X

ติดพัดลมละเลงงบฯ ปรากฎการณ์”หมูไม่กลัวน้ำร้อน”

ติดตั้งพัดลมในสำนักงานไปรษณีย์ ที่ปทุมธานี จำนวนมากมายแบบพิลึกพิลั่น แม้จะถอดบางส่วนออกไปแล้ว ก็ยังต้องทำความจริงให้กระจ่าง

การอ้างว่า“ทำตามแบบ”โดยไม่ใส่ใจกับกฎหมายใหม่ที่พยายามปิดช่องการทุจริตโดยระเบียบและการลอคสเปค สะท้อนความจริงว่า การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และรัฐวิสาหกิจ ยังถูกครอบด้วยความคิดเดิม ๆ วิธีการเดิม ๆ โดยไม่เกรงกลัวอะไรเลย

พัดลมโคจร 30 ตัว ที่ติดตั้งแบบเบียดเสียดในห้อง ขนาด 60 ตารางเมตร มีพนักงานปฏิบัติหน้าที่เพียง 2 คน ในสำนักงานไปรษณีย์ สาขาคูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังถูกวิจารณ์อย่างหนักถึงความสมเหตุสมผล ที่แค่การสังเกตเพียงด้านกายภาพก็รู้ว่า “ผิดปกติ” ล่าสุดได้มีการถอดออกบางส่วน จาก 30 ตัว ถอดไป 18 ตัว เหลือ 12 ตัว

เป็นการถอดพัดลมออกบางส่วนที่ผู้บริหารบริษัทไปรษณีย์ไทย ชี้แจงว่าเป็นความผิดพลาดของการคำนวณการใช้งานพัดลมดูดอากาศ อ้างว่าสภาพแวดล้อมโดยรอบมีตึกขนาบข้าง มีปัญหาการระบายอากาศทำให้อากาศร้อนอบอ้าวจึงมีการติดตั้งพัดลมในห้องถึง 30 ตัว และเรื่องนี้มีการตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตั้งแต่ 26 มิ.ย.แล้ว

ติดตั้งพัดลม 30 ตัว เนื่องจากคำนวณพลาด เมื่อรู้ว่าพลาดก็แก้ไขถอดออก 18 ตัวเหลือ 12 ตัว

การรีบถอดพัดลมบางส่วนที่ออกแล้วเรื่องนี้จะจบ และเงียบหายไปตามพัดลม 18 ตัวที่ถูกถอดออกไปหรือไม่ นี่เป็นประเด็นที่นักกฎหมายกำลังจับตาดูว่าเรื่องนี้จะจบอย่างไร

หากดูตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 มาตรา 6 ที่กำหนดให้การใช้งบประมาณในการจัดซื้อจัดจ้าง “ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าต่อภารกิจของรัฐ” มีประเด็นที่น่าคิด

ปณท. จัดสรรงบประมาณในการปรับปรุงที่ทำการไปรษณีย์ สาขาคูคต จำนวน 5,380,000 บาท โดยมีการติดตั้งพัดลมจำนวน 30 ตัว ในราคาตัวละ 4,500 บาท ในขณะที่ราคากลางเพียงตัวละ 2,000 บาท มีค่าติดตั้งอีกตัวละ 1,500 บาท รวมเป็นตัวละ 6,000 บาท  เฉพาะส่วนที่เป็นรายการพัดลม รวมเป็นเงินทั้งหมด 180,000 บาท

นั่นแสดงว่าการเขียนแบบรูปรายการ  และระบุการติดตั้งพัดลมเกินความจำเป็น ซึ่งตามกฎหมายหากหน่วยงานเห็นว่าเกินความจำเป็นจริงก็สามารถเปลี่ยนแปลงหรือลดขนาดหรือจำนวนลงก็ได้ ในช่วงการบริหารสัญญา

กรณีที่ปณท.สั่งให้มีการถอดพัดลมบางส่วนออก ก็ช่วยลดความเสี่ยงในการตรวจสอบลงได้บ้างเพราะถือว่าเป็นการแสดงเจตนาในการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าต่อภารกิจของรัฐโดยการลดจำนวนพัดลมลง

แต่หากยังปล่อยเลยตามเลยไม่รีบจัดการ ก็ยังมี พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550  ที่พัดลมที่ติดตั้งเกินความจำเป็นจะต้องมีภาระผูกพันการต้องเสียค่าใช้จ่ายค่าไฟของหน่วยงานจำนวนมาก ที่ทั้งหน่วยงานต้นสังกัดจะต้องคิดคำนวณเรื่องนี้ตามหลักการออกแบบ และการนำงบประมาณของภาครัฐที่มาใช้จ่ายอย่างเหมาะสม

และก็ไม่จบเพียงแค่ลดจำนวนเท่านั้น ราคาพัดลมพร้อมค่าติดตั้งตัวละ 6,000 บาท สมเหตุสมผลหรือไม่ เพราะตามกฎหมายการใช้จ่ายเงินต้องคุ้มค่าและประหยัด

ย้อนไปดูกรณีอาคารเรียนอเนกประสงค์ แบบพิเศษ โรงเรียนสตรีชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ที่อื้อฉาวเมื่อ 3-4 ปีก่อน กรณีการติดตั้งแอร์ 134 ตัว และหลอดไฟ 1,027 ชุด จากงบฯก่อสร้างอาคาร 48 ล้านบาท เฉพาะค่าติดตั้งแอร์และหลอดไฟหมดไป 6.1 ล้านบาท

หลอดไฟก็ติดถี่ยิบ ติดตั้งแอร์ก็ล้นมาจนถึงทางเดินขึ้น-ลงบันได แค่ดูผ่าน ๆ ทางกายภาพก็รู้ทันทีว่าแปลกพิลึก

สตง.เขต 4 ตรวจสอบกรณีนี้ แต่ผู้บริหารโรงเรียนก็ยืนยันวา “ทำตามแบบ” ที่ สพฐ.กำหนด และโรงเรียนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เพราะมีหน้าที่เพียงเป็นเจ้าของสถานที่และควบคุมให้ทำตามแบบเท่านั้น

ข้อสรุปของ สตง.ในกรณีนี้ว่าเข้าข่ายความผิด ตามพ.ร.บ.พ.ร.บ.ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานชัดเจน เป็นการออกแบบเพื่อการขอใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐสิ้นเปลืองกินเหตุ ทั้งที่การออกแบบก็สามารถแก้ไขได้เพื่อความเหมาะสม แต่กลับมีการดำเนินการ เพื่อต้องการใช้จ่ายงบประมาณเกินจริง

กรณีติดตั้งแอร์และหลอดไฟที่ชัยภูมิ กับการติดตั้งพัดลมที่ปทุมธานี เพียงมีข้อแตกต่างที่กรณีติดตั้งพัดลมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการลดจำนวนพัดลมเมื่อถูกตั้งข้อสงสัย แต่ที่ชัยภูมิทั้งต้นสังกัดและโรงเรียนปล่อยเลยตามเลย จนสุดท้ายเมื่อ สตง.ชี้มูล สพฐ.ส่วนกลางจึงรับไปเต็ม ๆ

เรื่องติดตั้งพัดลมเกินความจำเป็นจึงไม่ใช่เรื่องเล็กที่จะมองข้ามได้ เพราะตามเจตนารมณ์ลึก ๆ ของทั้ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ และพ.ร.บ.ส่งเสริมและอนุรักษ์พลังงาน ที่พยายามกำหนดรายละเอียดในประเด็นนี้ไว้ก็เพื่อ “ปิดช่อง” การลักไก่เขียนแบบรูปรายการยัดไส้ทุจริตในแบบรายการที่ผ่านการอนุมัติ

ผู้รับเหมาโดยส่วนใหญ่รู้ทั้งรู้ว่าหากทำตามแบบทั่วไปขาดทุนแน่ ๆ เพราะส่วนหนึ่งมาจาก “ราคากลาง”วัสดุงานโครงสร้างที่บางรายการต่ำกว่าราคาจริงในท้องตลาด

สร้างถนนยอมขาดทุนกับค่าซิเมนต์ แต่ขอให้เพิ่มป้ายบอกทางเยอะ ๆ  สร้างอาคาร ก็เพิ่มแอร์ เพิ่มหลอดไฟที่เป็นรายละเอียด ได้กำไรเนื้อ ๆ

กฎหมายพยายามเขียนปิดช่องมาเป็น 10 ปี แต่ก็ยังมีเล็ดลอดมาเรื่อย ๆ     

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์