X
รมต.เกษตรฯ,โครงการระบบระบายน้ำ,แม่น้ำตรัง, ปฎิรูปที่ดิน,สปก,4-01,

รมต.เกษตรฯ ติดตามโครงการระบายน้ำน้ำแม่น้ำตรัง และมอบส.ป.ก 4-01

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และคณะ ติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง พร้อมมอบหนังสืออนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์เขตปฎิรูปที่ดิน 10 รายและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำนับล้านตัวลงสู่แม่น้ำตรัง พร้อมเผยมั่นใจแม้โครงการจะก่อสร้างได้ประมาณ 60 % แต่มวลน้ำจะไม่ท่วมจ.ตรังมากเหมือนที่ผ่านมา

รมต.เกษตรฯ : วันนี้(15 ต.ค.64) เวลา 10.20 น. นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมคณะ ติดตามความก้าวหน้าโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรังในพื้นที่ตำบลบางรัก อ.เมือง จ.ตรัง หลังจากที่จ.ตรังเกิดอุทกภัยขึ้นเป็นประจำทุกปี บางปี 2-3 ครั้ง ซึ่งได้สร้างความเสียหายแก่บ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชนเป็นวงกว้าง จึงมีการขยายคลองระบายน้ำสายใหม่

โดยให้กรมชลประทานดำเนินการในวงเงิน 1,482.50 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี(2559-2564) ซึ่งเป็นการยกเลิกสัญญากับผู้รับเหมารายเก่า เนื่องจากงานล่าช้าและขาดประสิทธิภาพ ซึ่งหากแล้วเสร็จก็จะสามารถผันน้ำส่วนเกินลงสู่ประตูระบายน้ำได้ 2 แห่งคือที่ตำบลหนองตรุดและที่ตำบลบางรัก อ.เมืองตรัง ซึ่งจะสามารถระบายน้ำได้ 750 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที

ทำให้พื้นที่ตำบลหนองตรุด,ตำบลบางรักและตำบลนาโต๊ะหมิง อ.เมืองตรัง เนื้อที่ 10,525 ไร่ ซึ่งเป็นที่ลุ่มต่ำและอยู่ติดกับแม่น้ำตรัง สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำตรังได้อย่างรวดเร็ว ไม่ก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังในปริมาณมากเหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรและการอุปโภคในช่วงหน้าแล้งได้อีกทางหนึ่งด้วย

โอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มอบหนังสืออนุญาตให้เกษตรกรเข้าทำประโยชน์ในเขตปฎิรูปที่ดิน (ส.ป.ก 4-01) จำนวน 10 ราย และปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำนวน 1,205,000 ตัว ได้แก่ ปลากระแห(ปลาลำปำ) 50,000 ตัว ปลาสร้อยลูกกล้วยจำนวน 50,000 ตัว ปลาซิวควายจำนวน 5,000 ตัวและปลาบ้าจำนวน 1 ล้านตัว ก่อนเดินทางไปติดตามความคืบหน้าการก่อสร้างอาคารบังคับน้ำที่ตำบลในควน อ.ย่านตาขาว จ.ตรัง จากนั้นจึงเดินทางต่อไปยังจ.พัทลุง

โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มั่นใจว่าโครงการดังกล่าวไม่ได้เป็นการมาหยอดยาหอมให้กับชาวจ.ตรัง ส่วนเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากบริษัทรับเหมาก่อสร้างไม่เสร็จตามสัญญาจึงมีการยกเลิกสัญญา และให้กรมชลประทานมาดำเนินการเอง และเชื่อว่าในปี 2565 โครงการนี้จะเสร็จสมบูรณ์ และมั่นใจว่าจะสามารถระบายน้ำที่ท่วมทุกปีออกไปได้ และยังเป็นที่เก็บน้ำได้อีก 3 ล้านลูกบาศก์เมตรเพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ซึ่งโครงการตอนนี้แล้วเสร็จไปประมาณ 60 % แล้ว

โดยเชื่อว่าเมื่อพายุเข้าสู่ภาคเหนือและภาคอีสานไปแล้ว ก็จะถึงคิวของภาคกลางและภาคใต้ แม้โครงการจะไม่เสร็จ 100% แต่ในปี 63 สามารถระบายน้ำออกไปได้ทันและได้เพิ่มอุปกรณ์ทุกอย่างไว้ 100% สำหรับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าหากมีน้ำมาก ขอให้ประชาชนสบายใจ และหากจังหวัดหรือกรมชลประทานเตือนมีประกาศเตือนให้ระมัดระวัง ไม่ใช่ว่าน้ำท่วม แต่เป็นการเตือนให้ระวังเผื่อจะมีน้ำเอ่อล้นจะได้เก็บทรัพย์สินทัน ทำให้ไม่เสียหาย.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน