นายกฯ ลงพื้นที่ภูเก็ต อึ้ง เต่า-สัตว์ทะเล 40% ตายเพราะขยะ แนะสร้างจิตสำนึกให้คนรับรู้ สั่งดูแลบ้านพักจนท.-ขรก.ต้องมีกฎระเบียบ ดูแลไม่เสื่อมโทรม เพื่อส่งคนรุ่นหลัง เร่งทำแผนรับมือพื้นที่เสี่ยงดินถล่มทั่วประเทศ
เมื่อเวลา 11.10 น.วันที่ 8 ส.ค.2567 ที่จ.ภูเก็ต นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายเกรียง กัลป์ตินันท์ รมช.มหาดไทย และคณะ เดินทางมายังศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาร ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต จ.ภูเก็ต เยี่ยมชมการบริหารจัดการช่วยเหลือสัตว์ทะเลหายากในพื้นที่ทะเลอันดามัน จ.ภูเก็ต โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายกฯ ได้ใช้รถตู้ทะเบียนขง 4477 ภูเก็ต
นายกฯ รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ภาพรวมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากสิรีธาน และดูเต่ากระ เต่าตนุ เต่าหญ้า ที่บาดเจ็บ จากขยะในทะเล ประมาณ 40% โดยมีสัตวแพทย์ อธิบายถึงการรักษา ซึ่งนายกฯ ได้สอบถามถึงปัญหาเศษขยะที่อยู่ในทะเล ที่ทำให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์ทะเลว่าเป็นขยะประเภทไหน
โดยสัตวแพทย์แจ้งว่าส่วนใหญ่จะเป็นขยะในทะเลทั่วไป ขยะมาจากกิจกรรมทำการประมง รวมถึงพลาสติกต่างๆ ซึ่งสร้างความเสียหายจากการเสียดสี ขูดขีดและเป็นรอยถลอกโดยเฉพาะเต่าที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมาก
นายกฯยังได้เยี่ยมชมบ้านพักของเจ้าหน้าที่ โดยบอกว่าเราให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ข้าราชการ จะได้ไม่ขาดแคลนบุคลากรที่อยากจะเข้ามารับใช้ประเทศชาติ เพื่อเขามีเกียรติ มีศักดิ์ศรี โดยต้องสร้างให้เสมอภาคเท่าเทียมกันด้วย
นายกฯ ยังได้ดูโครงการก่อสร้างพิพิธภัณฑ์สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลไทยเฉลิมพระเกียรติ โดยนายกฯ อยากให้สร้างการเรียนรู้ว่าเต่าและสัตว์ทะเลที่เจ็บป่วย 40% เกิดจากขยะ ตรงนี้ต้องสร้างจิตใต้สำนึกให้คนทราบด้วย โครงการนี้ถือเป็นโครงการดี ๆควรสอดไส้ความรู้ไปด้วย
จากนั้น นายกฯได้ประชุมพิจารณามาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาดินโคลนถล่ม ที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามันตอนบน (ภูเก็ต) ต.วิชิต อ.เมืองภูเก็ต
โดยนายกฯ กล่าวว่า แผนระยะยาวก็ทำกันไป ซึ่งตนเดินทางมาที่นี่ตั้งแต่คราวที่แล้วที่มาพื้นที่สีแดงในเกาะภูเก็ต 3 จุด แต่ถ้าทั่วประเทศ ที่เป็นพื้นที่สีแดง ถ้าไม่ทำแผนป้องกันเมื่อเข้าฤดูฝนจะเกิดปัญหา ตรงนี้ขอฝากให้เป็นเรื่องเร่งด่วน
นายกฯ กล่าวว่า เดินผ่านมาเห็นพิพิธภัณฑ์ที่กำลังก่อสร้างเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสนับสนุนการท่องเที่ยว เหนือสิ่งอื่นใดต้องปลูกฝังจิตใต้สำนึก สัตว์ทะเลที่หายาก เพราะเสียชีวิตจากความสะเพร่าหรือมักง่ายของมนุษย์ ฉะนั้น ต้องปลูกฝังเรื่องการทิ้งขยะถือป็นเรื่องสำคัญ อยากให้เร่งให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป
ส่วนบ้านพักข้าราชการ จริงๆแล้วข้าราชการที่อยู่ที่นี่มีประมาณ 80-100 กว่าครอบครัว ในหลายมิติเราอาจมองข้าม การเข้าสู่ระบบราชการ ตอนหลังไปภาคเอกชน เพราะมีผลตอบแทนที่ดีกว่า ข้าราชการปิดทองหลังพระอย่างองค์กรนี้ต้องอยู่ที่นี่ ไปอยู่ที่อื่นไม่ได้ เมื่ออยู่ที่นี่การเดินทางก็ลำบากฉะนั้น การสร้างที่อยู่อาศัยให้กับพนักงานถือเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งที่อยู่อาศัยตรงนี้มีมา 40-50 ปีแล้ว เช่นเดียวกับหลายพื้นที่ที่ตนลงไปไม่ว่าตำรวจ ทหาร พยาบาล รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับสวัสดิการของข้าราชการ ให้ดำเนินการ เช่นเดียวกับกระทรวงอื่นๆ
ส่วนเรื่องการป้องกันดินโคลนถล่มได้รับฟังข้อเสนอแนะและปัญหาต่างๆถือเป็นปัญหาที่ใหญ่พอสมควรซึ่งการประสานงานกับทุกหน่วยงานสำคัญ แม้บางท่านไม่ได้อยู่ตรงนี้ กระทรวงคมนาคมหรือกรมทางหลวง การสร้างสะพานต่างๆ อาจเป็นอุปสรรคทางไหลของน้ำ จึงขอสั่งการผู้ว่าฯ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดี
อธิบดีกรมชลประทาน ได้เสนอแผนงานมาแล้ว ต้องทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่ให้ดี อธิบายให้ฟังว่าประเด็นคืออะไร รวมถึงพื้นที่สีแดงที่มีความเสี่ยงสูง ที่เราเห็นในแผนที่ ซึ่งภูเก็ตมี 3 พื้นที่ มีมาตรการเร่งด่วนหรือไม่ ที่ต้องโฟกัส เพราะตอนนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝนแล้วเป็นช่วงอันตรายที่เราต้องดูแลกันต่อไป และให้กรมทรัพยากรธรณี ตั้งอุปกรณ์แจ้งเตือนภัย ที่ต้องมีการซักซ้อม เพื่อให้เข้าถึงประชาชนทุกครัวเรือน ทั้งน้ำป่า ภัยพิบัติ โคลนถล่ม
พร้อมกันนี้ให้ร่วมกันออกแบบการเฝ้าระวังและเตือนภัย ทั้งในจังหวัดภูเก็ตและพื้นที่อื่นที่เป็นพื้นที่สีแดง โดยใช้ข้อมูลทางเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพราะความเป็นอยู่ของประชาชนและเรื่องสำคัญไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: