X

ตำรวจ กฎหมาย ชาวบ้าน และหมวกกันน็อค

คลิปที่ พ.ต.อ. ชัชปัณฑกานฑ์ คล้ายคลึง รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จังหวัดนครปฐม ที่ไปสังเกตการณ์ที่หน้าโรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย กับการไม่ค่อยจะมีใครสวมหมวกกันน็อค จนหลุดประโยคเด็ด “ถ้าผมมีอำนาจ ผมจะย้าย…ทั้งเมือง”

พอระดับรองผู้บังคับการพูดในเชิงคาดโทษ ที่ตำรวจตั้งแต่ระดับผกก.,รอง ผกก.จราจร ไม่เอาใจใส่ กวดขันให้ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อค ถูกแชร์กันสนั่นในโลกออนไลน์ วันรุ่งขึ้น ตำรวจ สภ.เมืองนครปฐม ก็แยกร่างทั้งแบ่งกำลังไปอำนวยความสะดวกบนถนนเพชรเกษม ที่จราจรหนักหนาสากรรจ์ในฐานะที่นครปฐมเป็นเมืองศูนย์กลางที่รถต้องผ่านไปหลายภาค อีกส่วนต้องมาลงพื้นที่ในตัวเมืองเพื่อแนะนำให้ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์สวมหมวกกันน็อค

พ.ต.อ.ชัชปัณฑกานฑ์ พูดก็มีเหตุผล เพราะสังเกตดูในเมืองชั้นในของนครปฐม ก็จะรู้สึกได้ว่าผู้คนที่ใช้มอเตอร์ไซค์ สวมหมวกกันน็อคบางตา ที่ รอง ผู้การฯ คุยกับนักเรียนที่ไม่สวมหมวกกันน็อคยิ่งชัดว่า มันเป็นเรื่องปกติ เพราะตำรวจไม่จับ ครูก็ไม่ว่า นั่นก็เข้าข่ายการไม่บังคับใช้กฎหมาย และไม่รณรงค์ให้คนสวมหมวกกันน็อค

การสวมหมวกกันน็อค ที่ชื่อก็บอกชัดอยู่แล้ว ของผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ ความจริงแล้วมันต้องเป็น “สัญชาตญาณ”ของผู้ใช้รถ ใช้ถนนในสภาพที่ “เนื้อหุ้มเหล็ก” อวัยวะส่วนสำคัญเมื่อเกิดอุบัติเหตุ จะเล็กหรือใหญ่ก็อยู่ที่ศีรษะ ตัวเลขทางสถิติอุบัติเหตุจากมอเตอร์ไซค์ที่ทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บ และพิการ ส่วนใหญ่ก็เริ่มจากบริเวณศีรษะได้รับการกระทบกระเทือน

พอตำรวจไม่กวดขัน หรือสถานศึกษาไม่รณรงค์ให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการต้องสวมหมวกกันน็อค ก็ยิ่งไปกันใหญ่ วนกลับเข้าสู่จุดเดิมของธรรมชาติของคน ที่จากการวิจัยสาเหตุของผุ้ที่ไม่สวมหมวกกันน็อค โดยมูลนิธิไทยโรดส์ และเครือข่ายเฝ้าระวังสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนพบว่า คนไทยยังมีความเชื่อและความเห็น 10 อย่างที่ไม่ถูกต้องในการไม่สวมหมวกกันน็อค

ทั้งความคิดที่ผิดทั้ง 6 ข้อแรก ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางระยะใกล้ไม่น่าจะเป็นอะไร แต่ข้อมูลกลับพบว่าสถิติอุบัติเหตุ 36.4% ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเหตุเกิดในรัศมี 1 กม.จากบ้านหรือที่พัก, ไม่ขับบนถนนใหญ่ไม่ต้องสวม นั่นก็ผิดเพราะอุบัติเหตุของมอเตอร์ไซค์ กว่า 2 ใน 3 เกิดบนถนนสายรอง ถนนในหมู่บ้าน ในเมือง  ในเขตเทศบาลและทางหลวงชนบท มีเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่เกิดอุบัติเหตุบนถนนสายหลัก  และข้อ 5 ที่บอกกลัวผมเสียทรง ส่วนมากจะเป็นวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษาจะพบเยอะมาก

เมื่อผู้คนมีความเชื่อที่ผิดและหน่วยงานไม่รณรงค์ กระตุ้นให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องจนเกิดเป็นสัญชาตญาณของผู้ขับขี่ว่าต้องสวมหมวกกันน็อค ก็มาถึง ข้อ 7 “ตำรวจไม่จับ” ทุกข้อ ใน 9 ข้อก็ยังเป็นสิ่งที่ถูกต้องของคนบางกลุ่มที่อ้างเป็นเหตุผลที่ไม่สวมหมวกกันน้อค

พ.ต.อ. ชัชปัณฑกานฑ์  ได้เรียกประชุมงานจราจร สภ.เมืองนครปฐม พร้อมกำหนดแนวทางไว้ให้ปฏิบัติ 4 ข้อ

1. การปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจทุกนายให้ปฏิบัติงานตามโครงการบริการประชาชนบนสถานีตำรวจ อย่างเป็นรูปธรรม และต่อเนื่อง

 2.กวดขันจับกุมรถจักรยานยนต์ รถแข่งที่แข่งในทาง โดยไม่ได้รับอนุญาต

3.กำชับให้จัดการจราจรในช่วงวันหยุด ไม่ให้มีการจราจรติดขัด

4.ให้ผู้บังคับบัญชาลงมาปฏิบัติหน้าที่เคียงบ่าเคียงไหล่กับผู้ใต้บังคับบัญชา ในการดูแลรับใช้ประชาชน

เป็นการบ้านชิ้นใหญ่ ของ พ.ต.ท.จุลภณ มีชำนาญ รอง ผกก.จร.สภ.เมืองนครปฐม ร.ต.อ.โสภณ แช่มเล็ก รอง สว.จร.สภ.เมืองนครปฐม และเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สภ.เมืองนครปฐม ในการกวดขันให้ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ต้องสวมหมวกกันน็อค

แต่ปัญหาสำหรับ “ตำรวจเมือง” กับการกวดขันให้สวมหมวกกันน็อค โดยเฉพาะมาตรการ “จับ ปรับ ดะ” นี่จะแตกต่างกับตำรวจนครบาล เพราะสภาพท้องที่ต่างกัน ตำรวจภูธรในเขตเมืองกับผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ ถ้าไม่มีศิลปะในการจัดการที่ดีพอเผลอๆ ตำรวจก็อยู่ยาก ทำงานลำบาก ถูกสังคมบีบ เพราะโดยส่วนใหญ่เป็นสังคมที่คนรู้จักกัน

ขนาดตำรวจสวมไอ้โม่ง ใส่แว่นดำ ตั้งด่านตรวจจับ คนก็จำรหัสตัวเลขบนหมวกกันน็อคตำรวจจราจรได้ สุดท้ายถ้าเข้มงวดกับมอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อคแบบตั้งเป้าคดี ไม่เฉพาะตำรวจจะมีปัญหาความไม่เข้าใจกับชาวบ้าน แต่ตำรวจเองนั่นแหละจะมีปัญหากันเอง

หลายปีก่อนเคยมีเหตุการณ์ตำรวจชั้นผู้น้อยชุมนุมไล่ผู้กำกับสภ.เมืองขอนแก่น เพราะไปตั้งเป้าให้ตำรวจจราจรจับผู้ขับมอเตอร์ไซค์ไม่สวมหมวกกันน็อค จนผู้ใต้บังคับบัญชาต้องปั๊มยอดคดี จนสุดท้ายผู้กำกับต้องถูกย้ายเป็นข่าวฮือฮามาแล้ว

พ.ต.อ. ชัชปัณฑกานฑ์   คล้ายคลึง รองผบก.ภ.จว.นครปฐม ที่เคยเติบโตในหน้าที่มาจากขอนแก่นก็เข้าใจเหตุการณ์ครั้งนั้นเป็นอย่างดี.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์