X
รถไฟทางคู่

เสียดายเงินก่อสร้างจุดตัดรถไฟทางคู่เมืองพล

ทางข้ามจุดตัดรถไฟทางคู่ช่วงเมืองพลสร้างเสร็จแล้วโดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของชาวบ้าน จนกลายเป็นทางข้ามที่พิลึกพิลั่น สร้างเสร็จคนไม่ใช้ แถม รฟท.ยังเปิดจุดเดิมที่เคยข้ามตั้งแต่สมัยโบราณให้ใช้ได้เหมือนเดิม ทั้ง ๆ ที่ “ดื้อ”มาตลอด  มันชักดูแปลก ๆ

วันนี้ผมแวะไปที่เมืองพล จ.ขอนแก่น เพื่อไปดูว่าการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ช่วงชุมทางจิระ นครราชสีมา-ขอนแก่น ที่มีปัญหากับการก่อสร้างบริเวณจุดตัดระหว่างถนนกับรางรถไฟ ที่จากเดิมเป็นรางเดี่ยว มาเป็นรางคู่ที่ระยะการข้ามเพิ่มขึ้น และชาวบ้านที่เมืองพลทั้งร้องเรียน ทั้งนำเสนอคัดค้านแบบแปลนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)และ สำนักนโยบายขนส่งและจราจร (สนข.) แต่ก็ไร้ผล

ชาวบ้านนำโดยสภาองค์กรชุมชนเทศบาลเมืองเมืองพล ร่วมกับหลายองค์กร เขาเสนอแนวทางแก้ปัญหาทางข้ามจุดตัดทางรถไฟฝั่งทิศตะวันออกของตัวเมืองพลที่เป็นตลาดเก่า ทั้ง3 จุด ตั้งแต่จุดตัดถนนเมืองพล-แวงใหญ่ –ชัยภูมิ จุดตัดถนนสายเมืองพล-แวงใหญ่ และจุดตัดบริเวณชุมชนศรีเมือง-บ้านชัยประเสริฐ โดยการสร้างทางรถไฟทางคู่ยกระดับผ่านตัวเมือง (ตามภาพข้างล่าง) เหมือนการสร้างข้ามตัวเมืองขอนแก่นจะแก้ปัญหาได้ทั้งหมด รวมทั้งการแก้ปัญหาน้ำท่วมเมือง

รฟท.และสนข.ยืนยันจะสร้างสะพานเกือกม้าวนข้าม และรูลอด ชาวบ้านก็ค้านบอกเป็นการก่อสร้างไม่ผ่านการทำประชาพิจารณ์ เนื่องจากผลกระทบมันเยอะมากเพราะการข้ามจุดตัดของคนจากตัวเมืองพลข้ามทางรถไฟไปฝั่งตะวันออกมีโรงเรียนขนาดใหญ่ของเมือง 2 แห่ง ทั้งสำนักงานที่ดิน สำนักงานขนส่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาฯ สำนักงานบังคับคดี ฯลฯ อยู่ฝั่งตะวันออกหมด ตอนเช้า ตอนเย็นบริเวณทางข้ามจุดนี้จะพลุกพล่านมาก หรือผู้คน จากอ.แวงน้อย อ.แวงใหญ่ อ.มัญจาครี  หรือจาก จ.ชัยภูมิ จะขนพืชผลทางการเกษตร หรือสินค้าเข้าตัวเมืองพล หรือผ่านถนนมิตรภาพ มันมีปัญหาแน่ ๆ

สะพานเกือกม้าสร้างเสร็จแล้ว ผมไปเห็นมากับตาก็ต้องบอกว่า “มันไม่คุ้ม” และก็เป็นอย่างที่คุณวิชิตชนม์ ทองชน ที่ปรึกษาสภาองค์กรชุมชนเทศบาลเมืองเมืองพล บอกกับ “77 ข่าวเด็ด” ตั้งแต่ ปี 2561 ที่ชาวบ้านตื่นตัวออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านแล้ว

สะพานเกือกม้าตีวนข้ามจุดตัด ถนนสายเมืองพล-แวงน้อย ที่ทะลุถึง จ.ชัยภูมิ ที่เรียกกันว่า “จุดตัด มพค.”(เมืองพลพิทยาคาร) หรือ รูลอดจุดตัด ถนนสายเมืองพล-แวงใหญ่ สร้างเสร็จแต่ไม่มีใครสนใจจะใช้ เพราะดูทางกายภาพแล้วมันไม่เหมาะจะเป็นเส้นทางสัญจรทางรถยนต์ ทั้งแคบ คด เอียง ส่วนใหญ่ช่วงเย็น ๆ ก็จะมีบรรดาผู้รักสุขภาพใช้เป็นที่วิ่งออกกำลังกายแบบลอยฟ้าเท่ ๆ

สุดท้ายก็ตามป้ายที่เห็น รฟท.ลงทุนสร้างเกือกม้าเป็นทางข้ามจุดตัดหมดงบฯ ไม่น้อย และพอสร้างสะพานเกือกม้าบริเวณจุดตัด มพค. เสร็จ อยู่ ๆ รฟท. กลับขึ้นป้าย “ถนนข้ามทางรถไฟนี้ จะปรับปรุง และมีเครื่องกั้นให้สัญจรได้ตามเดิม”  จุดตัดจุดเดียวมีทั้งสะพานเกือกม้าข้าม และที่เคยข้ามแบบเดิม ๆ มาตั้งแต่เริ่มมีรถไฟ ก็ยังข้ามได้เหมือนเดิม แล้วแบบนี้จะลงทุนให้เปลืองเงิน เปลืองเวลาทำไม ที่สำคัญคือถ้ารถไฟทางคู่เปิดใช้จริง ปัญหารถติดย่านนี้จะหนักหนาสากรรจ์ แน่นอน เพราะเหมือนถูกแซนวิสด้วยถนนมิตรภาพกับรถไฟทางคู่

นี่เป็นการแก้ปัญหาแบบคนจนตรอก และไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมาหลังรถไฟทางคู่วิ่งจริง ๆ รับรองว่าปัญหาใหม่เกิดขึ้นแน่ หรือเป็นการวางกับดัก หากจุดตัดที่ใช้แผงกั้นมันไม่ปลอดภัย หรือสร้างปัญหาการจราจรก็ผลักให้ชาวบ้านไปใช้เกือกม้าที่สร้างเสร็จแต่คนเมิน ?

ชาวบ้านร้องเรียนตั้งแต่หน่วยงานระดับท้องถิ่น ยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี ,รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม,ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ แต่ก็ไร้ผลแต่ก็ยังดันทุรังสร้างจนชาวบ้านต้องฟ้องต่อศาลปกครอง เมื่อ 25 ธ.ค.2561 และศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2562 ก็เป็นคิวที่ รฟท., สนข.และบริษัทร่วมค้าฯ จะต้องทำรายละเอียดชี้แจงกับศาลต่อไป

โครงการรถไฟทางคู่ 1 ในเมกกะโปรเจคสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่วางเป้ากู้เงิน 2 ล้านล้านบาทมาสร้าง แต่แท้งก่อนลงมือ จน คสช.ยึดอำนาจ และก็เอามาปัดฝุ่น แล้วก็เร่งสร้างจนลืมกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง

ไม่เฉพาะจุดตัดทางรถไฟที่เมืองพลเท่านั้นที่มีปัญหา ทั้งจุดตัดตัวเมือง อ.บัวใหญ่ อ.สีคิ้ว อ.คง จ.นครราชสีมา ก็มีปัญหาคล้าย ๆ กัน คือสร้างแบบ “เอาง่ายเข้าว่า” การประชาพิจารณ์หรือรับฟังชาวบ้านเก็บใส่ลิ้นชัก หรือทำบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ พอเป็นพิธีว่าได้ทำ

นี่แค่รถไฟทางคู่ ถ้าเป็น ถ้าเป็นรถไฟความเร็วสูงหากยังทำตามกระบวนการแบบรวบรัด ไม่ฟังเสียงใครเลย ปัญหาจะเพิ่มมากกว่านี้หลายเท่า.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์