X

เลือกตั้งท้องถิ่นปลายปี คึกคักทั่วหัวระแหง

การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่น ทั่วประเทศ ทุกรูปแบบ 7,852 แห่งที่จะเป็นครั้งแรกที่การเลือกตั้งเกิดขึ้นในเกิดขึ้นในเวลาไร่เรี่ยกัน จะเป็นมหกรรมการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดของไทยเลยก็ว่าได้

ยิ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ ชัดเจนว่าพรรคการเมืองระดับชาติต่างให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่นมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ตั้งแต่ช่วงนี้จนข้ามปีถึง 2563 การเมืองจะคึกคักทั่วหัวระแหง

การเลือกตั้ง ส.ส.24 มี.ค.ที่การเมืองท้องถิ่นชี้เป็นชี้ตายในสนามเลือกตั้งส.ส.ในหลายท้องที่ค่อนข้างชัดเจน และจะถือเป็นการหมดยุคที่ก่อนหน้านี้มักจะพูดกันว่า การเมืองท้องถิ่นต้องเป็นอิสระจากการเมืองระดับชาติ

อย่างไรเสียการเลือกตั้งคงจะต้องเกิดขึ้นหลังเดือนต.ค.2562 แม้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ที่เกี่ยวเนื่องกัน 6 ฉบับ จะประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย.2562

ที่จะต้องจัดเลือกตั้งหลังต.ค. เพราะกฎหมายใหม่ได้ให้อำนาจท้องถิ่นท้องถิ่นในการจัดการเลือกตั้งแทนกกต. และท้องถิ่นต้องมีการตั้งงบประมาณสำหรับการเลือกตั้งในปีงบประมาณ 2563 ที่จะเริ่มในเดือนต.ค.2562 และทั้งนี้อำนาจในการกำหนดจะให้มีการเลือกตั้งเมื่อไหร่ ในบทเฉพาะกาลยังเป็นอำนาจของ คสช.ที่จะกำหนด

พ.ร.บ.เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนี้

พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 

พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2562

พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2562 

พ.ร.บ.องค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ.2562 

พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2562

พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ.2562 

พรรคอนาคตใหม่ เป็นพรรคที่ประกาศชัดเจนในการประชุมพรรคเมื่อ 27 เม.ย.ที่ผ่านมาว่าจะส่งผู้สมัครในนามพรรคลงสนามการเมืองท้องถิ่นอย่างแน่นอน โดยมั่นใจว่าจะสามารถเขย่าวงการการเมืองท้องถิ่นดังเช่นการเลือกตั้งในระดับชาติมาแล้ว

พรรคอนาคตใหม่ เปิดฉากด้วยการรุกเปิดประเด็นในมหาวิทยาลัยขอนแก่น พื้นที่ที่ส่งผลให้ผู้สมัครส.ส.อนาคตใหม่ล้มแชมป์อดีตส.ส.หลายสมัยพรรคเพื่อไทยแพ้ขาด ในหน่วยเลือกตั้งเดียวในม.ขอนแก่น อนาคตใหม่ชนะถึง 5 พันคะแนน “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เลือกที่นี่แสดงปาฐกถาหัวข้อ “24 มิถุนายน วันประชาธิปไตยและการคืนอำนาจสู่ท้องถิ่น ” พร้อมกับการขายโต๊ะจีนระดมทุนสู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น โดยใช้ห้องประชุมของวิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น ม.ขอนแก่น

พรรคเพื่อไทย ตั้งกรรมการ 2 ชุดเพื่อดำเนินการในการส่งสมัครเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งคณะกรรมการคัดสรรสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่น โดยมีหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคร่วมพิจารณา และคณะกรรมการกำหนดนโยบายท้องถิ่น ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ กำหนดประชุมหารือกำหนดแนวทางในการสู้การเลือกตั้งท้องถิ่นในเร็ว ๆ นี้

ย่างก้าวของแต่ละพรรคในการสู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่นที่ติดพันมาจากการเลือกตั้ง ส.ส.ชัดเจนว่าสนามท้องถิ่นที่จะมีการเลือกตั้งครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่มีพรรคการเมืองเตรียมลงลุยอย่างเต็มตัว แม้จะไม่กำหนดชัดเจนแต่การเตรียมส่งผู้สมัครในนามพรรคได้วางไว้แล้วในหลายที่โดยเฉพาะนายกอบจ.และสมาชิกสภาอบจ.ที่คาดว่าจะเป็นที่ต้น ๆ ที่จะจัดให้มีการเลือกตั้ง แต่ละพรรคจ้องที่จะยึดตำแหน่งนี้ไว้ให้ได้

ตัวอย่างสนามที่จะดุเดือดที่พรรคการเมืองจะส่งผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกอบจ. เช่นที่เชียงใหม่ ที่ “บุญเลิศ บูรณุปกรณ์” นายกอบจ.2 สมัย และจะลงสู้ในสมัยที่ 3 ครั้งนี้กลายเป็นศึก 3 เส้า เมื่ออนาคตใหม่ประกาศส่งผู้สมัครนายกอบจ.แข่งหลังชนะเลือกตั้งซ่อมถล่มทลาย

พรรตเพื่อไทยประกาศส่งอดีต สว.ชูชัย เลิศพงศ์อดิศร คนสนิท “คุณนายแดง” ลงสู้กับบุญเลิศ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ก็ถือเป็นคนในชายคาเพื่อไทย แต่หลังการเลือกตั้งส.ส.ที่ผ่านมาบุญเลิศปันใจไปให้กับพลังประชารัฐ

ที่เชียงรายที่สู้กันดุเดือดทุกสมัยระหว่าง “ติยะไพรัช” กับ “จงสุทธานามณี” แต่ครั้งนี้ อนาคตใหม่ฮึดสู้ ส่ง “วิรุฬ คำพิโล” อดีตประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย และอดีตสหายเก่าลงสมัครนายกอบจ.

นครศรีธรรมราชนี่ก็เดือด เดิมนายกอบจ.อยู่ในชายคาประชาธิปัตย์ แต่พอเลือกตั้งส.ส.ที่หลุดไปหลายเก้าอี้ อดีตส.ส.แต่ละคนก็เตรียมคนของตัวเองลงสมัคร พบว่าในค่าย ปชป.เตรียมจะลงสมัครนายกอบจ.ถึง 4 คน แต่เมื่อ “วิฑูรย์ กรุณา” อดีตสว.นครศรีธรรมราช และผู้สมัครส.ส.นนทบุรี พรรคภูมิใจไทยตัดสินใจลงสมัครนายกอบจ.นครศรีธรรมราช รอความชัดเจนว่าจะลงในนามพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย หรืออนาคตใหม่ ทำให้ประชาธิปัตย์กลับลำเคลียร์กันภายใน เพราะหากขืนสู้กันเองอันตรายแน่ๆ สุดท้ายสรุป ส่ง “อภิชาติ ศักดิเศรษฐ์”อดีตส.ส.ลงสมัครนายกอบจ.คนอื่นที่เตรียมลงสมัครให้มาร่วมทีมไม่ต้องสู้กันเอง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางตอน ที่แน่นอนทุกสนามทั่วประเทศแต่ละพรรคย่อมไม่พลาดที่จะส่งคนลงสมัคร เพราะท้องถิ่นมันคือบันไดอำนาจระดับชาติที่มองข้ามไม่ได้แล้ว

นักการเมืองในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ถือเป็นกลุ่มที่ทรงพลัง มีทั้งอำนาจ เงินตรา พยายามที่จะแทรกแซงการเมืองท้องถิ่นโดยการส่งคนของตัวเองลงสมัครไม่ว่าจะเป็นระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล อบต. หรือการปกครองรูปแบบพิเศษ จนมีความเกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่และเครือข่ายอยู่ก่อนหน้านี้แล้ว

เมื่อพรรคการเมืองลงเล่นการเมืองท้องถิ่นเต็มตัวแนวโน้มจะนำไปสู่การผูกขาดการเมืองทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดความเบ็ดเสร็จทางอำนาจ ในทางการบริหารจัดการในท้องถิ่นหรือไม่…ปัญหานี้น่าเป็นห่วง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์