X

แบนสารเคมี แบนความตาย : หารู้ไม่ คนกรุงฯ คลุกสารเคมีพอๆ กับชาวนา

แบนสารเคมีทางการเกษตร 3 รายการ ทั้งพาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อ 22 ต.ค.2562 ที่ห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามส่งออก และมีไว้ในครอบครอง มีผลตั้งแต่ 1 ธ.ค.2562 เป็นต้นไป ไม่ต่างกับการเอาความตายออกจากแผ่นดินอาบสารเคมี ที่ทั้งชาวนา หรือคนเมืองหลวงก็ล้วนแต่คลุกสารพิษโดยตรงพอ ๆ กัน

ไม่ใช่เพียงแค่การเซฟชีวิตผู้ผลิตคือเกษตรกรที่ใช้สารเคมีและผู้บริโภคที่รับผลต่อเนื่องจากสารเคมีตกค้างเท่านั้น เพราะเจ้าฆาตรกรร้ายรายนี้ไม่ใช่จะคร่าชีวิตเฉพาะชาวไร่ ชาวนา ที่ได้รับสารทางตรงเท่านั้น ทุกหัวระแหงล้วนอันตรายเพราะใช้สารพวกนี้กันเกร่อจนเป็นเรื่องปกติ

คนในกทม.หรือตามตัวเมืองใหญ่ ที่นอกจากจะต้องสำลักกับฝุ่นควันพิษแล้ว ตามซอย ข้างถนน ทั้งกทม.หรือเทศบาลก็นิยมใช้ยาฆ่าหญ้าฉีดพ่นกำจัดวัชพืชข้างทาง โครงการก่อสร้างที่ต้องถมที่ดินเพื่อการก่อสร่างที่เป็นป่ากก ป่าธูปฤาษี ก็ฉีดพ่นยาฆ่าหญ้าส่งกลิ่นอบอวลไปทั่ว

ข้างทางหลวง ทางรถไฟ หรือแม้กระทั่งคลองชลประทาน จากที่เคยตัดหญ้า ก็หันมาเอาง่ายเข้าว่าฉีดยาฆ่าหญ้า ไม่เว้นแม้ในสนามกอล์ฟหลายที่ก็มักง่าย กำจัดหญ้าประเภทมีหัว หรือมีลำต้นใต้ดินด้วยสารเคมีฆ่าหญ้าพวกไกลโฟเซต ฆ่าแมลง ฆ่าปลวกให้กรีนสวยก็อัดพวกคลอร์โพริฟอส

เกษตรกรที่เดินตามท้องไร่ท้องนาที่ใช้สารเคมี คุณภาพชีวิตและความเสี่ยงก็หาได้แตกต่างกับบรรดานักกอล์ฟที่เดินย่ำในสนามโล่งๆ ที่เต็มไปด้วยสารเคมีรอบละครึ่งค่อนวัน

จึงแยกยากว่าคนในชนบทในภาคเกษตรกับคนในเมืองที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีอันตรายโดยตรงสัดส่วนไหนจะมากกว่ากัน ?

แน่นอนว่าทุกคนไม่ปฏิเสธว่าสารเคมีทางการเกษตรหลัก ๆ 3 ตัวนี้มีพิษร้ายแรง ทางออกจะด้วยเหตุผลทางธุรกิจ การลงทุน หรือความจำเป็นของเกษตรกรผู้ผลิตที่ยังจำเป็นต้องใช้ ทางออกโดยการจำกัดการใช้ แม้กระทั่งมติคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อ 14 ก.พ.2562 ก็สรุปว่าไม่แบนแต่ให้จำกัดการใช้ ต่อเนื่องให้อบรมการใช้สารเคมีให้ถูกวิธีกับเกษตรกร 4.5 แสนรายเพื่อรอมติทบทวนการแบนในอีก 2 ปีข้างหน้า

การจำกัดการใช้ หรือการอบรมการใช้ให้ถูกวิธีมันจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ในเมื่อผลกระทบไม่ได้เกิดเฉพาะผู้ใช้ แต่มันกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่จากสารตกค้าง

และที่สำคัญสารเคมีอันตราย มันกลายเป็นความชอบธรรม เมื่อหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือคนในเมืองก็ใช้กันทั่ว ทำไมชาวไร่ ชาวนาจะใช้ไม่ได้ ?

3 ตัวหลักที่ครองตลาดเคมีทางการเกษตรมานานกว่า 50 ปี ที่ช่วงแรกสารเคมีตราหัวกระโหลกไขว้ เกษตรกรจะไม่ค่อยกล้าใช้เท่าไหร่ จนผู้ประกอบการงัดกลยุทธ์การสร้างความน่าเชื่อถือโดยการให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนในการขาย จนตลาดเติบโตมีตัวแทนจำหน่ายแทบทุกอำเภอ ทุกตำบล ยอดขายหลายหมื่นล้านต่อปีในปัจจุบัน

“พาราควอต” ชื่อสามัญชาวบ้านไม่ค่อยรู้จัก ส่วนมากจะคุ้นชื่อ “กรัมม็อกโซน” ยาฆ่าหญ้าหน้าดินที่เพียงแค่ฉีดก็เหี่ยวแห้งตายแบบเฉียบพลัน

“ไกลโฟเซต” ส่วนมากจะรู้จักในนาม “ราวด์อัพ”ยาฆ่าหญ้าใบกว้าง หรือประเภทมีหัวหรือลำต้นใต้ดิน

เช่นเดียวกัน“คลอร์ไพริฟอส” ที่ฆ่าแมลงตายแบบเฉียบพลัน ที่ทางการค้าหรือยี่ห้อที่ได้รับความนิยมมานานก็มี “โพลิดอล” และ “แลนแนต”

ทั้ง 3 ชนิดยอดนิยมล้วนมีพิษเป็นอันตรายต่อทั้งชีวิตคน สัตว์ และพืชแบบเฉียบพลันทั้งนั้น แม้กระทั่งใครที่หาทางออกกับชีวิตไม่ได้ก็ยังนิยมฆ่าตัวตายด้วยการซดเจ้ามฤตยูเพียงแค่ช้อนชาเดียวก็จบชีวิตโดยเฉียบพลันได้เช่นกัน

 เมื่อห้ามผลิต ห้ามนำเข้า ห้ามขาย ห้ามใช้ ห้ามครอบครอง ตั้งแต่ 1 ธ.ค.2562 กับสารเคมี 3 ชนิด ทางออกของเกษตรกรจะทำอย่างไร ?

เกษตรกรจริง ๆ ไม่ต้องการใช้สารเคมีแต่ไม่มีทางเลือก เมื่อผู้บริโภคที่ก็มักเกลียดสารเคมีแต่ก็เน้นซื้อหาสินค้าที่เน้นรูปลักษณ์ภายนอกมากกว่าที่จะเลือกจากคุณภาพภายใน

ทางเลือกสำหรับผู้ที่ยังต้องการใช้สารเคมีทางการเกษตร ก็ยังมีสารอื่น ๆ ที่วางขายในท้องตลาดให้เลือกอีกกว่า 200 ชนิด

การใช้เครื่องจักรในการกำจัดวัชพืช เช่นเครื่องตัดหญ้า ก็เป็นทางออกที่ใช้กันเยอะทั้งสวนปาล์ม สวนยาง สวนกล้วย หรือนาข้าว ที่ประเมินต้นทุนแล้วก็ไม่ได้ต่างกับใช้สารเคมีฉีดพ่น แถมยังเป็นผลดีต่อดิน ต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

ที่สำคัญคือเครื่องจักรทางการเกษตรทุกวันนี้ราคาถูกกว่าเมื่อก่อน เช่นเครื่องตัดหญ้าที่ ราคา 7-8 พันบาท ตอนนี้แค่ 2 พันกว่ายังจัดส่งให้ถึงบ้าน และแทบทุกครัวเรือนเกษตกรก็มีเครื่องตัดหญ้าใช้กันแล้ว

ที่น่าเป็นห่วงก็บรรดาเกษตรกรนายจ้าง เกษตรกรพาร์ทไทม์ หรือเกษตรกรนาเช่า ที่ต้องทำเร็ว เสร็จเร็วต้องปรับตัวขนานใหญ่ 

เกษตรกรนายจ้าง หรือเกษตรกรวันหยุด ทำอะไรก็จ้าง จ้างฉีดยา ทั้งค่ายา ค่าแรงแพงเท่าไหร่ก็จ้างเพราะเสร็จเร็ว อันตรายระดับไหนไม่สนเพราะตัวเองไม่ได้เป็นคนฉีด คนรับจ้างฉีดรับไปเต็ม ๆ บางหมู่บ้านนาข้าวนับร้อยแปลง มีคนรับจ้างฉีดสารเคมี ที่ถือเป็นหน่วยกล้าตายประจำหมู่บ้านแค่ 3-4 คน ที่วิ่งรอกรับจ้างฉีดพ่น

ส่วนเกษตรกรนาเช่า ก็คุ้นเคยกับการใช้สารเคมีเพราะต้องเสร็จเร็ว และไม่ผูกพันมุ่งเรื่องผลผลิตที่มันได้มาง่ายเข้าว่า

ชาวไร่ที่รุกป่าทำไร่ข้าวโพดนั่นสารเคมีเป็นทางเดียวที่ปลอดภัย เพราะต้องทำไร่แบบนินจาหากขืนทะเร่อทะร่าแบบทำไร่ทั่วไปก็เสี่ยงเจ้าหน้าที่ป่าไม้จับ เวลาน้อยนิดก็ต้องมาเร็ว ไปเร็วเร่งพ่นสารเคมีเป็นหลัก

วงวิชาการถกเรื่องงานวิจัยเรื่องพิษภัยของสารเคมีที่นำมาซึ่งความตาย แต่ก็มีบางส่วนโต้แย้ง ยื้อกันไปยื้อกันมา คนขายก็ขายไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านและทุกคนเห็นคือ “ความตาย”ของคนในบ้าน และเพื่อนบ้าน

บ้างขาเน่าเปื่อย ตัดแล้วตัดอีกจนสุดท้ายก็ไม่รอด คนป่วยเป็นมะเร็งกันดาดดื่น บางรายนอนตายโดยไม่ทราบสาเหตุเมื่อไม่มีอะไรยืนยันถึงสาเหตุบางหมู่บ้านก็โทษ “ผีปอบ” ระดมลงขันจ้างเกจิอาจารย์ขมังเวทย์มาทำพิธีไล่ผี

แต่ท้ายสุดก็ยังมีคนตาย บางหมู่บ้านแทบจะเป็นหมู่บ้านแม่ม่าย เพราะพ่อบ้านที่เป็นแรงงานหลักในไร่นาต้องจบชีวิต

การเอาความตายออกจากหมู่บ้าน ชุมชนในเบื้องต้นเป็นทางออกที่สมควรทำนานแล้ว

ทางออก ทางเลือกของเกษตรกรที่ไม่ต้องถึงขั้นโลกสวยมีเยอะแยะ อยู่ที่จะเลือกแบบไหนที่สมเหตุสมผลต่างหาก 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์