X
ปลาซิวข้างขวาน,ปลาสวยงาม,ปล่อยปลา,ประมงจังหวัดตรัง,ศูนย์เพาะปลาน้ำจืด,

ตรัง ปล่อยปลาซิวข้างขวานที่ได้จากการเพาะโดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติเป็นผลสำเร็จ

ตรัง ปล่อยปลาซิวข้างขวานที่ได้จากการเพาะโดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติเป็นผลสำเร็จ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง เผยรวบรวมพันธุ์ปลาซิวข้างขวานเล็กจากธรรมชาติมาเพาะพันธุ์โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติได้ลูกปลาประมาณ 1,000 ตัว ปล่อยลงน้ำตกโตนน้อย

ปลาซิวข้างขวาน : วันที่ 10 มีนาคม 2566 ที่ น้ำตกโตนน้อย ตั้งอยู่ในสวนพฤกษศาสตร์เขาช่อง หมู่ที่ 7 ตำบลช่อง อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง นางสุวรรณดี ขวัญเมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง ร่วมกับนายอดุลย์ หมื่นลึก นายอำเภอนาโยง, นายณัฐรัฐ พรเดชอนันต์ ประมงจังหวัดตรัง,  นายประพจน์ สัตถาภรณ์ หัวหน้าสวนพฤษศาสตร์เขาช่อง, นายวิทยา ขุนสัน ประมงอำเภอหาดสำราญ อบต.ช่อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  และประชาชนในพื้นที่

ร่วมกันปล่อยพันธุ์ปลาซิวข้างขวานเล็ก ปลาสุลต่าล และปลากระแห รวม 30,000 ตัว  ซึ่งน้ำตกโตนน้อยเป็นน้ำตกที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ของสวนพฤษศาสตร์เขาช่องและเป็นป่าต้นน้ำที่เหมาะแก่การปล่อยปลาหายาก เพื่อให้มีการขยายพันธุ์ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่ง ปลาซิวข้างขวานเล็ก ชื่อวิทยาศาสตร์ Trigonostigma  espei (Kottelat &Witte,1990) ชื่อสามัญ  Harlequin  Rasbora

ปลาซิวข้างขวานเล็ก เป็นปลาขนาดเล็กที่ใกล้จะสูญพันธุ์ เพราะเป็นที่ได้รับความนิยมนำไปเลี้ยงในตู้และเป็นที่ต้องการของตลาดปลาสวยงามทั้งในและต่างประเทศชาวบ้านจึงมักจะหาไปจำหน่ายให้กับพ่อค้าปลาสวยงามเป็นจำนวนมาก ในราคาตัวละ 3-5 บาทและมีการนำไปจำหน่ายต่อในราคา 10-20 บาท/ตัว

ปลาซิวข้างขวานเล็ก มีลักษณะทั่วไป เป็นปลาที่มีขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 2 – 3 ซม. มีลำตัวแบนข้าง ลำตัวสีน้ำเงินอมส้ม ท้องสีขาวเงิน ครีบสีเหลืองส้ม เกล็ดขนาดเล็ก ตากลมสีดำรอบนอกสีขาว มีแถบสีดำคล้ายขวานข้างลำตัวทั้งสองข้าง กลางลำตัวพาดทับเส้นข้างลำตัวตั้งแต่บริเวณด้านหน้าของครีบหลังถึงฐานครีบหาง ครีบหางสีเหลืองส้มลักษณะหยักเว้าลึก

ซึ่งจะพบแพร่กระจายตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ในประเทศไทยพบได้มากที่จังหวัดตรัง บริเวณแหล่งน้ำ ลำคลอง น้ำตก หรือป่าพรุ  เจริญเติบโตในแหล่งน้ำนิ่ง และน้ำไหล ชอบอยู่บริเวณที่มีพรรณไม้น้ำ เช่น สาหร่ายหางกระรอก สาหร่ายฉัตร สาหร่ายข้าวเหนียว ต้นสันตะวาใบพาย ต้นคล้า ต้นสาคู  หญ้าปล้อง ในจังหวัดตรังพบมากบริเวณเขตน้ำตก ลำคลองต่างๆ เป็นปลาที่กินพืชและสัตว์เป็นอาหาร เช่น ตัวอ่อนแมลงเล็กๆ และพืชน้ำ รวมทั้งแพลงค์ตอนต่างๆ

นางสุวรรณดี ขวัญเมือง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง กล่าวว่า ปลาซิวข้างขวานเล็ก จัดเป็นปลาสวยงามที่มีค่าทางเศรษฐกิจสูง  จากการสำรวจการทำการประมง ปลาซิวข้างขวานเล็ก ในจังหวัดตรัง พบว่ามีชาวประมงจับ เพื่อนำไปขาย เลี้ยงเป็นปลาสวยงามในราคา ตัวละ 3-5 บาท ทำให้ปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติลดน้อยลงอย่างมาก

ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดตรัง จึงได้รวบรวมพันธุ์ปลาซิวข้างขวานเล็กจากธรรมชาติมาเพาะพันธุ์ โดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติ จนได้ลูกปลาประมาณ 1,000 ตัว วันนี้จึงได้นำพันธุ์ปลาซิวข้างขวานเล็กขนาดประมาณ 2 ซม. มาปล่อย ร่วมกับปลาสุลต่าล และ ปลากระแห จำนวน 30,000 ตัว  เพื่อเป็นการอนุรักษ์และให้ปลาซิวข้างขวานเล็กได้ขยายพันธุ์ สืบพันธุ์เพิ่มปริมาณมากขึ้นในอนาคตต่อไป.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน