X

ขอคืนพื้นที่วัด นำร่องพลิกฟื้น”9วัดบันดาลใจ”

วันก่อนนายกเทศมนตรีตำบลธาตุพนม นายขจรศักดิ์ นิตชิน ที่เป็นฝ่ายการเมืองต้องออกมาชี้แจงแบบละเอียดยิบหลังขึ้นป้าย “ขอคืนพื้นที่ เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร” และการระดมเครื่องจักรเพื่อปรับพื้นที่ในบริเวณวัด หลังถูกกลุ่มผู้ค้าในบริเวณวัดที่เป็นเป้าหมายในการจัดระเบียบประท้วงว่าถูกตัดทางทำมาหากินภายในวัดจนเดือดร้อน

ถือเป็นความกล้าหาญของนักการเมืองที่เมื่อทุกอย่างมีข้อสรุปตามแผนแล้วต้องดำเนินการโดยยึดประโยชน์สาธารณะเป็นที่ตั้ง ไม่วอกแวกกับปัญหาคะแนนเสียง ฐานมวลชนสนับสนุน ยิ่งถ้าประเมินแล้วคุ้ม ก็เดินหน้าต่อให้จบ ๆ ไป

ที่นายกฯขจรศักดิ์ ชี้แจงถือเป็นคำชี้แจงที่ชัดเจนแล้วว่า มิอาจปล่อยให้วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร ซึ่งเป็นที่ตั้งขององค์พระธาตุพนม ศูนย์รวมจิตใจทั้งชาวไทยและชาวลาวให้ตกอยู่ในสภาพที่เต็มไปด้วยร้านค้า แผงลอย ล้อเลื่อน ยึดบริเวณวัดเป็นที่ทำมาหากินของคนบางกลุ่มจนขยายอาณาจักรเป็น “มาเฟียคุมวัด” ที่ยิ่งปล่อยนาน ไม่มีใครเร่งจัดการอนาคตการจัดการยิ่งจะลำบาก

การ “ขอคืนพื้นที่วัด เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ วัดพระธาตุพนม”เป็น 1 ใน 9 วัดที่อยู่ใน “โครงการวัดบันดาลใจ” ให้กลับคืนสู่ศูนย์รวมจิตใจของชุมชน” จากแนวคิดที่เกิดจากการปล่อยให้ทุกวันนี้หลายวัดเปลี่ยนบทบาทจากศูนย์รวมจิตใจกลายมาเป็นที่จอดรถ พ่อค้า แม่ค้า ยึดพื้นที่วัดเป็นที่ค้าขาย

“สถาบันอาศรมศิลป์” ที่มีความสนใจในสถาปัตยกรรมที่มีรากมาจากภูมิปัญญาไทยและกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบสถาปัตยกรรม จึงคิดทำโครงการ ‘วัดบันดาลใจ’ ” จากความร่วมแรงร่วมใจของพระสงฆ์ ชุมชน และเหล่าภาคีเครือข่าย  เพื่อพลิกฟื้นวัดให้กลับมาเป็นศูนย์รวมจิตใจคนในสังคมเหมือนก่อน เพื่อคนจะได้หันหน้าเข้าหาวัดมากขึ้นด้วยการปรับโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม ระบบจัดการภายในวัดและกิจกรรมธรรมะต่าง ๆ  และได้รับการสนับสนุนจากหลายองค์กร และเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2557

วัด 9 แห่งที่เป็นต้นแบบของโครงการวัดบันดาลใจประกอบด้วย

วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ

วัดนางชีโชติการาม กรุงเทพฯ

วัดชลประทานรังสฤษดิ์ นนทบุรี

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา

วัดภูเขาทอง อยุธยา

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่

วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร นครพนม

วัดป่าโนนกุดหล่ม ศรีสะเกษ

วัดศรีทวี นครศรีธรรมราช

 

แต่ละวัดมีโครงการอะไรบ้าง

วัดสุทธิวราราม กรุงเทพฯ ตั้งกลางกรุงเทพฯ มีปัญหาชุมชนรุกล้ำวัด เน้นการปรับภูมิทัศน์ให้วัดร่มรื่น วัดกับเมืองและชุมชนอยู่กันได้อย่างลงตัว

วัดนางชีโชติการาม กรุงเทพฯ  มีประเพณีชักพระทางน้ำทุกปี จะปรับปรุงภูมิทัศน์ริมน้ำรองรับประเพณีชักพระ ปรับภูมิทัศน์วัดให้เป็นลานโล่ง ร่มรื่นด้วยต้นไม้

วัดชลประทานรังสฤษดิ์ นนทบุรี  ปรับลานหินโค้งให้พระ 300 รูปมีที่นั่งพียงพอ ให้ประชาชน 2-3 พันคนสามารถอยู่ในบริเวณเดียวกันในพื้นที่ลานหินโค้ง

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อยุธยา ปรับวัดให้มีประโยชน์ใช้สอยโดยคำนึงถึงการอยู่ใกล้พระอุโบสถกลางน้ำ เน้นมิติการเป็นวัดที่อยู่กับน้ำในสถานที่สงบ

วัดภูเขาทอง อยุธยา บูรณะเจดีย์ภูเขาทองให้เป็นไปตามแบบคติจักรวาลที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้เหมือนสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงบูรณะไว้

วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เชียงใหม่ วัดที่ประดิษฐ์พระพุทธสิหิงค์ จะฟื้นประเพณีถวายดอกไม้พระพุทธสิหิงค์ ปรับภูมิทัศน์ภายในวัดที่เคยเป็นลานจอดรถให้สงบร่มรื่น

วัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร นครพนม สถานที่ตั้งองค์พระธาตุพนมที่ถือเป็นจอมเจดีย์ ใน 9 เจดีย์ ปรับภูมิทัศน์รอบพระวิหารคต ที่เคยเป็นที่ตั้งร้านค้าล้อเลื่อนให้ประชาชนสามารถใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมในวัดในบรรยากาศสงบ ร่มรื่น

วัดป่าโนนกุดหล่ม ศรีสะเกษ  ปรับภูมิทัศน์รอบภูเขาดินที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการก่อสร้างขึ้นในสระนาฬิเกร์ ปลูกต้นไม้ 500 ต้น จาก 500 ครอบครัวเพื่อให้เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมที่สงบ ร่มรื่นและมีส่วนร่วม

วัดศรีทวี นครศรีธรรมราช ปรับภูมิทัศน์ให้วัดร่มรื่น เพื่อให้วัดเป็นศูนย์กลางของชุมชนในรูปแบบของพระพุทธศาสนา เชื่อมโยงระหว่างวัดกับชุมชนให้มากขึ้น

ทั้งหมดเป็นแผนงานนำร่องที่แต่ละวัดจะต้องเริ่มต้นจากต้องรู้ว่าควรใช้เครื่องมืออะไร ควรแก้ปัญหาอะไรตั้งแต่ต้น การสื่อสารระหว่างภาคีเครือข่าย พระ ชุมชน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับความสำเร็จของ 9 วัดนำร่องเพื่อขยายผลถึงวัดอื่น ๆ ทั่วประเทศต่อไป

ขอบคุณภาพ : สถาบันอาศรมศิลป์

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์