X
ขุดลอกแหล่งน้ำ

ชงเองกินเองซ้ำซาก ละเลงงบฯ แก้ภัยแล้ง

ภัยแล้งทุกปี สิ่งที่ไหลมาเทมาทุกครั้งจะเป็นงบประมาณมหาศาล ที่อ้างความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ปัญหาในภาวะวิกฤต แต่คนในวงการต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “ของหวานมาแล้ว”

เมื่อมองว่า “น้ำเป็นของเทวดา” การรับมือภัยแล้งส่วนใหญ่จึงไม่ต่างกับเทศกาลประจำปี นั่งคำนวณปริมาณน้ำในอ่าง นับจำนวนไร่นาเสียหาย แจกแจงจำนวนน้ำกี่ลิตรที่แจกจ่ายไป และสุดท้ายก็ไม่พ้นใช้เงินรายปีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

เม็ดเงินที่โถมทุ่มลงไปแก้ปัญหา จะเกิดมรรคผลขนาดไหน ตรงจุดบ้าง ไม่ตรงจุดบ้าง แต่ก็ได้ชื่อว่ามีความพยายามที่จะแก้ปัญหาแบบไม่ดูดาย แต่ที่ร้ายกว่านั้นภัยพิบัติจากคน “คอรัปชั่น “ ที่หากินกับความเดือดร้อนยังเกาะกินสังคม จนเป็นการวางรูปแบบการการแก้ปัญหาให้วนอยู่ในรูปแบบเดิม ๆ และทำแบบเดิม ๆ จนเกิดวังวน “แล้งซ้ำซาก”

งบฯ แก้ภัยแล้งจึงถูกเรียกกันว่า “งบฯ ของหวาน”

แล้งปีนี้ในทันทีกลางหน้าฝน ครม.อนุมัติทันที ใช้งบฯกลาง 1,200 ล้านบาท ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.)ขุดลอกอ่างและแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อรองรับน้ำฝน 144 โครงการ

ไม่รวมงบฯ ที่แต่ละหน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ที่สามารถจัดการโดยเร่งด่วนได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้ายวิธีการเกี่ยวกับการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะประโยชน์ที่ตื้นเขิน พ.ศ.2547 ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนให้อำนาจนายอำเภอหรือ อปท.ดำเนินการจ้างเอกชนขุดลอกแหล่งน้ำได้เลย แล้วค่อยเสนอผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อ”รับทราบ”ภายใน 15 วันนับแต่วันว่าจ้าง

หน้าฝนปีนี้คงขุดลอกกันพรุนทั่วประเทศโดยอ้างแก้ปัญหาภัยแล้งโดยมิต้องสงสัย

ทำไมคนในวงการจึงเรียกงบฯ ก้อนนี้ว่า “ของหวาน”?

คุยกับ “บำรุง คะโยธา” อดีตนายกอบต.สายนาวัง อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ที่เคยถูกคนในวงการรับเหมา และนักการเมืองท้องถิ่นซุบซิบกันว่า “เจ้านี่โง่ ไม่รู้จักทำมาหากิน” ถึงได้เข้าใจว่า แท้จริงแล้วงบประมาณแก้ภัยแล้งโดยเฉพาะงบฯ ขุดลอกทำจริง ๆ ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ของวงเงิน ที่เหลือเป็นค่าเปอร์เซ็นต์ และผู้รับเหมาโกง

“งานขุดลอกเขาเรียกมันว่าของหวาน หน่วยงานที่รับผิดชอบชักแล้ว 30 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือผู้รับเหมาก็โกงคิวดินทำแบบลวกๆ สะเปะสะปะ ตามราคากลางที่แพงกว่าราคาท้องตลาดครึ่งต่อครึ่ง แล้วก็เบิกเงิน ไม่มีใครตรวจสอบได้ ปีหน้าแล้งอีกก็ตั้งงบฯ ขุดลอกอีก”

บำรุง บอกว่า ราคากลางของทางราชการที่ตั้งไว้สำหรับการขุดลอกดิน ลบม.ละ 30 กว่าบาท ขณะที่ราคาท้องตลาดทั่วไป อยู่ที่ประมาณ ไม่เกิน 25 บาท ทำให้ผู้หน่วยงานราชการ และผู้บริหารท้องถิ่นมักจะตั้งงบฯขุดลอกเพราะทำง่าย และชักเปอร์เซ็นต์คล่อง ที่สำคัญคือตรวจสอบยาก

“ผู้บริหารเป็นคนจัดจ้าง ลูกน้องเป็นกรรมการตรวจรับ ถ้ามีปัญหาร้องเรียนไปที่ป.ป.ท.หรือป.ป.ช.เป็นหมื่นเรื่องก็ไม่มีกำลังที่จะมาตรวจสอบ มันก็เหมือนของหวานที่ทำยังไงก็ได้ คนที่พลาดคือซวยจริง ๆ เท่านั้น”

บำรุง เล่าว่าช่วงที่เขาเป็นนายกอบต.ได้รับงบฯ ไทยเข้มแข็ง สมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ 2 ล้านบาท สร้างฝาย 2 แห่ง ไม่มีการชักเปอร์เซ็นต์ ปล่อยให้ผู้รับเหมาฟันงานกันเอง ทำให้มีเงินเหลือ 4 แสนบาท จึงปรึกษาผวจ.กาฬสินธุ์ว่าจะจัดการเงินที่เหลืออย่างไร สุดท้ายผู้ว่าฯ ให้กันเงินไว้แล้วเสนอโครงการมาเพิ่ม จึงสร้างฝายได้ 3 แห่ง

บำรุง เปรียบเทียบโครงการต่อโครงการ ระหว่างงานราชการ กับงานของมูลนิธิอุทกพัฒน์ ที่ทำโครงการภูมินิเวศน์ ในการขุดบ่อน้ำตามไร่นาทั่วประเทศ จะเห็นความแตกต่างกันมาก ที่โครงการฯ ให้ชาวบ้านเป็นผู้จัดจ้างตามแบบ และจ้างผู้รับเหมาเอกชนตามราคาท้องถิ่น และมีทีมตรวจสอบโครงการจาก ม.เกษตรศาสตร์ งานที่ออกมาจึงได้ตามสเปคและราคาถูกกว่าของทางราชการมาก

“งานราชการขนาดขุดลอกหน้าแล้งนอกจากถูกชัดเปอร์เซ็นต์ก็ยังตรวจรับกันมั่ว ๆ แค่ล้วง ๆ แล้วแต่งขอบก็จบ ยิ่งหน้าฝนยิ่งง่าย เพราะมีน้ำเต็ม สามารถอ้างเรื่องธรรมชาติจึงตรวจสอบยาก”

มื่อคิดที่จะเลิกมองว่า “น้ำเป็นของเทวดา “แต่มามองว่าน้ำเป็นของแม่แน่นอนเกษตรกรจึงต้องสร้างแหล่งน้ำไว้เป็นหลักประกันให้กับตัวเองเหมือนกับมีประกันชีวิตโดยการขุดสระน้ำให้มีน้ำไว้ใช้ยามจำเป็น

โดยประสบการณ์ผู้บริหารท้องถิ่นของ”บำรุง คะโยธา” บอกว่า ควรเลิกระบบราคากลางที่สูงเกินจริงจนจูงใจให้หน่วยงานราชการและท้องถิ่นทำโครงการเพื่อการคอรัปชั่นและไม่เกิดประโยชน์ โดยใช้ราคาท้องถิ่น และต้องตั้งระบบการตรวจสอบโครงการที่ไม่ใช่คนในหน่วยงานเดียวกันตรวจสอบกันเองเช่นในขณะนี้

“ชงเอง กินเอง คนโกงก็ยังอยู่ได้ คงไม่โกงถูกมองว่าโง่ สุดท้ายชาวบ้านก็ไม่ได้อะไร…ละลายงบฯ ทิ้ง ทั้งน้ำท่วม ทั้งภัยแล้ง”

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์