X

“แถน”คงร่ำไห้ จุดบั้งไฟบูชา คนตายทุกปี

ปิดเทศกาลประเพณีบุญบั้งไฟ หรือประเพณีบุญเดือน6 วันที่ 2 มิ.ย.2562 วันสุดท้ายของเดือน 6 ด้วยข่าวเศร้า ๆ บั้งไฟที่เตรียมจะนำขึ้นจุดเกิดผิดคิวทะยานพุ่งใส่ฝูงชน ในบริเวณงานจุดบั้งไฟบ้านเหมือดแอ่ ต.หนองเรือ อ.โนนสัง จ.หนองบัวลำภู จนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

อังคาร 4 มิ.ย.เจ้าของบั้งไฟมรณะ คือ นายสมัย ไพรตื่น อายุ 52 ปี ชาว อ.ศรีบุญเรือง ได้ติดต่อกับพนักงานสอบสวน สภ. โนนสัง เพื่อเข้ามอบตัว เพื่อรับทราบข้อกล่าวหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต

งานบุญบั้งไฟทุกปีก็มักมีข่าวแบบนี้เรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นข่าวบั้งไฟระเบิด บั้งไฟตกใส่บ้านเรือนและเกิดความสูญเสียตามมา และรู้ทั้งรู้ว่ามีอันตรายรอบด้าน แต่มันเป็นงานประเพณีที่สืบทอดกันมากแต่โบราณที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ไว้ และยังคงสืบทอดกันต่อไป

ยิ่งพัฒนาการ เทคโนโลยีการผลิตบั้งไฟทันสมัยขึ้น แรงขึ้น จำนวนผู้ผลิตมากขึ้น แถมยังมี “การพนัน” เข้ามาเกี่ยวข้อง หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ต้องวิ่งตามหาวิธีป้องกันทั้งกำหนดระเบียบ การรณรงค์ แต่ก็ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง

ถ้าจะว่าเรื่องชั้นเชิงบั้งไฟในย่านอีสานเหนือก็ต้องยกให้ “หนองบัวลำภู” ที่ “ค่ายบั้งไฟ” ที่มีแบบฉบับที่สร้างชื่อมานาน ต้นตำรับที่สู้กันสองค่ายริมเขื่อนอุบลรัตน์ที่เป็นสนามจุดบั้งไฟชั้นเยี่ยม จุดบนบกตั้งลำให้ตกบนน้ำ นับเวลาขึ้นจนตกแข่งกันก็จะมี “ค่ายเหมือดแอ่” กับ “ค่ายกุดดู่” สองค่ายนี้สู้กันในเชิงบั้งไฟมาตั้งแต่สมัยบั้งไฟโบราณ ชนิดที่ว่าไม่มีใครยอมใคร

ผลของการแข่งกันสองค่ายทำให้กันพัฒนาการผลิตบั้งไฟของหนองบัวลำภูกลายเป็นแหล่งผลิตบั้งไฟขนาดใหญ่ ส่งออกไปยังจังหวัดต่างๆ ไม่ใช่แค่อีสานเหนือเท่านั้น อีสานล่างย่านยโสธร ศรีสะเกษ อุบลฯ บางส่วนก็ใช้บริการค่ายบั้งไฟจากหนองบัวลำภูไปจุดแข่งขัน

ประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประเพณีที่ชาวอีสานยึดถือตามระบบฮีต 12 คอง 14  ที่เบื้องหลังเป็นพิธีกรรม ที่เป็นกุศโลบายให้คนในชุมชนได้ประกอบกิจกรรมร่วมกันทุกเดือน ในรอบปี โดยเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ความรักสามัคคีของคนในสังคม ซึ่งในเดือน 6 ตามจันทรคติ อยู่ระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. ซึ่งเป็นช่วงเริ่มฤดูทำนา (ปีนี้ เดือน 6 ที่จัดประเพณีบุญบั้งไฟได้ จะเริ่มวันที่ 7 พ.ค.- 2 มิ.ย.) จึงมีบุญประจำเดือน 6 คือ“บุญบั้งไฟ” เพื่อจุดบั้งไฟบูชาพระยาแถน หรือเทวดาผู้ดลบันดาลให้เกิดฝน

ช่วงหลังที่มีการการประชันขันแข่งบั้งไฟโดยการจับเวลา ขึ้น-ลง บั้งไหนทำเวลามากกว่ากัน ทำให้คนให้ความสำคัญกับการจุดบั้งไฟขึ้นสูง ทำเวลานาน และเป็นฝ่ายชนะสร้างชื่อ และธุรกิจตามมา จนลืม “พระยาแถน” ไปเลย

ถ้าดูมาตามเวลาที่เกิดเหตุบั้งไฟที่อยู่ระหว่างการล้างบั้งไฟ เพื่อประกอบชนวนเตรียมนำขึ้นจุดบนฐาน เป็นเวลาช่วงบ่ายแก่ ๆ ราว 16.00 น.นั่นแสดงว่าจำนวนบั้งไฟที่นำมาจุดที่บ้านเหมือดแอ่ วันนั้นจะต้องมีจำนวนมาก และมีบั้งไฟต่างถิ่นด้วย เช่นบั้งไฟที่เกิดเหตุมาจาก อ.ศรีบุญเรือง ที่ต่างอำเภอออกไป

4 โมงเย็นยังล้างรูบั้งไฟนี่แสดงว่าคิวยาว และอีกอย่างมันมาจากการ “แข่งขัน” ที่แต่ละค่าย แต่ละบั้งมักจะดึงเวลาในจุดที่ทัศนวิสัยเอื้ออำนวย ส่วนมากจะเลือกช่วงอากาศครึ้ม ๆ แดดไม่จัดเป็นเวลาปล่อยบั้งไฟ เพราะทำให้บั้งไฟพุ่งขึ้นและอยู่ในอากาศได้นานกว่าช่วงแดดจัดที่การเผาผลาญเร็ว

ดึงเวลาไปเรื่อย ล้างรูบั้งไฟ ใช้หล็กหมุนแท่งดินปืนที่อัดแน่นจากการอัดด้วยไฮโดรลิคเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มาแทนระบบอัดบั้งไฟด้วยแรงคน และแม่แรงอัด ทำให้แท่งดินปืนในบั้งไฟแข็งเป๊ก

การล้วงรู และขยายรูบั้งไฟโดยใช้เหล็กหมุนนาน ๆ โดยไม่ใช้น้ำหล่อเลี้ยงก็จะเกิดความร้อนและปะทุขึ้น และเป็นสาเหตุพื้นฐานของอุบัติเหตุบั้งไฟทั่วไปที่มาจากความประมาท ซึ่งพรุ่งนี้เจ้าของบั้งไฟมอบตัวคงจะให้การกับตำรวจว่าสาเหตุจริง ๆ มันมาจากอะไร

ปัญหาที่เกิดขึ้น แน่นอนว่ามันมีเรื่อง “การแข่งขัน “ เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อมีการแข่งขันก็ย่อมมี “พนัน” เพราะคงไม่มีใครใจบุญถึงขนาดขนบั้งไฟข้ามอำเภอ ข้ามจังหวัดไปตระเวณจุดบูชาพระยาแถนแบบฟรี ๆ ทุกปีหรอก

เรื่อง “พนันบั้งไฟ” ที่เป็นปัญหาใหญ่ในภาคอีสาน ที่ยิ่งปราบก็ยิ่งขยายวงกว้าง ผมไปเจอข้อมูลที่ “สดใส สร่างโศรก” ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับการพนันบั้งไฟ เห็นตัวเลขวงเงินพนันบั้งไฟทั้งในย่านอีสานล่าง และอีสานเหนือแล้วต้องตกใจ

วงการพนันบั้งไฟ เล่นกันทั้งในฤดูกาล ที่อนุโลม ช่วงเดือนพ.ค.-มิ.ย. และนอกฤดูกาลสะดวกและเคลียร์ที่ไหนลงตัวก็จัดตั้งสนามแข่งบั้งไฟเพื่อพนันกันล้วน ๆ ที่มีบรรดาเซียนบั้งไฟแห่ไปใช้บริการ บางสนามคนเป็นหมื่น

 จากการศึกษาพบว่า บรรดาเซียนอีสานล่างนี่มือหนักกว่าเซียนอีสานเหนือ ว่ากันว่า “อีสานเหนือเล่นระดับพัน-ระดับหมื่น แต่อีสานใต้เล่นระดับแสน-ระดับล้าน” ประมาณการวงเงินพนันบั้งไฟทั้งภาคอีสานในรอบ 1 ปี อยู่ที่ 5.6 หมื่นล้านบาท

แยกเป็นในเขตอีสานเหนือ 1.4 หมื่นล้านบาท จำแนกเป็น ในเทศกาล (เม.ย.–ก.ค.) รวม 122 วัน มีวงเงินพนัน 7.5 พันล้านบาท นอกเทศกาล ประมาณ 227 วัน วงเงินพนัน 6.8 พันล้านบาท และเขตอีสานใต้ มีเพียงในเทศกาล (เม.ย.-ก.ค.) 122 วัน ประมาณการวงเงินพนันอยู่ที่ 4.2 หมื่นล้านบาท

นี่เป็นตัวเลขที่ยืนยันว่าพนันบั้งไฟมันมีแทบทุกสนาม ไม่ว่าจะเป็นสนามจุดตามฤดูกาล หรือนอกฤดูกาล ที่มีเงินสะพัดปีละ 5.6 หมื่นล้าน ที่ทำให้มีคนหัวใสจับธุรกิจนี้เป็นล่ำเป็นสัน

การแข่งขันหายากที่ไม่มีที่ไหนไม่โกง ได้เวลาตามคิวจุดพออากาศไม่เป็นใจก็อ้างโน่นอ้างนี่ ถ่วงเวลาไปเรื่อย วิธีการที่เจ้าตำรับบั้งไฟใช้ถ่วงเวลาก็คือการ “ล้างบั้งไฟ” ล้างมันอยู่นั่น ทั้งหมุนเซาะรูเรื่อย ๆ เพื่อให้ดูว่ายังไม่พร้อม และเมื่อพลาดก็เกิดอุบัติเหตุ เกิดความเสียหายอยู่เรื่อย ๆ จนบั้งไฟกลายเป็น “ฑูตมรณะ”ครั้งแล้วครั้งเล่า

ประเพณีบุญบั้งไฟ มันเป็นสนามประลองบั้งไฟไปแล้วครับ ถึงเวลานี้ “พระยาแถน” ก็คงงง ว่าคนข้างล่างมันเดือดร้อนอะไรนักหนา ถึงจุดบูชาขอฝนได้ทั้งปีทั้งชาติ.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์