X

เมื่อชาวบ้านหวาดผวา “ทุ่งกังหันลม”

วันนี้ขอเล่าเรื่องความเดือดเนื้อร้อนใจของชาวบ้านย่านโคราช กับชัยภูมิ หลังเหตุการณ์กังหันลมผลิตไฟฟ้าเกิดใบพัดหักพังทลายลงมากระจายในจุดที่ตั้งกังหันลมบริเวณบ้านแหลม ต.บึงปรือ อ.เทพารักษ์ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่สร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับคนในพื้นที่ ทั้งใน อ.เทพารักษ์ จุดเกิดเหตุ อ.ด่านขุนทด นครราชสีมา หรือแม้กระทั่งพื้นที่ต่อเนื่องที่มีการติดตั้งกังหันลมในเขต อ.เทพสถิตย์ จ.ชัยภูมิ ครับ

“ทุ่งกังหันลม”ที่คนภายนอกผ่านไปผ่านมาต่างทึ่งในความโดดเด่นของเสาสูงเสียดเมฆ กังหันลมสีขาวใบพัดหมุนตามแรงลม บ้างก็โผล่แซมตามแนวป่า ไร่ข้าวโพด  ไร่มันสำปะหลัง ดูเหมือนระหว่างปฏิมากรรมยุคใหม่ที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่อยู่ได้อย่างกลมกลืนกับวิถีชุมชน

แต่ ณ วันนี้ทุกฝ่ายต้องมีคำตอบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นจากการพังทลายของใบพัดขนาดยักษ์ในพื้นที่ชุมชนทั้งแหล่งทำมาหากิน ที่พักอาศัย หลักประกันในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านจากนี้ไป ใครจะให้หลักประกัน?

ที่ดินที่บริษัทฯเอกชนติดตั้งกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต โดยส่วนใหญ่เป็น “พื้นที่เช่า” จากชาวบ้าน เอกสารสิทธิในย่านนั้นส่วนใหญ่จะเป็น สปก.4-01 บางส่วนยังเป็นเพียงที่ดิน ภบท.5 จ่ายเงินค่าเช่าผู้ครอบครองแล้วก็ยังมีสิทธิทำไร่ ทำสวนใต้กังหันลม ชาวบ้านบางส่วนก็ยอมแลกกับรายได้จากค่าเช่าและยังทำกินในที่ดินบางส่วนได้ต่อ

คำชี้แจงล่าสุดจากเหตุกังหันลมพังกระจายเมื่อ 31 ต.ค.ที่ อ.เทพารักษ์ โดย บริษัท ทรอปิคอล วินด์ จำกัด ก็ยอมรับว่าเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและมีการตรวจสอบพบว่า กังหันลมที่มีปัญหาเหตุขัดข้องในส่วนเครื่องยนต์และชุดใบกังหัน ทำให้ชุดใบกังหันและเครื่องยนต์หลุดร่วงลงสู่พื้นดิน ซึ่งเป็นการเกิดเหตุภายในพื้นที่บริเวณโครงการกังหันลมของบริษัทเอง โดยจุดที่เกิดเหตุ เป็นพื้นที่โล่ง บริเวณ “ทุ่งข้าวโพด” จึงไม่มีผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ พร้อมทั้งสั่งหยุดการทำงานของกังหันลมในรุ่นนี้ส่วนที่เหลืออีก 59 ตัวแล้ว จนกว่าบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกังหันลมจะได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างละเอียดและยืนยันว่ากังหันลมเหล่านี้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัย

การดำเนินการของบริษัทเอกชนอย่างทันทีโดยการสั่งปิดกังหันลมรุ่นที่มีปัญหาถือว่าเป็นความรับผิดชอบที่น่าชมเชย อย่างน้อยก็ลดอาการขวัญหนีดีฝ่อของชาวบ้านที่ต้องใช้วิถีชีวิตใกล้ ๆ กังหันลมลงได้บ้าง เพราะช่วงหนี้ย่างหน้าหนาว ลมแรง ข้าวโพดใต้กังหันลมใกล้ฤดูกาลเก็บเกี่ยว มันสำปะหลังก็ต้องรีบถอนก่อนปีใหม่ หากกังหันลมยังทำงานคงยากที่จะทำใจเสี่ยงภัยเข้าไปเก็บข้าวโพด ไปถอนมันสำปะหลัง

เรื่องความปลอดภัยของกังหันลมที่แม้จะได้รับการยืนยันว่าตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นทำความเข้าใจกับชาวบ้านในพื้นที่ว่ากังหันลมที่จะนำมาติดตั้งมาจากผู้ผลิตและจัดจำหน่ายกังหันลมที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลก และมีมาตรฐานทางด้านความปลอดภัยในระดับสูงและได้รับการรับรองก็ตาม แต่ “ข้อตกลง” ตั้งแต่เริ่มต้นก็เป็นเรื่องสำคัญที่ทั้งเอกชนผู้ลงทุน หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องดำเนินการเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้

ยิ่งเข้าหน้าหนาว ลมแรงทั้งเสียงใบพัด ทั้งความหวาดผวาใบพัดจะพังลงมา นี่คือปัญหาหนักอกของคนย่านนั้น

เสียงใบพัดที่ไม่เกิน 10 เดซิเบล ,กังหันลมต้องตั้งห่างจากชุมชน บ้านเรือน 3 เท่าของความสูงเสา+ใบพัด ที่ระยะ 630 เมตร เพราะบางจุดที่ตั้งกังหันลมห่างจากบ้านเรือนชาวบ้านเพียง 100 เมตร ตามข้อกำหนดนี้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงคือคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กพพ.) ทำตามข้อกำหนดหรือไม่ ?

ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เสากังหันลมตกกลางคืนยิ่งบรรยากาศเงียบสงัด เสียงกังหันลมข้างบ้านยิ่งเสียงดัง หวึด หวึด หวึด ๆ ๆ ๆ ดังมาไม่ขาดสาย ยิ่งหน้าหนาวลมแรงเสียงดังยิ่งถี่รัว ต้องแก้ปัญหาเปิดทีวีเสียงดัง ๆ กลบเสียงจากภายนอกเพื่อข่มตานอน

บรรดารีสอร์ทที่นายทุนเล็งที่ดินจุดมุมมองกังหันลมเป็นแลนด์มาร์คเรียกแขก เปิดบริการแค่หนาวเดียวต้องพับเสื่อ เพราะมีแค่คนแวะมาเซลฟี่จิบกาแฟแล้วก็ไป

ปัญหาเหล่านี้ต้องรีบแก้ครับ เพราะชาวบ้านย่านโคราช ชัยภูมิเขาเดือดร้อนและนับวันก็ยิ่งขยายวงกว้างไปเรื่อย ๆ พอถึงจุดที่คุยกันไม่ได้ คดีล้นศาล เมื่อเกิดการเผชิญหน้าระหว่างชุมชนกับเอกชน และภาครัฐที่กำกับดูแลเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและข้อตกลง แล้วจะโทษว่า “ชาวบ้าน” ขัดขวางการพัฒนา เหมือนกับบทสรุปในหลายโครงการ…

จบแบบนั้นย่อมไม่เป็นผลดีกับใคร แน่ ๆ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

นิกร จันพรม

นิกร จันพรม

ทำงานข่าวต่อเนื่องหลากหลายทั้งสายข่าวอาชญากรรม สาธารณสุข การเมือง ภูมิภาค กว่า20ปี ผ่านสื่อยุคเก่าทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ สำนักข่าว ก่อนเปลี่ยนผ่านสู่สื่อออนไลน์