X

กรมอุทยาน เข้มลาดตระเวนตรวจปราบปรามป้องกันพะยูน และสัตว์ทะเลหายากติดเครื่องมือประมง

กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ เข้มส่งหน่วยลาดตระเวนทางทะเล  ตรวจปราบปรามป้องกันพะยูน และสัตว์ทะเลหายากติดเครื่องมือประมง

          วันที่ 23 ก.พ. 61 นายโอภาส นวลมังสอ  ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)  นายณรงค์ คงเอียด หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม  นายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง    นำทีมเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจตรวจปราบปรามป้องกันสัตว์ทะเลหายาก ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง , ฝ่ายปฏิบัติการพิเศษ ชุดเฉพาะกิจทางทะเล อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ร่วมกับผู้นำในตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง และกลุ่มพิทักษ์ดุหยงเกาะลิบง กว่า 20 คน ออกตรวจลาดตระเวนป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดการใช้เครื่องมือประมงผิดกฎหมายที่เป็นอันตรายต่อสัตว์ทะเลหายาก บริเวณจุดเสี่ยงตลอดแนวแหล่งอาศัยชุกชุมของพะยูน และเต่าทะเล  ตั้งแต่แนวเขตเขาบาตู –อ่าวทุ่งจีน- ปากคลองเตรด-เกาะนก-หาดตูบ และแหลมจุโหย  ซึ่งถือเป็นแหล่งอาศัยของพะยูนมากที่สุดของตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง   ขณะเดียวกันไม่เน้นแค่การป้องกันปราบปราม แต่หากเจอสัตว์ทะเลหายาก เช่น พะยูน เต่า  หรือสัตว์ทะเลชนิดอื่น จะต้องมีการทำบันทึกพิกัด เพื่อเป็นข้อมูลให้กับกรมอุทยาน ฯ เพื่อเป็นการอนุรักษ์และดูแลพะยูน สัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลตรัง ไว้ให้ได้มากที่สุด  ซึ่งการลาดตระเวนในครั้งนี้พบอวน ปลาหมึก หรืออวนสามชั้น  ในแนวหญ้าทะเลที่แหลมจุโหย ซึ่งจะเป็นอันตรายกับพะยูนและสัตว์ทะเลหายาก เจ้าหน้าที่จึงทำการสาวอวนขึ้น และตรวจยึดไว้ เพื่อไม่ให้สัตว์ทะเลหายากติดอวน และถูกอวนพันจนจมน้ำตายได้   อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่าตลอด 4 เดือน ซึ่งได้มีการออกลาดตระเวนอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ พ.ย-ธ.ค. 60 จนถึง ม.ค.-ก.พ. 61  ยังไม่พบเรือประมงและเครื่องมือประมงผิดกฎหมายในแนวเขตแหล่งอาศัยของพะยูนและสัตว์ทะเลหายากเลย ไม่ว่าจะเป็นเบ็ดราไวย์ อวนปลากระเบน แต่เพิ่งมาพบอวนหมึกหรืออวนสามชั้นในครั้งนี้  ซึ่งผลจากการเข้มงวดกวดขันของทุกภาคส่วน ทำให้ผลสำรวจพะยูนในท้องทะเลตรัง เมื่อกลางเดือน ก.พ. 61  พบว่าพะยูนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมากว่าทุกปี โดยปีนี้มากกว่า 200 ตัว และพบคู่แม่ลูกมากขึ้น  รวมถึงจำนวนเต่าทะเลก็มากขึ้นด้วย

          นายโอภาส นวลมังสอ  ผู้อำนวยการส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ที่ 5 (นครศรีธรรมราช)   กล่าวว่า การลาดตระเวนในครั้งนี้พบอวนสามชั้นในแนวหญ้าทะเล ซึ่งจะเป็นอันตรายกับสัตว์ทะเลหายาก เมื่อเจ้าหน้าที่เจอก็ทำการกู้ขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้สัตว์ทะเลหายากไปติด ไม่ว่าจะเป็นเต่า พะยูน โลมา เพราะอวนสามชั้น เอ็นเส้นใหญ่ ติดพันตัวพะยูนให้จมน้ำได้ ซึ่งส่วนใหญ่การลาดตระเวนแต่ละครั้งเมื่อเจ้าหน้าที่ไปเจอก็จะกู้ขึ้นทันที ถ้าหากไปพบขณะที่ยังไม่ได้วางอวนก็ขอร้อง ตักเตือน ถ้าไม่เชื่อฟังก็ใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเด็ดขาด  ซึ่งการทำประมงในเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ หรือเขตอุทยานฯ ห้ามเด็ดขาด แต่บางครั้งก็เข้าใจว่าเป็นวิถีชุมชน หากบังคับใช้กฎหมายมากไปชาวประมงพื้นบ้านจะเดือดร้อน จึงใช้วิธีเจรจา ตักเตือนเป็นเบื้องต้นก่อน ส่วนเรือและเครื่องมือประมงผิดกฎหมายนั้นเท่าที่ทราบ ส่วนใหญ่มาจากต่างถิ่น คือต่างตำบล ต่างอำเภอในจังหวัดตรัง ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่จะรู้กันว่ามีเรือแปลกปลอมเข้ามา ซึ่งชาวบ้านกลุ่มนี้จะเป็นกล้องวงจรปิดให้ที่จะช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการสอดส่องดูแลท้องทะเล ซึ่งเมื่อมีสิ่งผิดปกติทางทะเลประสานติดต่อเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา ส่วนการตบตาเจ้าหน้าที่ของผู้กระทำผิด เช่น ใช้ขวดน้ำเป็นทุ่น ซึ่งผิดสังเกตจากการวางอวนหาปลาทั่วไป เป็นวิธีการทั่วไปของผู้ที่จะลักลอบกระทำผิด เมื่อเจ้าหน้าที่เข้มงวด ก็มักหาวิธีการฝ่าฝืนอยู่ร่ำไป เจ้าหน้าที่จึงต้องสืบเสาะค้นหาข้อเท็จจริงให้เจอ

            “พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนายธัญญา เนติธรรมกุล  อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้นโยบายเรื่องการดูแลรักษาพะยูนให้เป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดตรังและของประเทศไทยให้ได้ และโดยเฉพาะผู้ว่าราชการจังหวัดตรังก็ได้ให้นโยบายกับท้องที่ ท้องถิ่นให้ร่วมกันดูแลรักษาแหล่งหญ้าทะเล ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างดี เช่น อบต. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เครือข่ายหมู่บ้าน สนธิกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง  และฝ่ายปกครอง ได้ใช้มาตรการเชิงรุกออกลาดตระเวนเป็นประจำ เพื่อคุ้มครองพะยูน และสัตว์ทะเลหายากให้อยู่รอด ส่วนข่าวการล่าพะยูนเอาเนื้อไปประกอบอาหาร หรือขายร้านอาหารก่อนหน้านี้ ข้อเท็จจริงจากการสืบสวนเชิงลึกก็ไม่ได้ร้ายแรงขนาดนั้น ชาวบ้านในพื้นที่พยายามอนุรักษ์ไว้ ซึ่งปัจจุบันก็มีข่าวดีมาเรื่อยๆ ชุมชน เครือข่ายชาวบ้านให้ความร่วมมืออย่างดีพะยูนมีปริมาณเพิ่มขึ้น ตายน้อยลง และต่อไปก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนรู้จักมากขึ้น ภายใต้การช่วยเหลือของชุมชนและทุกภาคส่วน และเกิดผลสัมฤทธิ์ทรัพยากรเป็นของทุกคน ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่ทุกคนมีหน้าที่ดูแลร่วมกัน ”

             ด้านนายชัยพฤกษ์ วีระวงศ์ หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง   กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้แต่งตั้งชุดเฉพาะกิจตรวจปราบปรามป้องกันสัตว์ทะเลหายาก ประจำเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง ออกลาดตระเวนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกคืน ตามแนวไข่แดงของพะยูนฝูงใหญ่ของจังหวัดตรัง ซึ่งมีพื้นที่รอบเกาะลิบง มีการตรวจลาดตระเวน หาข่าว การประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง ที่ผ่านมาพบการกระทำผิดทางประมงบ้างเล็กน้อย เช่น มีการวางอวนที่เป็นอันตรายกับเต่า พะยูน โลมา ปีที่ผ่านมาสามารถจับกุมดำเนินคดีได้ 2 คดี แต่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการพูดคุยเจรจาให้เลิกทำ เช่นก่อนหน้านี้ 1 วันก็พบเรืออวนปลาหมึก หรือเรือสามชั้นจากต่างอำเภอเข้ามาในพื้นที่ตำบลเกาะลิบง ซึ่งยังไม่ได้วางอวน ก็เจรจาขอให้ออกจากพื้นที่ไป ซึ่งก็ยินยอมโดยดี  เป็นตัวอย่างข้อมูลที่ได้รับแจ้งมาจากชาวบ้านในพื้นที่ที่ช่วยกันสอดส่องดูแลและประสานเข้ามายังเจ้าหน้าที่ ซึ่งความร่วมมือของทุกฝ่ายทำให้ภาพลักษณ์ของจังหวัดตรังดีขึ้น พะยูนก็ตายลดลง ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่พบซากพะยูนที่เหลือเฉพาะส่วนหนังและลำไส้ ในป่าโกงกาง ที่ปากคลองโต๊ะขุน หมู่ที่ 7 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง เมื่อปลายปี 60 และได้นำซากเป็นหลักฐานเข้าแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่ สภ.กันตัง เพื่อติดตามหากลุ่มผู้กระทำความผิด  ล่าสุดเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้  และไม่มีการรายงานความคืบหน้าหรือประสานขอข้อมูลเพิ่มเติมเข้ามา อย่างไรก็ตามการกระทำในลักษณะดังกล่าวก็ไม่เคยพบเห็นอีกเลยเช่นกัน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน