X

รถแห่-หมอลำ ที่ไหนมีคนเมาที่นั่นเละเทะ

“คนมันจะตีกันหนังกลางแปลงมันก็ตีกัน” ก็จริงอย่างที่ทรงวุฒิ สะอิ้งรัมย์ หรือ “หนิง ดาวเคียงเดือน” เจ้าของรถแห่ดาวเคียงเดือน บุรีรัมย์ ประธานชมรมรถแห่ดนตรีสดแห่งประเทศไทยพูดถึงกรณีที่มีผู้ตั้งโจทย์ว่า “รถแห่” เป็นต้นเหตุของเหตุการณ์คนทะเลาะวิวาท ชกต่อยกัน

วัยรุ่นตีกันหน้าเวทีหมอลำ หรือหน้ารถแห่ ตอนนี้แยกยากว่าเวทีไหนเกิดเหตุบ่อยกว่ากัน แต่ที่แน่ ๆ ปัญหานี้ เป็นปัญหาโลกแตกที่ดูเหมือนยิ่งแก้ยิ่งเจอกับโจทย์ที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ตามยุค ตามสมัย

ไม่ต่างกับปัญหาวัยรุ่นมัธยม หรืออาชีวะทะเลาะวิวาท แก้ปัญหาด้วยการวางกฎก็แค่ชั่วครั้งชั่วคราว ผ่านรุ่นหนึ่งไปอีกรุ่นก็กลับมาชกต่อยกันเหมือนเดิม

ปัญหาคนตีกันหน้ารถแห่จนมีมาตรการแรกเริ่มจากจ.บุรีรัมย์ ที่ผู้บังคับการตำรวจภูธรบุรีรัมย์ สั่งการให้เข้มงวดและวางมาตรการเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยพุ่งเป้าไปที่ “รถแห่” ที่ต้องทำตามกฎหมาย ทั้งการต่อเติมรถ และการขออนุญาตใช้เครื่องเสียง

ความจริงก็เป็นกฎหมายปกติ แต่ความคุ้นเคยของชาวบ้านในการจัดให้มีมหรสพตามงานประเพณี ส่วนมากก็ไม่ต้องมีการขออนุญาตตามขั้นตอนอะไรมากนัก มีงานก็ไปจ้างหมอลำ จ้างลิเก หรือไปจ้างหนัง มาเป็นมหรสพสมโภชน์งาน เจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้กวดขันอะไรเพราะก็รู้ ๆ กัน ว่ามันเป็นงานสาธารณะที่สังคมรับรู้อยู่แล้ว

พอผกก.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ ถ่ายทอดคำสั่งของ ผบก.ที่ให้มีการเข้มงวดกับรถแห่ บางคนก็บอกว่า “นี่เป็นอวสานรถแห่” เพราะเหตุว่ารถแห่ทุกคันดัดแปลงเกินที่กฎหมายกำหนด การขออนุญาตใช้เสียงนี่ก็เป็นปัญหา เพราะรถแห่ที่ดัง ๆ ช่วงงานเข้าเทศกาลชุกบางวันวิ่งรอกรับงาน 3-4 ที่ มัวแต่วิ่งขออนุญาตก็ไม่ต้องทำอะไรกัน

รถแห่ที่กำลังเป็นธุรกิจบันเทิงมูลค่ารวมหลายพันล้านบาท ที่รถแต่ละคันลงทุนตั้งแต่ระดับ 2 – 3 ล้าน และสร้างรูปแบบธุรกิจบันเทิงครบวงจรในรถคันเดียว ทั้งเครื่องเสียง เครื่องดนตรี เวทีแสดงสด ศิลปินประจำรถ และทีมโซเชียลมีเดียประจำรถ และได้รับความนิยมจากเจ้าภาพมากขึ้นเรื่อยๆ ย่อมหวั่นไหวแน่นอน หากมาตรการคุมเข้มเอาจริงเอาจัง

พ.ต.อ.รุทธพล เนาวรัตน์ รอง ผบก.ภ.จว.บุรีรัมย์ ได้ชี้แจงถึงคำสั่ง ที่ ผกก.สภ.ประโคนชัยออกและทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นคำสั่งห้ามใช้รถเครื่องเสียงเคลื่อนที่แห่ในงานรื่นเริงหรือมหรสพต่างๆ นั้นว่าอาจจะมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะทางตำรวจภูธรจังหวัดบุรีรัมย์ไม่ได้มีการสั่งห้าม แต่ยอมรับว่าได้ทำหนังสือสั่งการให้ทุก สภ.เข้มงวดกวดขันเกี่ยวกับรถแห่เครื่องเสียงที่จะจ้างมาแห่ในงานต่างๆ จริง

ตามคำสั่งก็เพื่อให้เน้นมาตรการการจัดกำลังดูแลรักษาความปลอดภัย และการขออนุญาตจัดงาน หรือขออนุญาตใช้เสียงให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดเหตุกลุ่มวัยรุ่นทะเลาะวิวาท   ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งหากมีการจ้างรถแห่มาร่วมงาน เนื่องจากกลุ่มวัยรุ่นมารวมตัวกันจำนวนมาก

รถแห่ที่ต้องเข้มงวดก็หมายถึงรถคันใหญ่ทั้งรถ 6 ล้อ หรือรถ 10 ล้อ ที่มีการดัดแปลงติดตั้งลำโพงจำนวนมาก ๆ และมีเวทีแสดงสดบนรถ ที่ได้รับความนิยมจ้างมาแห่ในงานต่างๆ เช่น งานบวช งานแต่ง และขบวนแห่นาค ไม่รวมรถขนาดเล็ก หรือรถเข็นติดตั้งเครื่องเสียงลากนำขบวนแห่

ทั้งหลายทั้งปวงก็มาจากการพยายามหามาตรการป้องกันวัยรุ่นตีกัน

แต่การเข้มงวดกับรถแห่ว่าทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ดูแล้วก็น่าจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด เพราะถึงไม่ใช่รถแห่ อย่างเวทีหมอลำ หรือดูหนังกลางแปลง ถ้าคนจะตีกันก็หาเรื่องตีกันได้ตลอด อย่างที่  “หนิง ดาวเคียงเดือน” ว่าไว้

ปัญหาวัยรุ่นตีกันตามงานที่มีรถแห่ ที่ดูถี่สาเหตุหลักปัญหาน่าจะมาจากรถแห่เป็นการจ้างแบบนับเวลา แบบมาเร็ว เคลมเร็ว เช่นจ้าง 2 ชั่วโมง เพลงที่ร้องก็อัดเต็มที่เน้นความสนุกสนาน ประสานกับ “คนเมา”ที่เดินเต็มถนนย่อมเสียงต่อการกระทบกระทั่ง และเป็นที่มาของการทะเลาะวิวาทชกต่อย

เวทีหมอลำที่ตามสถิติการชกต่อยก็เป็นของคู่กันอยู่แล้ว โดยเฉพาะเวทีหมอลำซิ่งที่อัดแน่นด้วยช่วงบันเทิงสะเดิดดิ้น วัยรุ่นหน้าเวทีก็มักจะมีเรื่องชกต่อยกัน จนหมอลำกับเจ้าภาพต้องบันทึกในสัญญาจ้างว่าหากการแสดงต้องจบลงด้วยเหตุคนตีกันไม่ว่าช่วงเวลาไหน เจ้าภาพต้องจ่ายเต็มตามข้อตกลง

แต่ข้อแตกต่างของเวทีหมอลำกับรถแห่คือ เวทีหมอลำมีขั้นตอน พิธีการ มีผู้ทรงคุณวุฒิในชุมชน เช่นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่คนเกรงใจสามารถขึ้นเวทีคุมสภาพได้หากเกิดปัญหาในระหว่างการแสดง…แต่รถแห่ไม่มี เพราะแสดงตามเวลากำหนด 2-3 ชั่วโมง ถ้ามีปัญหาก็ไม่คุ้มที่จะเสียเวลาเคลียร์

คนเมาตีกันยิ่งหาวิธีแก้ยังไงก็เหมือนพายเรือวนอ่าง เพราะพื้นฐานไม่ว่าวัยรุ่นในสังคมระดับไหน เมื่อเมาได้ที่ก็มักจะหาที่แสดงออก ยิ่งหากมีคนเยอะ ๆ ก็ยิ่งอยากทำตัวเป็นฮีโร่

ต้องใช้สูตรการแก้ปัญหาของ “ผู้ใหญ่สุบิน ภาวุธ” ผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองตอ ต.หัวช้าง อ.จตุรพักตรพิมาน  ร้อยเอ็ด ที่เป็นข่าวฮือฮาช่วงปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา กับการแก้ปัญหาวัยรุ่นตีกันหน้าเวทีหมอลำงานประจำปีของหมู่บ้าน ที่เมื่อวัยรุ่นเปิดฉากตะลุมบอนหน้าเวที ยิ่งห้ามก็ยิ่งเหมือนยุ จนสุดท้ายผู้ใหญ่ต้องคว้าไมค์ประกาศให้ตีกันต่อ ให้รปภ.กันชาวบ้านออกไป ห้ามตำรวจ หรือ อพปร. ที่ดูแลความปลอดภัยไม่ให้เข้าไปยุ่ง และใช้ชาวบ้านช่วยกันจับตาดู  ช่วยเก็บหลักฐานไว้ประกอบคดี

ปรากฏว่าได้ผลเกินคาด ตะลุมบอนกันแค่ 2 นาที พอไม่ใครสนใจ ก็เลิกรากันไปเอง

แต่รถแห่ที่จำนวนคนดู คนร่วมงานก็ไม่ต่างกับเวทีหมอลำ แถมยังเป็นเวทีเคลื่อนที่การควบคุมสถานการณ์ยากกว่าเวทีหมอลำ

สาเหตุหลัก ๆ ของคนตีกัน คืองานคนเมา ต้องแก้ที่คนเมา กฎหมายเดิม ๆ ที่มีอยู่เยอะแยะ

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์