X

53 ปีเขื่อนอุบลรัตน์ วิกฤตแล้ง วิกฤตคน

ถือเป็นช่วงวิกฤตสุด ๆ สำหรับเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ในรอบ 53 ปี ที่วันนี้ยังไม่พ้นหน้าแล้งถึงขั้นต้องขอดน้ำก้นอ่างใช้กันแล้ว

ข้อมูลเขื่อนอุบลรัตน์ ณ วันที่ 8 พ.ค.2562 จากความจุอ่าง 2,431ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำในอ่าง 576 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบได้ 24 เปอร์เซนต์ แต่ที่ใช้ได้จริง ติดลบ 5.41 ล้านลูกบาศก์เมตร นั่นแสดงว่า มีการใช้น้ำก้นอ่างที่สำรองเพื่อความปลอดภัยของตัวเขื่อน นี่ถือเป็นเรื่องไม่ธรรมดา  ที่มีสาเหตุจากทั้งเรื่องภัยธรรมชาติ และการบริหารจัดการโดย “คน”

 

ถึงขั้นใช้น้ำก้นอ่าง จากความจำเป็นที่ยังต้องปล่อยน้ำจากตัวเขื่อนวันละประมาณ  5 แสนลูกบาศก์เมตร เพื่อเยียวยาความจำเป็นของประชาชนที่อยู่ใต้เขื่อนทั้งจังหวัดขอนแก่นและมหาสารคาม ที่เบื้องต้น ต้องพึ่งน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ เป็นน้ำดิบผลิตประปาทั้งหมดประมาณ 60 แห่ง ครอบคุมพื้นที่ 5 อำเภอ 2 จังหวัด ประกอบด้วย อ.น้ำพอง อ.เมือง อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น และ อ.เชียงยืน อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม  และบางส่วนต้องปล่อยเข้าสู่ระบบชลประทานเพื่อการเกษตรที่จำเป็น

นี่เพียงต้นเดือนพ.ค. แล้ว “จะรอดมั๊ย ?” เป็นคำถามตามมา ที่หวังพึ่งก็เพียงฝนมาเร็วเพื่อเติมน้ำในเขื่อน แต่เมื่อดูพยากรณ์อากาศกรมอุตุนิยมวิทยา ก็ยังไม่มีหลักประกันว่าฝนในระดับที่จะทำให้น้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้น พ้นจากสภาพติดลบ

กรมอุตุฯ บอกว่า ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้คาดว่า จะเริ่มต้นประมาณปลายสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม  และจะสิ้นสุดประมาณกลางเดือนตุลาคม

ปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้จะน้อยกว่าค่าปกติ ประมาณร้อยละ 5-10 และจะน้อยกว่าปีที่แล้ว (ปีที่แล้วน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 3) และช่วงต้นฤดูฝน (ประมาณกลาง พ.ค. – มิ.ย.) ปริมาณฝนรวมจะต่ำกว่าค่าปกติ  ช่วงกลางฤดูฝน (ก.ค.– ส.ค.) และช่วงปลายฤดูฝน (ก.ย.-กลาง ต.ค.) ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าปกติ  และที่น่าตกใจก็คือในปีนี้คาดว่าพายุเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยเพียง 1 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือในช่วงเดือนสิงหาคมหรือหรือกันยายน

หวังถึงน้ำในเขื่อนเพิ่มก็ต้องติดตามว่าพายุจะเข้าเมื่อไหร่ หากเป็นช่วงสิงหาคม ตามที่คาดไว้นั่นก็เท่าต้องรอไปอีก 4 เดือน ที่น้ำไหลเข้าอ่างแบบกระปิดกระปรอย แต่ความจำเป็นที่ต้องใช้น้ำ โดยระบายออกจากอ่าง วันละ 5 แสน ลูกบาศก์เมตร นั่นก็เท่ากับว่าต้องขอดน้ำก้นอ่างรอพายุเข้าถึง 60 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือหากมาช้าเดือนกันยายน นั่นยิ่งจะหนักหน่วง เพราะเป็นช่วงปลายฝนแล้ว ยิ่งทำให้ห่วงต่อเนื่องถึงแล้งปี 2563 ว่าจะอยู่กันอย่างไรต่อไป

ลองย้อนกลับไปดูสถิติปริมาณน้ำในเขื่อน ช่วงปี 2561 ต่อเนื่องถึงปี 2562 ที่กำลังมีปัญหาในขณะนี้ จะเป็นชัดเจนครับว่า การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ผิดพลาดอย่างมาก

ดูกันชัด ๆ  ในเดือน มิถุนายน 2561 ช่วงต้นฝน ปริมาณน้ำในเขื่นอุบลรัตน์ มี 1,016 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบได้ 42 เปอร์เซนต์ของความจุอ่าง น้ำไหลเข้าอ่าง วันละ 13.8 ล้านลูกบาศก์เมตร นั่นแหละเป็นที่มาของการเปิดสปิลเวย์ระบายน้ำออกจากอ่างวันละ 10.32 ล้านลูกบาศก์เมตร

ปล่อยน้ำทิ้งแข่งกับเขื่อนภูมิพล กับเขื่อนสิริกิติ์ ที่ตอนนั้นเขื่อนภูมิพลมีน้ำในอ่าง 7,386 ล้านลูกบาศก์เมตร  เทียบได้ 55 เปอร์เซนต์ของความจุอ่าง ต้องระบายออกวันละ 12 ล้านลูกบาศก์เมตร เขื่อนสิริกิต์ มีน้ำในอ่าง 4,979 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบได้ 52 เปอร์เซนต์ของความจุอ่าง ต้องระบายน้ำวันละ 14 ล้านลูกบาศก์เมตร

จึงมีคำถามว่า “คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น” ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่นเป็นประธานมีกรรมการทั้งตัวแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิต จากชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ใช้เหตุผลอะไรปล่อยน้ำทิ้งวันละ วันละ 10.32 ล้านลูกบาศก์เมตร ใกล้เคียงกับเขื่อนภูมิพล และสิริกิติ์ ทั้งที่ขนาดของอ่าง ปริมาณน้ำในอ่างต่างกันลิบลับ?

ระบายน้ำต้นฝนตั้งแต่เดือนมิถุนายน จนถึงเดือนสิงหาคม ทั้งที่ปริมาณน้ำในอ่างมีเพียง 42,34,และ 31 เปอร์เซนต์ตามลำดับ เมื่อฝนไม่มาตามเป้าน้ำก็เหลือค้างอ่างแค่ที่มีอยู่หลังปิดสปิลเวย์ ยิ่งเมื่อเทียบกับการจัดการน้ำในเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ที่อยู่โซนฝนเดียวกัน ยิ่งเห็นข้อแตกต่างชัด เช่นเดือนกรกฎาคม 2561 เขื่อนสิรินธร มีน้ำในอ่าง 902 ล้านลูกบาศก์เมตรเทียบได้ 46 เปอร์เซนต์ของความจุอ่าง ที่นั่นเขาไม่ระบายน้ำแม้แต่หยดเดียว แต่ช่วงเวลาเดียวกัน เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำในอ่าง 825 ล้านลูกบาศก์เมตร เทียบได้34 เปอร์เซนต์ แต่กลับระบายน้ำทิ้ง วันละ 10.28 ล้านลูกบาศก์เมตร

ตั้งแต่เดือนกรกฏาคม-ธันวาคม 6 เดือน น้ำในเขื่อนสิรินธร มีเปอร์เซนต์เก็บกัก ที่ 46,55,64,70,69 และ 67 เปอร์เซนต์ แต่ที่นั่นแทบไม่ระบายน้ำทิ้งเลย …มันจึงสะท้อนว่าการบริหารการจัดการน้ำที่อุบลราชธานี กับที่ขอนแก่น คนที่ตัดสินใจในปัจจัยเดียวกัน กลับใช้เหตุผลคนละมุมชัดเจน

การบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ครับ ระบบฐานข้อมูลของไทยมีเยอะแยะมาก ไม่ใช่ใช้ “ความรู้สึก” ปล่อย ๆ น้ำออกไปก่อน อย่างน้อยก็ไม่ท่วม เพราะถ้านำท่วมเผลอๆ คนตัดสินใจอาจโดนตัดแต้ม แต่แล้งขึ้นมาก็วุ่น ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ตั้งงบประมาณมาใช้ ตั้งเงื่อนไขการใช้น้ำกับชาวบ้านเยอะแยะ นี่ก็เป็นผลพวงของการบริหารแบบคนกลัว ไม่กล้าที่จะยืนยันข้อมูลข้อเท็จจริง

ถ้าคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำจังหวัดขอนแก่น ไม่เชื่อระบบฐานข้อมูลของกรมอุตุฯ กรมชลประทาน ใช้แค่ความรู้สึกพื้น ๆ ก็ได้ครับ คิดตามหลักของนิวตัน น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ อ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์รับน้ำจากจังหวัดหนองบัวลำภู เลย ชัยภูมิ และขอนแก่นบางส่วน ถ้าปริมาณฝนเหนือเขื่อนเยอะ น้ำท่วมด้านเหนือเขื่อน และน้ำในเขื่อนมีเยอะ นั่นแหละถึงมาคิดว่าจะระบายออกที่เหมาะสมอย่างไร

ชาวบ้านท้ายเขื่อนไม่ได้ทำนาปรัง ที่พูดกันไม่ได้มองปัญหาการบริหารจัดการน้ำนะครับ เขาพูดว่าที่ไม่ให้ชาวบ้านทำนาอ้างไม่มีน้ำ เพราะรัฐบาลนี้ข้าวราคาไม่ดีก็อ้างว่าไม่มีน้ำเพราะกลัวชาวนาปลูกข้าวแล้วราคาข้าวตกรัฐบาลเลยกลัวปัญหาเลยไม่ปล่อยน้ำให้ชาวนา นักการเมือง หัวคะแนนฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลก็จะใช้วาทกรรมเหล่านี้บอกกับชาวบ้าน ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือน้ำไม่มีจริง ๆ

การสุ่มเสี่ยงปล่อยน้ำทิ้งต้นฤดูฝนปี 2561 วิกฤตก็เห็นกันชัด ๆ ช่วงนี้ ถึงขั้นต้องขอดน้ำก้นอ่างมาใช้ ไม่ใช่เฉพาะผู้ใช้น้ำเพื่อการเกษตร หรือผู้ใช้น้ำประปาอย่างน้อย 60 สถานีสูบทั้งในขอนแก่น และมหาสารคาม เท่านั้น ที่น่าห่วงมากคือระบบนิเวศน์ในลำน้ำพอง ช่วงท้ายเขื่อนอุบลรัตน์ ถึงเขื่อนชลประทานหนองหวาย ที่มีโรงงานขนาดใหญ่ตั้งอยู่ พอน้ำในเขื่อนน้อย ก็ไม่พอที่จะปล่อยน้ำดีลงมาไล่น้ำเสียในลำน้ำ น้ำเสียจากล่างไหลตีกลับขึ้นบนบ้างแล้ว

ช่วงเมษายน ปลาในลำน้ำพองตายเกลื่อนมีใครสรุปถึงสาเหตุว่าเกิดมาจากอะไร หรือไม่?

ทั้งหลายทั้งมวลเบื้องต้นก็มาจาก “คน”ที่จัดการผิดพลาด ทำให้ผู้คนหลายล้านต้องมาแบกรับวิกฤต เฝ้ารอเทวดามาช่วย.

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์