X

โขกภาษียาเส้นบีบขาใหญ่ คนนับแสนเดือดร้อน

การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิต”ยาเส้น” จาก 0.005% ต่อกรัม เป็น 0.1% ต่อกรัม ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ค.2562  ที่ส่งผลให้ราคาขายปลีกยาเส้นปรับขึ้นทันที

สรุปง่าย ๆ จากอัตราภาษียาเส้นใหม่ ปรับขึ้น 20 เท่าหรือ 2,000% จากเดิมภาษียาเส้น ก.ก.ละ 5.8 บาท ปรับพรวดเป็น ก.ก.ละ 117.50 บาท

ผลกระทบชัด ๆ คือเกษตรกรผู้ปลูกยาสูบทั่วประเทศนับแสนครอบครัว หลัก ๆ เป็นเกษตรกรในภาคเหนือและภาคอีสาน ที่ปลูกยาสูบป้อนโรงงานยาสูบเพื่อผลิตบุหรีซอง และขายส่วนเกินโควต้าไปผลิตยาเส้น

ราคายาเส้นที่ภาคเหนือ และภาคอีสาน โดยส่วนใหญ่จะขายเป็นเข่ง หรือที่เรียกว่า “ยาสูบกระทอ” ราคาเฉลี่ยที่ ก.ก.ละ 100 บาท แต่ภาษียาเส้นใหม่ คิดอัตรา ก.ก.ละ 117 บาทกว่า ขายยกเข่ง 10 ก.ก.ก็ตกราคา 1,000 บาท แต่ภาษีโขกถึง 1,175 บาท ถ้ายังขายราคาเดิมย่อมเป็นไปไม่ได้

กรมสรรพสามิต ก็อ้างเหตุผลการปรับภาษียาเส้น ว่าหลังการปรับภาษีบุหรี่ซอง ปี 2560 ที่ส่งผลให้บุหรี่ซองปรับราคาจำหน่ายเพิ่มเป็นซองละ 60 -165 บาท แทนที่รัฐจะมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น แต่กลับสวนทางกัน เพราะคนหันไปสูบ “ยาเส้น”

ยาเส้นที่มีผู้บริโภคปี 2559 ปีละ 12 ล้าน ก.ก.เพิ่มเป็น 26 ล้าน ก.ก.ในปี 2560 การปรับอัตราภาษีใหม่ จะทำให้การจัดเก็บภาษียาเส้น จากเดิมได้ปีละ 130 ล้านบาท จะเพิ่มเป็น ปีละ 2,000 ล้านบาท

ปรับภาษียาเส้น พร้อมๆ กับการชะลอการปรับภาษีบุหรี่ซอง โดยการขยายเวลาปรับจากอัตราภาษี 20 % ในปัจจุบัน เป็น 40 % ออกไป 1 ปี และคาดว่าจะสามารถเก็บภาษีบุหรี่ซองได้ปีละ 60,000 ล้านบาท ซึ่เมื่อรวมกับภาษียาเส้นจะมีรายรับจากภาษีถึงปีละ 80,000 ล้านบาท

เป็นการตรึงราคาบุหรี่ซอง แล้วหันไปโขกภาษียาเส้น

เป้าภาษีก็ส่วนหนึ่ง เป้าเหตุผลการลดปริมาณการสูบบุหรี่ก็ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อดูตัวเลขการบริโภคยาเส้น ปีละ 26 ล้าน ก.ก.นี่น่าตกใจ เพราะโดยเฉลี่ยการบริโภคยาเส้นโดยทั่วไป ต่อคนจะตกปีละ 1 ก.ก. ถ้ายึดตามตัวเลข 26 ล้าน ก.ก.ต่อปี ก็เท่ากับว่ามีผู้บริโภคยาเส้นถึงปีละ 26 ล้านคน

สวนทางกับตัวเลขการบริโภคยาสูบในช่วง ปี 2534-2558 ที่พบว่าการสูบบุหรี่มีแนวโน้มลดลง จากจำนวน 12.26 ล้านคน หรือคิดเป็น ร้อยละ 32 ของจำนวนประชากร เหลือ 10.9 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19.1 ของประชากรในปี 2558 และในปี 2560 พบว่ามีผู้บริโภคยาสูบ 10.7 ล้านคน

เกษตรกรทั้งภาคเหนือและภาคอีสานเริ่มมีการประท้วง และขอให้กรมสรรพสามิตทบทวนอัตราภาษีใหม่ภายหลังกฎหมายบังคับใช้ ตัวแทนพรรคการเมืองในพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ หรืออนาคตใหม่ก็ตั้งทีมงานเพื่อผลักดันให้มีการทบทวนอัตราภาษี

แน่นอนว่าเรื่องการปรับภาษียาเส้นคงไม่จบง่าย ๆ แม้ว่าการปรับขึ้น “ภาษีบาป”แต่ละครั้งการต่อต้านจะมีเพียงเสียงงึมงำ แต่กรณีนี้เกี่ยวพันกับเศรษฐกิจชุมชนที่มีเกษตรกรที่ปลูกยาสูบนับแสนครอบครัวและอยู่ในพื้นที่ ที่อ่อนไหวทางการเมืองทั้งภาคเหนือและภาคอีสาน

เป้าลึกๆ ของการปรับภาษียาเส้น น่าจะป็นการบีบให้ผู้ประกอบการรายผลิตยาเส้นรายใหญ่ประมาณ 30 ราย ให้เข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง ส่วนผู้ประกอบการรายย่อย หรือผู้ผลิตยาเส้นเป็นสินค้าชุมชนอาจได้รับผลกระทบบ้างจากอัตราภาษีใหม่ที่ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น

“บังดีน” เจ้าของแบรนด์สินค้ายาเส้นท้องถิ่นชื่อดัง จ.สงขลา ที่ขายยาเส้นจากการปลูกเอง หั่นเอง จากยาสูบพันธุ์หางไก่ ใบเรียว ยาสูบพันธุ์พื้นเมืองที่ปลูกขึ้นดีที่สงขลา และขายยาเส้นทางออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2555 ในราคา ก.ก.ละ 3,500 บาท บอกว่าอัตราภาษีใหม่กระทบต้นทุนบ้าง สำหรับยาเส้นสินค้าชุมชน ไม่เหมือนเกษตรกรผู้ผลิตยาเส้นในภาคเหนือ ภาคอีสานที่ผลิตผ่านโรงงานและขาย ก.ก.ละ 100 บาท

บังดีน ขออนุญาตผลิตยาเส้น เสียค่าใบอนุญาตปีละ 400 บาทในท้องถิ่น และต้องซื้อแสตมป์ยาสูบ จากเดิม ก.ก.ละ 5 บาทกว่า เป็น 117 บาทกว่า ต่อ ก.ก.เพื่อจำหน่าย ก.ก.ละ 3,500 บาท

“ภาษีใหม่ก็พอถู ๆ ไถ ๆ ไปได้ เราต้องแบกรับภาษีเอง เพราะแบรนด์เราติดตลาดแล้ว มันเป็นสินค้าเฉพาะถิ่น ต่างจากคนทำยาเส้นภาคเหนือ ภาคอีสานที่ขายผ่านโรงงานเฉลี่ย ก.ก.ละ 100 บาท อัตราภาษีใหม่ที่สูงกว่าราคาขายย่อมกระทบแน่นอน”

เหตุผลทางสังคมของการปรับภาษียาเส้นเป็นไปเพื่อลดปริมาณการสูบบุหรี่ แต่เป้าชัด ๆ คือการบีบผู้ผลิตยาเส้น ประมาณ 30 รายให้เข้าสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง แต่เกษตรกรนับแสนรายพลอยได้รับผลกระทบด้วย ส่วน”นักสูบ” ก็โดนทั้งขึ้นทั้งล่อง หนีจากบุหรี่ซองซิกาแรตที่แพงต่อเนื่อง หันไปพึ่งยาเส้นที่เสี่ยงอันตรายมากกว่ายังถูกตามล่าด้วยภาษีใหม่ที่แพงระยับ

แดนสนธยาในวงการ”ยาสูบ”ธุรกิจแสนล้าน ที่คนภายนอกยากจะล่วงรู้มายาวนาน เริ่มคลี่ออกมาจากปริมาณยาเส้น ปีละ 26 ล้าน ก.ก.ที่ส่วนใหญ่เป็นยาเส้นที่รับซื้อยาสูบจากโควต้าส่วนเกินของเกตรกรกับโรงงานยาสูบนั่นเอง

คนในโรงงานยาสูบรู้เรื่องนี้ดีมายาวนาน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์