X

ป.ป.ช.ประเมินจัดเกรด อปท.ทั่วประเทศต้านโกง

เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เสนอผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั่วประเทศ ประจำปีงบประมาณ 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่ ป.ป.ช.ทำการประเมิน

การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ของ ป.ป.ช. เป็นไปตามตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปราบการทุจริต ระยะที่ 3 (2560-2564) ของไทยที่เน้นมาตรการป้องกันการทุจริตเชิงรุกที่หน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศต้องดำเนินการ เพื่อเข้าร่วมการประเมินด้านคุณธรรมและความโปร่งใส และนำผลประเมินไปปรับปรุงประสิทธิภาพการให้การบริการ และการอำนวยความสะดวกกับประชาชนเพื่อให้เข้าถึงการบริการสาธารณะด้วยความเป็นธรรมผ่านการปฏิบัติอย่างมีมาตรฐาน

เป็นมาตรการที่จะป้องกันด้านความเสี่ยงต่อการทุจริต การรับสินบน  หรือการมีผลประโยชน์ทับซ้อน โดย ครม.มีมติเมื่อวันที่ 23 ม.ค.2561 ให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือ และเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปีงบประมาณ 2561-2564 โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)  เพื่อนำผลการประเมินไปปรับปรุงและพัฒนาหน่วยงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

กรอบการประเมิน จาก 10 ตัวชี้วัด ประกอบด้วย

การปฏิบัติหน้าที่

การใช้งบประมาณ

การใช้อำนาจ

การใช้ทรัพย์สินทางราชการ

การแก้ไขปัญหาการทุจริต

คุณภาพการดำเนินงาน

ประสิทธิภาพการสื่อสาร

กาปรับปรุงระบบการทำงาน

การเปิดเผยข้อมูล

การป้องกันการทุจริต

ผลการประเมินและให้คะแนนอปท.ทั่วประเทศ(ยกเว้นกรุงเทพมหานคร)  แยกเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76 แห่ง, เทศบาลนคร 30 แห่ง, เทศบาลเมือง 178 แห่ง ,เทศบาลตำบล 2,233 แห่ง ,องค์การบริหารส่วนตำบล 5,333 แห่ง และการปกครองระบบพิเศษ 1 แห่ง แบ่งระดับคะแนนผลการประเมินเป็น AA,A,B,C,D,E,F จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน สำหรับคะแนนที่ต่ำกว่า 50 หรือระดับ F ที่ถือว่าเป็นองค์กรที่ต้องทำการปรับปรุง

ระดับองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่ได้คะแนนมากที่สุด

1.อบจ.กระบี่ ผลประเมิน 92.33 ระดับ A

2. อบจ.ฉะเชิงเทรา ผลประเมิน 90.82 คะแนน ระดับ A

ระดับเทศบาลนคร ที่ได้คะแนนมากที่สุด

1.ทน.หาดใหญ่ จ.สงขลา  ผลประเมิน 90.66คะแนน ระดับ A

2.ทน.ขอนแก่น จ.ขอนแก่น ผลประเมิน 86.80 คะแนน ระดับ A

ระดับเทศบาลเมือง  ที่ได้คะแนนมากที่สุด

1.ทม.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ผลประเมิน 97.31 ระดับ AA

ระดับเทศบาลตำบล ที่ได้คะแนนมากที่สุด

1.ทต.กุดโง้ง อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี ผลประเมิน 97.61 ระดับ AA

2.ทต.แสนไห อ.เวียงแหง จ.เชียงใหม่ ผลประเมิน 95.39 ระดับ AA

3.ทต.อุดมธัญญา อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ผลประเมิน 96.78 ระดับ AA

4. ทต.นาม่อง อ.กุดบาก จ.สกลนคร ผลประเมิน 96.66 คะแนน ระดับ AA

5.ทต.โคกภู อ.ภูพาน จ.สกลนคร ผลประเมิน 96.65 คะแนน ระดับ AA

6.ทต.กลางดง อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย ผลประเมิน 95.88 คะแนน ระดับ AA

7.ทต.บุแกรง อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ผลประเมิน 96.67 คะแนน ระดับ AA

ระดับองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีคะแนนมากที่สุด

อบต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์  ผลประเมิน  95.51 คะแนน ระดับ AA

อบต.อินทร์แปลง อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ผลประเมิน 95.50 คะแนน ระดับAA

อบต.เป็นสุข อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ผลประเมิน 96.14 คะแนน ระดับ AA

อบต.จอมพระ อ.จอมพระ จ.สุรินทร์ ผลประเมิน 98.20 คะแนน ระดับ AA

อบต.สุวรรณคาม อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร ผลประเมิน 95.58 คะแนน ระดับ AA

อบต.หนองปลิง อ.นิคมน้ำอูน จ.สกลนคร ผลประเมิน 97.75 คะแนน ระดับ AA

อบต.ทุ่งโพธิ์ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ผลประเมิน 95.76 คะแนน ระดับ AA

อบต.กุดโบสถ์ อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา ผลประเมิน 96.21 คะแนน ระดับ AA

อบต.กุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ผลประเมิน 97.72 คะแนน ระดับ AA

สมศักดิ์ กิตติธรกุล นายกอบจ.กระบี่  6 สมัย บอกถึงผลการประเมินที่อบจ.กระบี่ ได้คะแนนระดับต้นๆ ว่า อบจ.กระบี่ ถูกเลือกเป็น อบจ.ต้นแบบอยู่แล้ว ผลประเมินออกมาจึงไม่เกินคาดหมาย โดยเฉพาะการป้องกันการทุจริต ในโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ของ อบจ.ที่แทบไม่เคยพบหน้ากับคู่สัญญาเลย จะพบก็ต่อเมื่องานมีปัญหาเท่านั้น

นายกฯสมศักดิ์ บอกว่า การป้องกันการทุจริตที่ดีที่สุดคือการสร้างความโปร่งใส เมื่ออบจ.ในฐานะคู่สัญญากับผู้รับจ้างไม่มีนอกไม่มีใน ก็ให้ประชาคมหมู่บ้านที่มีตัวแทนหมู่บ้านละ 5 คน ร่วมกันตรวจสอบโครงการก่อสร้างในพื้นที่ว่าถูกต้องตามสัญญาหรือไม่ หากไม่ทำตามสัญญาก็ต้องมีการแก้ไขจนเป็นที่พอใจผู้รับจ้างส่วนใหญ่ก็ยินดีเพราะปกติถ้าตรงไปตรงมา งานรับเหมาก่อสร้างมีกำไรอยู่แล้ว และส่วนใหญ่การก่อสร้างถนนลาดยาง อบจ.จะดำเนินการเอง เพราะทำได้ในราคาถูกกว่าการจ้างผู้รับเหมา  ก.ม.ละ 7-8 แสนบาท เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ ยกเว้นถนนคอนกรีตที่ต้องจ้างผู้รับเหมา

“ลูกน้องเราผมก็พยายามบอกไม่ให้ใกล้ชิดกับคู่สัญญาจนเสี่ยงต่อการเอื้อประโยชน์กันได้ เมื่อเราไม่มีผลประโยชน์กับผู้รับเหมา ประชาคมหมู่บ้านก็จะตรวจสอบอีกชั้น หากมีอะไรที่ไม่ถูกต้องชาวบ้านก็รายงานมาที่ผมอยู่ดี”

ธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่น  บอกถึงรูปแบบการบริหารของเทศบาลนครขอนแก่น ที่มีงบประมาณปีละประมาณ 1,300 ล้านบาท ว่า สิ่งที่ยึดถือมาตลอดในการสร้างธรรมาภิบาลที่สำคัญมี 3 อย่าง 1.การมีส่วนร่วม 2.โปร่งใส 3.กระจายอำนาจ ทุกโครงการของเทศบาลฯจะต้องให้สภาเมืองที่มีตัวแทนชุมชนทั้งหมดเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ถ้าเห็นชอบก็ทำ ถ้าสภาเมืองไม่เห็นด้วยก็ตกไป

การจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส เราแทบไม่เคยคุยกับผู้รับเหมา ทำให้ประหยัดงบประมาณได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 10 ล้านบาท  นอกจากนี้ยังได้สร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมาโดยให้ผู้นำ 95 ชุมชน ทำหน้าที่เสมือนนายกเทศมนตรีอีกคนหนึ่งที่จะดูแล บริหารจัดการชุมชนของเขา ชุมชนต้องการอะไรเทศบาลก็จัดงบประมาณให้ นอกจากนี้ชุมชนยังทำหน้าที่แทนเทศบาลเช่นจัดเก็บค่าขยะ ที่เทศบาลเก็บเองได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เมื่อชุมชนจัดเก็บส่งให้เทศบาลเองกลับเก็บได้ทะลุเป้า จนกลายเป็นขอนแก่นโมเดล

ตัวอย่าง ทั้งอบจ.กระบี่ และเทศบาลนครขอนแก่น ที่ได้รับคะแนนประเมินในระดับต้น ๆ มีความคล้ายคลึงกัน คือการวางตัวของผู้นำองค์กรที่พยายามไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์จากการใช้จ่ายงบประมาณ และการสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการยบริหารจัดการ ซึ่งเป็นรูปแบบที่นำมาซึ่งความสำเร็จที่สะท้อนผ่านการประเมินครั้งนี้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์