X
ผอ,อาชีวศึกษา

สอบคัดเลือกผอ.อาชีวะ สอศ.ต้องแจงหลักเกณฑ์ให้ชัด

การสอบคัดเลือกผู้อำนวยการวิทยาลัย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ทั่วประเทศ ที่ปีนี้มีอัตราว่างทั้ง 61 ตำแหน่ง ที่ดำเนินการหลักเกณฑ์และได้บุคคลที่ขึ้นบัญชีเพื่อเป็นผู้อำนวยการเรียบร้อยแล้ว

สอศ.ประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกเพื่อขึ้นบัญชีบรรจุแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถานศึกษา จำนวน 729 คน   (ตรวจสอบรายชื่อผู้ขึ้นบัญชี) เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา และแจ้งให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกและขึ้นบัญชีในอันดับ 1-80 ให้เข้าร่วมพัฒนาฯก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฯ วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยอาชีวศึกษา วิทยาลัยสารพัดช่าง และวิทยาลัยการอาชีพ ในวันที่ 29 พ.ค. สิ้นสุดวันที่ 29 มิ.ย. เพื่อบรรจุให้ดำรงตำแหน่ง ภายในวันที่ 1 ก.ค.นี้

ที่เขียนถึงประเด็นนี้เพราะก่อนหน้านี้มีผู้ที่เข้าสอบที่เป็นระดับรองผอ.ร้องเรียนว่าการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการฯ ว่าปีนี้ไม่โปร่งใส และเรียกร้องให้ สอศ.ทำการสอบคัดเลือกใหม่ และให้เปลี่ยนกรรมการในการสอบคัดเลือกที่มาจากหลายฝ่ายเพื่อความเป็นธรรม และป้องกันการเล่นเส้น

แต่ดูเหมือนข้อร้องเรียนจะไม่มีเสียงตอบรับจากระดับนโยบายของ สอศ.และกระบวนการทุกอย่างยังเดินหน้าตามปกติ และการประกาศผลคัดเลือกผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเพื่อขึ้นบัญชีบรรจุแต่งตั้ง จากเดิมกำหนด ประกาศวันที่ 23 พ.ค.เลื่อนประกาศเร็วขึ้นเป็นวันที่ 16 พ.ค.

ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นความไฝ่ฝันของทุกคนครับ โดยเฉพาะคนที่ผูกพันอยู่กับองค์กร ทุ่มเททำงานมานับ 20-30 ปี หากมีโอกาสเลื่อนตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการก็ถือเป็นบำเหน็จรางวัลของการทำงานที่ควรค่ายิ่ง

แต่ปัญหาข้อร้องเรียนน่าจะมาจากความเข้าใจของผู้เข้าสอบ และอาจประกอบการการชี้แจงของ สอศ.เกี่ยวกับเกณฑ์ในการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการไม่ชัดเจนพอ เพราะดูเหมือนว่าบางคนก็ยังเอาไปเปรียบเทียบการเกณฑ์ในการสอบคัดเลือกผู้อำนวยการ ในหน่วยงานที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) เพราะในความเป็น “ครู”เหมือนกัน การขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารก็น่าจะมีเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกัน

หลักเกณฑ์ วิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรอง ผอ.และผอ.สถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ใหม่ ประกาศใช้เมื่อปี 2558  ซึ่งการแก้ไขระเบียบก็ให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันการวิ่งเต้น และได้ผู้บริหารที่เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่

หลักเกณฑ์ ของ สอศ.จะแตกต่างกับหลักเกณฑ์ของ สพฐ. โดยเฉพาะในส่วนของกลุ่มประสบการณ์ที่จะไม่มีการสอบข้อเขียน แต่จะมีการสอบสัมภาษณ์และประเมินประวัติ ผลงานที่เน้นประสบการณ์ทางการบริหารเป็นหลัก โดยให้เหตุผลว่าผู้บริหารของอาชีวศึกษาจะมีความเฉพาะทางและหลากหลายในวิชาชีพมากกว่า สพฐ. จึงต้องการเน้นประสบการณ์การทำงานของผู้บริหาร การไปสอบข้อเขียนที่อาจจะไม่เอื้อหรือตอบสนองต่อการคัดเลือกบุคลากร

การที่ไม่เน้นข้อเขียนในการสอบจึงกลายเป็นคำถามว่า จะสอบเอาอะไร แค่มานั่งถามคำถามเดียว เช่นถามว่า “ถ้าท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการท่านจะมีวิธีบริหารจัดการสถานศึกษาอย่างไร” และคำถามเดียวนี่แหละก็ให้ทุกคนที่เข้าสอบโดยผ่านการคัดเลือกคุณสมบัติแล้ว 729 คนตอบ

บางคนก็รู้สึกว่าไม่แฟร์ เพราะตัวเองพูด หรือนำเสนอไม่เก่ง แต่ถ้าให้เขียนนั่นพอได้ กรรมการก็หาทางออกพบกันครึ่งทางคือให้เขียนบรรยายคำตอบแล้วให้มานำเสนอในเวลา 5 นาที 8 นาที ตามที่เขียนมา ลีลาการเขียน กับลีลาการพูดบางคนก็อาจไปคนละทิศละทาง ยิ่งเวลาจำกัดก็ยิ่งรวน นี่ก็เป็นปัญหาที่ค้างคาใจ ที่ สอศ.จะต้องอธิบายให้เข้าใจมากกว่านี้

ผมสอบถามคนที่อยู่ในหน่วยงานราชการหลายแห่งในการสอบเลื่อนชั้นเป็นระดับ 8 ระดับ 9 ช่วงหลัง ๆ นี่ ส่วนใหญ่ก็เล่นด้นสด สัมภาษณ์คำถามเดียวกันทุกคนของผู้เข้าสอบ บอกล่วงหน้าให้เตรียมตัวมา บางที่ก็ให้ 3 คำถามไป จับสลากได้คำถามไหนก็ตอบตามนั้น

ประวัติ ผลงานแต่ละคนที่ผ่านการคัดเลือกและมีสิทธิเข้าสอบส่วนใหญ่คะแนนพื้นฐานก็ใกล้เคียงกัน จะต่างกันแค่ “วิสัยทัศน์” ที่จะทำหน้าที่ผู้บริหารเท่านั้น.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์