ตรัง สุดทน! ฝนตกน้ำทะลักท่วมบ้านนับสิบรอบ เดือดร้อนหนัก หลังไฟฟ้าปักเสาแรงสูง ทำท่อระบายน้ำแตกไหลเข้าบ้าน สาวเย็บผ้าชาวตรัง ผวา ไม่ได้หลับนอน-ทำมาหากิน น้อยใจหมดที่พึ่ง หลังร้องหน่วยงานช่วยกลับเงียบ ผู้ว่าฯตรัง สั่งเฝ้าระวัง พท.ท่วมซ้ำซาก หลังฝนตกหนักต่อเนื่อง มั่นใจระบบระบายน้ำ
เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวได้รับการร้องเรียนความเดือดร้อนจากชาวบ้านจังหวัดตรัง ถึงผลกระทบจากฝนตก ทำน้ำท่วมบ้านซ้ำซาก ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการกระทำของหน่วยงานบางหน่วยงาน จึงลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่บ้านเลขที่ 144/2 ม.6 ต.บางรัก อ.เมือง จ.ตรัง ซึ่งเป็นบ้านของนางนงลักษณ์ ท่าจีน อายุ 60 ปี ที่ได้เปิดคลิปให้ผู้สื่อข่าวดูว่าเกิดเหตุน้ำท่วมไหลหลากเข้าบ้านเนื่องจากฝนตกหนัก โดยเชื่อว่าสาเหตุมาจากการติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงตรงบริเวณคูน้ำหน้าบ้าน ทำให้ท่อระบายน้ำแตกและทำให้ดินปิดทางระบายน้ำ ส่งผลให้น้ำไม่มีการระบายออก พอฝนตกหนักทุกครั้งน้ำก็จะไหลเข้าท่วมบ้านของตนเอง แล้ววันนี้ก็ยังผวา เพราะยังมีฝนตกต่อเนื่อง ร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาให้ด่วน แต่ก็ยังเงียบ
นางนงลักษณ์ ท่าจีน เจ้าของบ้าน บอกว่า ตนเองประกอบอาชีพรับจ้างเย็บผ้า แล้วตอนนี้ได้รับความเดือดร้อนหนัก เพราะเวลาฝนตกหนักน้ำไหลเข้าท่วมบ้าน กลางคืนก็ไม่ได้เย็บผ้าต้องคอยวิดน้ำออก น้ำท่วมบ้านมาเป็น 10 รอบแล้ว โดยสาเหตุก็หลังจากที่ไฟฟ้าได้มาติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูง ตรงบริเวณคูน้ำ ท่อระบายน้ำก็แตกและทำให้ดินปิดทางระบายน้ำ ทำให้น้ำไม่มีการระบายออก และน้ำกลับไหลเข้าท่วมบ้านตนเองแทน ซึ่งระดับน้ำที่เข้าท่วมในบ้านประมาณ 10-20 เซนติเมตร พอฝนตกหนักก็เดือดร้อนทุกครั้ง ไปไหนก็ไม่ได้กลัวน้ำเข้าบ้าน พอเวลาน้ำเข้าบ้านก็ต้องรีบยกเครื่องไฟฟ้าขึ้น ตนก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว เคยร้องเรียนหน่วยงานแจ้งไปยังอบต.บางรัก แล้วแต่ไม่ได้ดำเนินการใด ๆให้ แค่ลงมาดูถ่ายรูปรับปากไว้ว่าจะมาจัดการให้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการดำเนินการอะไรเลย จนล่าสุดตนต้องยอมควักเงินส่วนตัวจ้างให้เขามาขุดเพื่อระบายน้ำจำนวน 1,500 บาท แต่น้ำก็ยังท่วมอยู่ ลำบากมาก ที่อาศัยอยู่กันในบ้านก็มีกันทั้งหมด 6 คน เด็ก 3 คน ผู้ใหญ่ 3 คน แล้วเป็นเด็กวัย 2 ขวบและ 5 ขวบด้วย และนี่ก็เป็นบ้านของตนเอง อยู่มา 40 กว่าปีแล้ว ยึดอาชีพเย็บผ้ามาตลอดคืนไหนฝนตกหนักก็ต้องหยุดงาน เพราะน้ำเข้า
“ขอวิงวอนขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยอย่างเร่งด่วน ฉันและครอบครัวลำบากมาก ไม่รู้จะหันหน้าไปพึ่งใครแล้ว อยากให้เข้ามาดูแลให้หน่อย เพราะตอนนี้ที่ฝนตกหนักยิ่งเป็นช่วงกลางคืนก็นอนผวาหวั่นว่าน้ำจะท่วมต้องคอยเฝ้าตลอด เพื่อวิดน้ำออกจากบ้าน พอน้ำท่วมทุกครั้งก็ต้องฉีดทำความสะอาดบ้าน และน้ำก็ยังเข้ามาอีก เป็นคราบสกปรก ลำบากมาก เพิ่งเกิดเหตุช่วงปีนี้ที่มีการลงทำเสาไฟฟ้า ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน” นางนงลักษณ์กล่าว
ข่าวน่าสนใจ:
ขณะที่วันเดียวกัน (15 ก.ย. 67) นายทรงกลด สว่างวงศ์ ผู้ว่าราชการตรัง พร้อมด้วย หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตรัง ปลัดจังหวัดตรัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย และการให้ความช่วยเหลือ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Webex) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน โดยนายทรงกลด เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ของจังหวัดตรัง สืบเนื่องจากจังหวัดตรังได้รับผลกระทบจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงพัดปกคลุมบริเวณทะเลอันดามันและภาคใต้ฝั่งตะวันตก จึงทำให้เกิดภาวะฝนตกในพื้นที่จังหวัดตรัง ในช่วงวันที่ 14-17 กันยายน โดยจากการออกสำรวจพบว่าปริมาณน้ำในคลองน้ำเจ็ด, คลองนางน้อยบริเวณชุมชนควนขัน ระดับน้ำเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนคลองห้วยยาง และคลองท่าจีน อยู่ในระดับปกติ แต่ได้เน้นย้ำให้เฝ้าระวังการเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำไหลหลาก โดยเฉพาะในพื้นที่น้ำท่วมบ่อยครั้ง เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ จังหวัดตรังได้เตรียมความพร้อมอุปกรณ์ กระสอบทราย และกำลังเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชนที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะฝนตกหนักและดำเนินการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง
นายทรงกลด เผยว่า สถานการณ์ฝนที่ยังคงตกอย่างต่อเนื่องในพื้นที่จังหวัดตรัง ทำให้ต้องเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอที่อยู่ริมเทือกเขาบรรทัดและริมฝั่งแม่น้ำตรัง อย่างไรก็ตามในการเตรียมความพร้อมรับมือน้ำท่วม เรามีโครงการระบายน้ำคลอง ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาอุทกภัยให้กับพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก ประมาณ 7,500 ไร่ ในพื้นที่ 7 ตำบล 4 อำเภอของจังหวัดตรัง รวมถึงโครงการระบบระบายน้ำแม่น้ำตรัง ที่มีประตูระบายน้ำและคลองผันน้ำ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำของแม่น้ำตรังในเขตพื้นที่ อ.เมืองตรัง ซึ่งเมื่อรวมกับศักยภาพการรับน้ำของแม่น้ำตรัง จะสามารถระบายน้ำไม่ให้ท่วมในหลายพื้นที่ได้
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: