรือแม้กระทั่งฉากที่ พระเยซูไปว่ายน้ำกับพระพุทธเจ้า พระเยซูว่ายน้ำไม่ได้ แต่แหวกน้ำได้

อย่างไรก็ตามสิ่งเหล่านี้ คือ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่แตกต่างระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นจึงยังคงทำให้เรื่องการมองพระพุทธศาสนาและการนับถือศาสนาในประเทศยังคงมีความแตกต่างกัน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ

นพฤทธิ์ กมลสุวรรณ

ผู้ประกาศข่าว รายการ 77 ข่าวเด็ด ช่อง FIVE Channel HD / ผู้สื่อข่าว การเมืองและสังคม เว็บไซต์ 77ข่าวเด็ด และผู้สื่อข่าวออนไลน์ BrickinfoTV.com