ตรัง-ศาลเจ้าดังตรัง กังวลของแพงกระทบคนร่วมกินเจ หวังอานิสงค์เงินหมื่นช่วยกระตุ้น โอดเป็นเมืองรองทำซบเซา ชวนคนไม่มีเงินก็กินได้ครบ3มื้อ9วัน เผยราคาปิ่นโตปีนี้ไม่ปรับขึ้นแม้ผักแพง ฟื้นพิธีกรรมโบราณที่หายไปดึงสาธุชน-นักท่องเที่ยว ทั้งเคี่ยวน้ำมันว่าน-ลุยหนาม-ลุยไฟ-ปีนบันไดมีด พบศิลาจารึกโบราณยืนยันอายุงานกินเจตรังเก่าแก่อันดับต้นๆประเทศไม่ต่ำกว่า 200ปีเทียบเท่าศาลเจ้าแห่งแรกในปีนัง
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังเมื่อวันที่ 3 ต.ค.2567 ถึงบรรยากาศเทศกาลถือศีลกินผัก หรือ งานกินเจจังหวัดตรัง โดยเทศกาลถือศีลกินผักจังหวัดตรัง ประจำปี 2567 มีทั้งสิ้น 9 วัน ระหว่าง 3-11 ตุลาคมนี้ สำหรับบรรยากาศที่ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย ซึ่งเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ ภายในเขตเทศบาลนครตรัง ถ.ท่ากลาง ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง เป็นไปอย่างคึกคัก มีสาธุชนคนกินผักในชุดขาวหลั่งไหลมาร่วมลงทะเบียนถือศีลกินผักกันอย่างคับคั่ง
โดยนายพิชญะ ศิริศุภนนท์ ผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย บรรยากาศปีนี้มีความคึกคัก โดยแต่ละศาลเจ้าเราเตรียมตัวมาล่วงหน้าแล้วกว่า 1 เดือน และได้ขึ้นเสาเต็งโกไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมาจึงนับเป็นการเริ่มเทศกาลกินเจอย่างเป็นทางการสำหรับทุกศาลเจ้าในจ.ตรัง สำหรับบรรยากาศในปีนี้เราคาดหวังว่า จะเห็นความคึกคึกของงานถือศีลกินผักจ.ตรังเหมือนเมื่อราว 20 ปีก่อน แต่ก็ต้องลุ้น เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่มีข้อจำกัดในความเป็นเมืองรอง ทำให้ความคึกคักในอดีตหายไปเยอะ บวกกับเศรษฐกิจที่แย่ โดยเฉพาะราคาสินค้าข้าวของที่ราคาขึ้นมาก ดังนั้นถือศีลกินผักปีนี้สิ่งที่เรากังวลมากๆคือของแพงขึ้นมาก โดยเฉพาะพืชผักต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ประกอบอาหารเจซึ่งปรับราคาขึ้นมามาก จากภาวะน้ำท่วมพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง ส่วนเม็ดเงิน 10,000 บาทดิจิทัลวอลเล็ตที่รัฐบาลได้แจกกลุ่มเปราะบางไปแล้วนั้นเราก็คาดหวังว่าเม็ดเงินเหล่านี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงเทศกาลถือศีลกินผักของจ.ตรังได้ เพียงแต่ขณะนี้ยังถือว่าได้รับเพียงบางกลุ่ม ยังไม่ครบทุกกลุ่ม
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง-พาณิชย์จังหวัดลงตรวจสอบราคาน้ำมันปาล์มขวด
- ปชน.ตรัง จัดรำลึกลุงนวมทอง เร่งขยายฐานสมาชิกให้ครบแสนคน ตรังพุ่ง 300 คนแล้ว รอตั้งสาขาพรรค ลั่น กวาดเก้าอี้ส.ส.เขตรอบหน้า
- ตรัง แม่ค้าสตรีทฟู้ด โอด น้ำมันพืชราคาขึ้นลิตรละ 7 บาท แแบกรับต้นทุนสูง กำไรลด วอนรัฐบาลตรึงราคาลิตรละ 40 บา
- ตรัง ชาวตรังบุกจี้ นายกอิ๊ง-รมช.คมนาคม แก้ปัญหาตั๋วแพง-ทิ้งงานสนามบิน
“แม้สภาพเศรษฐกิจในขณะนี้จะยังไม่ดี แต่ขอให้ผู้ที่จะถือศีลกินผักไม่ต้องกังวล สำหรับสาธุชนคนกินผักที่เดินทางมาจ.ตรังและมาที่ศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ยในปีนี้ ไม่มีเงินก็สามารถรับประทานอาหารเจได้ที่โรงเจ ฟรีทั้ง 3 มือ รวม 9 วัน และเป็นเมนูเดียวกับผู้ที่ลงทะเบียนผูกปิ่นโตกับทางศาลเจ้า ซึ่งปีที่ผ่านมาพบว่าในแต่ละมื้อจะมีสาธุชนมารับประทานอาหารเจฟรีที่โรงเจราว 8,000-10,000 คน สำหรับค่าใช้จ่ายจะมีเฉพาะการลงทะเบียนผูกปิ่นโตเท่านั้นในราคา 1,200 บาท 3 มือ 9 วัน ตลอดช่วงเทศกาล ซึ่งเป็นราคาเดิมของปีที่ผ่านมา แม้ข้าวของพืชผักจะราคาสูงขึ้น แต่เราก็ไม่ได้มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด ส่วนอาหารเจที่ขายในพื้นที่ศาลเจ้า คณะกรรมการได้ควบคุมให้อยู่ในราคาที่เหมาะสม ไม่แพงเกินไป เฉลี่ยราวไม่เกิน 50 บาท เพราะเราถือว่าในช่วง 9 วันนี้เป็นการทำบุญให้ทานช่วยเหลือประชาชน เพื่อหวังเป็นหมุดหมายโปรโมทเทศกาลถือศีลกินผักจ.ตรังไปทั่วประเทศ”นายพิชญะ กล่าว
นายพิชญะ กล่าวว่า สำหรับไฮไลท์พิธีกรรมพิเศษที่หาชมได้ยากของศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ยในเทศกาลถือศีลกินผักปีนี้ คือพิธีเคี่ยวน้ำมันว่านเพื่อแจกจ่ายสาธุชนคนกินผักโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเป็นพิธีกรรมโบราณที่หายไป 40 กว่าปีแล้ว นอกจากนี้ในคืน 3 ค่ำ จะมีพิธีลุยหนามขององค์ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นการปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย โดยเสมือนองค์ศักดิ์สิทธิ์นำตัวไปรับสิ่งชั่วร้ายและความเจ็บปวดแทนสาธุชน และเมื่อประกอบพิธีลุยหนามเสร็จแล้ว สาธุชนสามารถตัดเอาหนามไปแขบนไว้หน้าบ้านได้ตามความเชื่อที่ว่าหนามแหลมจะช่วยไล่สิ่งชั่วร้าย ต่อมาในคืน 7 ค่ำเป็นพิธีไต่บันไดมีด ต่อมาคืน 8 ค่ำมีพิธีลุยไฟซึ่งจัดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันและเป็นพิธีกรรมที่มีสาธุชนสนใจมาร่วมอย่างแน่นขนัดจนล้นศาลเจ้าจนไม่มีที่เดินในทุกปี จึงอยากเชิญชวนคนทั่วประเทศให้เดินทางมาถือศีลกินผักที่จ.ตรัง เพราะเราเชื่อว่าสำหรับศาลเจ้ากิวอ่องเอี่ย นับเป็นศาลเจ้าเก่าแก่ลำดับต้นๆของประเทศ เนื่องจากเมื่อราว 2 ปีที่ผ่านมา เพิ่งมีการค้นพบป้ายหินจารึกโบราณในศาลเจ้าเกี่ยวกับการถือศีลกินผักซึ่งมีอายุกว่า 200 ปี ทำให้เชื่อได้ว่าการถือศีลกินผักในจ.ตรังเก่าแก่ยาวนานมาไม่ต่ำกว่า 200 ปี สอดคล้องเมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีตัวแทนศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองปีนัง ประเทศมาเลเซียได้เดินทางมาขอดูป้ายหินโบราณดังกล่าว และบอกว่ามีอายุพอๆกับศาลเจ้าเก่าแก่ที่สุดในปีนังคือราว 200ปี
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: