X

รัฐยึดบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ เบ็ดเสร็จ

ก่อนอื่นต้องขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นตัวแทนในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.)จำนวน 21 คน จากสมาชิกกว่า 6 ล้านคน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา

การเลือกตั้งตัวแทนเกษตรกรที่จะเข้าไปเป็นบอร์ด ในคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ที่ประกอบด้วยบอร์ดทั้งหมด 42 คน มาจากกรรมการโดยตำแหน่ง 10 คน ผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คน และจากตัวแทนเกษตรกร 21 คน จากเดิมมีวาระดำรงตำแหน่ง 2 ปี แต่มีการแก้ไขให้ดำรงตำแหน่ง 4 ปี เพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินงาน

ขั้นตอนต่อไปก็จะเป็นการนำรายชื่อกรรมการทั้งหมด ทั้ง 42 คน เสนอให้รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำผ่านเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เห็นชอบต่อไป

 ผู้ได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนเกษตรกร

1. ภาคกลาง 4 คน ได้แก่ นายยศวัจน์ ชัยวัฒนสิริกุล, นายกิตติพล ตะพานแก้ว, นางนิสา คุ้มกอง และ นายนพรัตน์ เผ่าวัฒน์ชัย

2. ภาคใต้ 4 คน ได้แก่ นายสมบูรณ์ จิตรเพ็ญ ,นายสาฝาอี โต๊ะบู,นางพจมาน สุขอำไพจิตร และนายดรณ์ พุมมาลี  

3. ภาคเหนือ 5 คน ได้แก่ นายสิทธัญ วงศ์ปั่น,นายประสิทธิ์ บัวทอง,นายสมศักดิ์ โยอินชัย,นายไชยกร แย้มปั้น และนางศศินัชสุภา จันทร์สุวรรณ

 4. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 7 คน ได้แก่ นายปิยะมงคล สิงห์กลาง,นายถวิล ตรีวรปรัชญ์,นายจารึก บุญพิมพ์ ,นายกิตติกร เชิดชู ,นายสำเริง ปานชาติ ,นายประจักษ์ บุญกาพิมพ์ และนายนวคม เสมา

กองทุนฟื้นฟูฯบริหารจัดการโดยระบบบอร์ด โดยพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ ปี 2542 กำหนดให้เป็นองค์กรที่ตัวแทนเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทาง นโยบายในการเข้ามาแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรทั้งเรื่องหนี้สิน การฟื้นฟูอาชีพ เพื่อปิดช่องว่างในระบบที่ “รัฐเป็นผู้คิด และกำหนดอยู่ฝ่ายเดียว”

สัดส่วนของบอร์ด กฟก.จึงมาจาก 3 ส่วน

1.บอร์ดโดยตำแหน่ง มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานฯหรือมอบหมายให้รัฐมนตรีเป็นประธาน และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวม 10 คน

2.บอร์ดจากผู้ทรงคุณวุฒิ สรรหาจากภาคราชการที่ 5 คน ภาคเอกชน 6 คน รวม 11 คน

3.บอร์ดจากตัวแทนเกษตรกรทั่วประเทศ เลือกจากสมาชิกโดยตรง 4 ภูมิภาคตามสัดส่วนสมาชิกฯ รวม 21 คน

บอร์ด ในส่วนที่ 2 และส่วนที่ 3 เห็นชื่อเรียบร้อย แต่ส่วนที่ 1 นั่นคือปัญหา เพราะประธานบอร์ดคือนายกรัฐมนตรี หรือมอบหมายให้รัฐมนตรี ซึ่งส่วนใหญ่จะมอบหมายให้รมว.กระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน

การเลือกตั้งผ่านไปแล้ว 4 เดือน รัฐบาลชุดใหม่เห็นชัด ๆ คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วนตำแหน่งรมว.เกษตรและสหกรณ์ เจ้ากระทรวงเกรด A ยังยื้อกันไม่สะเด็ดน้ำ

รัฐบาลที่ยังไม่เรียบร้อยก็เป็นปัญหาสำหรับการตั้งบอร์ด กฟก. ซึ่งหากรัฐบาลจะรวบรัดเสนอตั้งในรัฐบาล คสช.ที่มีอำนาจเต็มก็ย่อมทำได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายไม่ว่าจะเป็นการผิเกษตดธรรมเนียมปฏิบัติที่ต้องให้รมว.เกษตรฯ ที่จะทำหน้าที่ในรัฐบาลต่อไปในฐานะที่เป็นผู้รับมอบอำนาจจากนายกรัฐมนตรีเข้าไปจัดการกองทุนฟื้นฟูต้องมีส่วนในการจัดการในขั้นต้น

หากรอรัฐบาลใหม่ประกาศแต่งตั้งบอร์ด กฟก.จะช้าไปหรือไม่ คำตอบคือรัฐบาลใหม่จะยื้อกันอีกนานขนาดไหนกว่าจะตั้ง ครม.เสร็จ แต่ที่ผ่านมา การตั้งบอร์ด กฟก.บางรัฐบาล หลังการสรรหา เลือกตั้ง พอแต่งตั้งบอร์ดเสร็จก็ยื้อ ไม่เปิดประชุม นานถึง 8 เดือน เช่นปี 2547 จนกรรมการ 3 ใน 4 ต้องเข้าชื่อเพื่อเปิดประชุม แต่เมื่อเปิดประชุมได้ไม่กี่นาที รัฐมนตรีที่รับผิดชอบและเป็นประธานที่ประชุมก็ขอ “ปิดประชุม” เอาดื้อ ๆ

เมื่อไม่มีการประชุม กฟก.ก็ทำอะไรไม่ได้ งบประมาณจัดที่รัฐต้องจัดสรรให้ราวปีละ 200-300 ล้าน สำหรับบริหารจัดการในสำนักงาน และงบฯ โครงการแต่ละปีที่ ตั้งแต่ปีละ 500-3,000 ล้านบาท รวมทั้งการจัดการกับเงินหมุนเวียนสะสมในการจัดการหนี้เกษตรกร กว่า 10,000 ล้านบาท นี่ก็เป็นปัญหาของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เกษตรกรฯสมาชิกราว 6 ล้านคนพลอยได้รับผลกระทบจากการบริหารจัดการ

ตามวาระ 2 ปีการทำหน้าที่ของบอร์ด กฟก.ที่ผ่านมา เฉลี่ยได้ทำหน้าที่จริง ๆ ไม่เกิน 1 ปี เมื่อยืดวาระเป็น  4 ปี จะดีขึ้นหรือไม่

นอกจากรัฐบาลใหม่ที่ยังไม่ชัดเจนที่จะเป็นเหตุให้การดำเนินงานของ กฟก.ล่าช้าแล้ว หากดูสัดส่วนของบอร์ด 42 คน เริ่มมีการตั้งข้อสังเกตว่าสุดท้าย กฟก.ก็ไม่ต่างกับหน่วยงานของรัฐ

ตามเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูฯ ที่กำหนดสัดส่วนบอร์ดเป็น 3 ส่วน ใน 42 คน โดยให้มีตัวแทนเกษตรกรเข้าไปเป็นบอร์ด 21 คน นั่นชัดเจนว่าเพื่อเป็นการ “คานอำนาจ” กับฝ่ายการเมืองและราชการ

และเปิดช่องในมี “ตัวแปร” เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ที่สรรหามาจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนเสนอมา 11 คน เพื่อแก้ปัญหาหากบอร์ดฝ่ายเกษตรกร 21 คนเป็นเอกภาพ เห็นร่วมกันกับนโยบายดี ๆ ที่จะเป็นประโยชน์กับเกษตรกร ลำพังเสียงในซีกตัวเองก็ผ่านลำบาก ก็ต้องพึ่งบอร์ด “ผู้ทรงคุณวุฒิ” มาช่วยไม่กี่เสียงก็ผ่านได้

แต่วงในเริ่มวิพากษ์วิจารณ์บอร์ดผู้ทรงคุณวุฒิ 11 คนที่ผ่านการสรรหาว่าทั้งหมดล้วนแต่เป็นคนที่หน่วยงานภาครัฐ กึ่งรัฐเสนอมาทั้งสิ้น ไม่มีตัวแทนจากองค์กร สมาคม มูลนิธิฯ ที่เกี่ยวข้องกับเกษตกรเข้ามาเป็นบอร์ดในชุดนี้เลย 

นั่นก็เท่ากับว่าโครงสร้างบอร์ด กฟก.ชุดนี้ฝ่ายรัฐยังกุมความได้เปรียบ หากจะผ่านนโยบายอะไร แค่ใช้วิธีการล้อบบี้แบบนักการเมืองเพื่อให้บอร์ดตัวแทนเกษตรกรเป็น “งูเห่า”แค่ไม่กี่คนทุกอย่างก็ผ่านฉลุย

เริ่มมีเสียงวิจารณ์ว่า ควรจะรื้อการสรรหาบอร์ดในสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิกันใหม่บ้างแล้ว

หนี้ชาวบ้านดอกเบี้ยไม่เคยหยุดวิ่ง ปัญหาปากท้องไม่รอใคร หากรัฐจริงใจในการแก้ปัญหาที่ยื้อแย่งเพื่อคุมกระทรวงเกรด A อย่างกระทรวงเกษตรฯ และได้แถมพ่วงกำกับกองทุนฟื้นฟูฯ ก็ควรเริ่มต้นให้ถูกต้องโดยโครงสร้างที่เอื้อต่อการบริหารจัดการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ

การเมืองล้วงลูก กองทุนฟื้นฟูฯ กลายเป็นองค์กรติ่งการเมืองมาตลอด ตัวแทนเกษตรกรวิ่งเข้าซบศูนย์อำนาจจนลืมปัญหาชาวบ้านที่แท้จริง ปัญหาเหล่านี้น่าจะจบได้แล้ว . 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์