X
ชาวปากแจ่ม, หิ้วปิ่นโต,ทำบุญเลี้ยงพระ, เขาถ้ำแรด, สัมปทานบัตร,อารยธรรม,แหล่งประวัติศาสตร์,

ชาวปากแจ่มหิ้วปิ่นโตทำบุญเลี้ยงพระเขาถ้ำแรดหลังนายทุนถอนสัมปทานบัตร

ชาวปากแจ่ม ร่วมใจหิ้วปิ่นโตทำบุญเลี้ยงพระ เขาถ้ำแรด หลังนายทุนโรงโม่หินประกาศยอมขอถอนสัมปทานบัตร หลังชาวบ้านลุกขึ้นต่อสู้มานานแรมปี เพื่อรักษาไว้ซึ่งร่องรอยหลักฐานทางอารยธรรมแหล่งประวัติศาสตร์ให้คงอยู่

ชาวปากแจ่ม วันที่ 25 พฤศจิกายน 2562 ที่เขาถ้ำแรด ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ชาวบ้านปากแจ่ม “กลุ่มรักษ์เขาถ้ำแรด” ในพื้นที่หมู่  1 ,3 และข้างเคียงประมาณ 200 คน ได้นิมนต์พระสงฆ์มาพิธีสวดมนต์ทำบุญภูเขาหลังจากการต่อสู้กับนายทุนโรงโม่หินที่ยื่นขอสัมปทานบัตรแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างในพื้นที่ ได้ข้อยุติแล้ว เมื่อนายทุนผู้ประกอบการได้ทำหนังสือถึง นางพรทิพา อัครสุต อุตสาหกรรมจังหวัดตรัง ขอถอนสัมปทานบัตร

ซึ่งนายนรินทร์ เก่งธนทรัพย์ หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรงโม่ตรังภูทอง ตั้งอยู่เลขที่121-122 หมู่ 7 บ้านเขาเพดาน ต.นาเมืองเพชร อ.สิเกา จ.ตรัง ได้ทำหนังสือแจ้งอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง เรื่อง “ขอถอนสัมปทานบัตร” ตามที่  โรงโม่ตรังภูทอง ได้ยื่นเรื่องขอประทานบัตรแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ในพื้นที่ ต.ปากแจ่ม อ.ห้วยยอด จ.ตรัง

ซึ่งสำนักงานอุตสาหกรรม จ.ตรัง ได้รับจดทะเบียนไว้เป็นคำขอเลขที่ 1/2561 ลงวันที่ 6 ธ.ค.2561 บัดนี้ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะดำเนินการเรื่องขอสัมปทานบัตรในที่ดินรายนี้ต่อไป ข้าพเจ้าจึงขอถอนเรื่องขอสัมปทานบัตรตามคำขอนั้นเสีย นับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ย.2562 เป็นต้นไป

บรรยากาศบริเวณหน้าเขาถ้ำแรดวันนี้ เป็นไปอย่างชื่นมื่น  นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ มาร่วมทำบุญด้วย พร้อมกับผู้นำท้องที่ กำนันผู้ใหญ่บ้าน นายก อบต.ปากแจ่ม และ “กลุ่มรักษ์เขาถ้ำแรด” นำโดย นางละมุล โชติรัตน์ อายุ 72 ปี น.ส.กนกวลี แก้วจร อายุ 39 ปี แกนนำที่ยืนปักหลักต่อสู้มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขอให้ยกเลิกเพิกถอนประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรม เขตแหล่งแร่เขาควนเหมียง หรือเขาถ้ำแรด จนหลายงานต้องลงมาสำรวจในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

พบมีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์เป็นป่าชุมชนที่ชาวบ้านรักและหวงแหน เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่าคุ้มครองใกล้สูญพันธุ์จำนวนมาก เป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญในพื้นที่ มีบ้านเรือนและชุมชนอาศัยอยู่ มีการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชน หากอนุญาตให้มีการสัมปทานระเบิดหินจะกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวิถีชุมชนอย่างแน่นอน ทั้งแรงสั่นสะเทือนทำบ้านเรือนเสียหาย และปัญหาฝุ่นละออง

นางละมุล กล่าวด้วยว่า พวกเราขอร้องเรียนใช้สิทธิ์ตามหลักสิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน ขอให้ทางจังหวัดดำเนินการเพิกถอน “เขาควนเหมียง” ออกจากความเป็นแหล่งหินอุตสาหกรรมในประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดพื้นที่แหล่งหินอุตสาหกรรม ฉบับที่ 22 ลงวันที่ 3 มีนาคม 2547

และปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองอุตสาหกรรม ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ.2560-2564 ทั้งนี้พวกเราได้ลุกขึ้นต่อสู้มานานแรมปีเพื่ออนุรักษ์ และรักษาร่องรอยหลักฐานอารยธรรมแหล่งประวัติศาสตร์ที่นี่เอาไว้ให้คงอยู่สืบไป

สอบถามชาวบ้านในพื้นที่ เล่าว่า ในรัศมี 5-6 กม.แถบนี้ไล่มาตั้งแต่ถ้ำเขาโปร่ง เขาหลักจัน วัดภูเขาทอง เขาน้ำพราย ฯลฯ ในโถงถ้ำ-เพิงหินของพื้นที่เหล่านั้นล้วนเคยถูกขุดค้นพบโดยนักโบราณคดียืนยันหลักฐานว่าเคยมีมนุษย์ยุคร่วมสามพันปีอาศัยอยู่แถบนี้มาก่อน และล่าสุด 14 พ.ย.62 ชาวบ้านปากแจ่ม ได้พบหลักฐานสำคัญตรง “เขาถ้ำแรด”

โดยบังเอิญซึ่งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญได้ยืนยันว่าสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เจอมาในแถบนี้ทั้งโครงกระดูกและเครื่องมือเครื่องใช้ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่กล่าวอ้างได้ว่า “มนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์” ได้อาศัยอยู่แถบนี้มาก่อน ก่อนจะเปลี่ยนผ่านมาเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์เข้าสู่ยุค”ประวัติศาสตร์”ในเวลาต่อมา.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน