X

ที่ปรึกษารมว.เกษตร ลงเกาะสุกรตรัง ติดตามเกษตรมูลค่าสูง “แตงโมเกาะสุกร” ชาวเกาะร้องหน้าแล้งน้ำไม่พอปลูก สั่งสำรวจแหล่งน้ำแก้ปัญหาทันที

ที่ปรึกษารมว.เกษตร ลงเกาะสุกรตรัง ติดตามเกษตรมูลค่าสูง “แตงโมเกาะสุกร” ชาวเกาะร้องหน้าแล้งน้ำไม่พอปลูก สั่งสำรวจแหล่งน้ำแก้ปัญหาทันที แนะต่อยอดท่องเที่ยวปลูกแตงโม 

ตรัง-ที่ปรึกษารมว.เกษตร ลงเกาะสุกรตรัง ติดตามเกษตรมูลค่าสูง “แตงโมเกาะสุกร” ชาวเกาะร้องหน้าแล้งน้ำไม่พอปลูก สั่งสำรวจแหล่งน้ำแก้ปัญหาทันที แนะต่อยอดท่องเที่ยวปลูกแตงโม แบ่งที่ดิน 3 ส่วน ส่วนหนึ่งขายกิจกรรมปลูกแตงโมแก่นักท่องเที่ยว หาแนวทางกำหนดผลผลิต-ชะลอการขายดันราคาเพิ่ม

เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกแตงโมงเกาะสุกร อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามนโยบายร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการผลักดันสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง และพบปะกลุ่มเกษตรกร พร้อมด้วย นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายนิรันดร์ มูลธิดา รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายณัฐวุฒิ สังข์สุข นายอำเภอปะเหลียน นายวสันต์ สุขสุวรรณ เกษตรจังหวัดตรัง นายสมศักดิ์ บุญโยม สหกรณ์จังหวัดตรัง นางสาวกิตติยา สุปันตี เกษตรและสหกรณ์จังหวัดตรัง นางพรรณี เดชภักดี ประมงจังหวัดตรัง และส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้คณะตรวจราชการ ได้พบปะกลุ่มเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกแตงโมเกาะสุกร เกษตรกรผู้ปลูกเมล่อน “มีตรังฟาร์ม” และ เกษตรกรสมาชิกธนาคารปลูกม้า ในพื้นที่ตำบลเกาะสุกร เพื่อรับฟัง และร่วมแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร ในพื้นที่ตำบลเกาะสุกร โดยเฉพาะการปลูกแตงโมเกาะสุกร แตงโมคันนา และแตงโมชายหาด ซึ่งจะมีผลผลิตประมาณ 80 ตัน แต่ในช่วงของการปลูกแตงโมงในนาหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จเรียบร้อย ช่วงนี้เกษตรกรจะปลูกแตงโมในนากันเยอะ จะมีผลผลิตประมาณ 400 ตัน ซึ่งได้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากจะเป็นช่วงหน้าแล้ง และปัญหาล้นตลาด เนื่องจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตจะเก็บพร้อมกันอีกด้วย แต่จุดเด่นของแตงโมเกาะสุกรเนื้อจะหวานกรอบไม่เหมือนแตงโมที่อื่น

ด้านนายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวกับกลุ่มเกษตรว่า วันนี้มาที่เกาะสุกรเป็นครั้งแรกรู้สึกประทับใจหากไม่มีภารกิจจะอยู่ต่อนาน ๆ ไม่เห็นบรรยากาศทะเลต่างๆ ทำนายไว้เลยว่าพี่น้องชาวเกาะสุกรจะอายุยืนถึง 120 ปีแน่นอน ส่วนประเด็นปัญหาการผลิตของพี่น้องเกษตรกรชาวเกาะสุกรที่ได้นำเสนอเรื่องน้ำ จะประสานให้หน่วยงานเข้ามาดูว่าปริมาณน้ำผิวดินมีอยู่เท่าไหร่ และปริมาณน้ำฝนประเทศหากเกิน 1,100 มิลลิเมตรต่อปี รับรองว่าน้ำพอแน่นอนหากเราบริหารจัดการได้ แต่ที่น้ำไม่พอเพราะส่วนใหญ่ฝนตกลงมาแล้วจะไหลลงทะเลทั้งหมด ไม่ได้มีการกักเก็บ ไม่ได้มีการบริหารจัดการน้ำมันก็ทำให้ไม่พอ จะให้หน่วยงานเข้ามาดูแลจัดการในเรื่องนี้ และจำเป็นจะต้องมีบ่อในหลาย ๆ จุดที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังมีนโยบายตลาดนำนวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้ให้กับพี่น้องเกษตรกร ซึ่งทางรัฐบาลก็มีนโยบายให้ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องทำให้ได้ภายใน 4 ปีต้องเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรขึ้นเป็น 3 เท่าเป็นภารกิจร่วมกันที่ต้องช่วยกันทำ ที่จะต้องเพิ่มรายได้ เพราะวันนี้ปัญหาเรื่องของหนี้สินเป็นปัญหาส่วนมากของเกษตรกร เพราะรายได้กับรายจ่ายไม่สมดุลกัน จึงทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา และอีกส่วนหนึ่งการไปกู้หนี้ยืมสินมาเพื่ออำนวยความสะดวกไม่ได้กู้มาเพื่อการต่อยอด จึงทำให้มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เมื่อมีปัญหาก็ต้องค่อยๆ แก้กันไป

นายบุญสิงห์ กล่าวว่า ในส่วนด้านตลาดแตงโมเกาะสุกร ไม่เหมือนกับยางพาราเพราะผลผลิตจะออกพร้อมกันเหมือนกับข้าวที่ได้มีการชะลอการขายทำให้ ข้าวราคาตันละหมื่นกว่าบาท มาจากนโยบายชะลอการขายเพราะสินค้าที่ออกพร้อมกันไปขายในตลาดพร้อมกันราคาก็ตกแน่นอน แต่หากทยอยออกสามารถคอนโทรลการเก็บผลผลิตได้ ตลาดก็จะเป็นของพี่น้องเกษตรกร และยังมองว่าเกาะสุกรจะไปได้ดีในด้านเรื่องของการท่องเที่ยว แต่จะต้องทำต้องเที่ยวแบบวิถีของเกาะสุกร อย่าไปทำการท่องเที่ยวแบบวิถีคนอื่น ไม่ต้องไปสร้างโฮมสเตย์เป็นตึก แต่ให้สร้างโฮมสเตย์ที่ให้สื่อถึงความเป็นเกาะสุกร เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องการสัมผัสบรรยากาศวิถีแบบชาวบ้าน มาทำตัวแบบคนเกาะสุกร กินอาหารแบบเกาะสุกร ตรงนี้เป็นจุดขาย ซึ่งหากมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามา จะต้องหากิจกรรมดึงไว้สัก 3 วัน โดยให้เขามาร่วมปลูกแตงโมกับเกษตรกร แต่ไม่ใช่ปลูกฟรี ต้องให้เขาซื้อปลูก ซึ่งหากมีอยู่ 1 ไร่ให้แบ่งโซนออกมาสัก 1 งาน อีก 3 งานไว้ปลูกเป็นจริงเป็นจังของตัวเอง และอีก 1 งานปลูกสำหรับเพื่อการท่องเที่ยว เพราะเขามาซื้อปลูกแล้ว อีก 52 วันจะเก็บเกี่ยวแตงโมได้ก็ให้ลูกหลานเข้ามาเพื่อมาเก็บแตงโมแปลงที่เขาปลูก หรือไม่ก็เราเก็บเกี่ยวแล้วส่งให้เขาเป็นการสร้างมูลค่าให้กับแตงโมเกาะสุกรอีกทางหนึ่งด้วย

จากนั้นนายบุญสิงห์ เดินทางไปเยี่ยมชมฟาร์มเมล่อน “มีตรังฟาร์ม” เพื่อชมการปลูกแบบโรงเรือนซึ่งสามารถควบคุมผลผลิตให้ออกตรงตามความต้องการได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทางเกษตรกรนำไปปรับใช้ในการวางแผนปลูกแตงโมเกาะสุกรที่จะสามารถควบคุมให้ผลผลิตตามความต้องการได้ นอกจากนี้ยังได้เยี่ยมชมธนาคารปลูกม้า ตำบลเกาะสุกร ดูวิธีการนำไข่นอกกระดองปูม้าแล้วนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และร่วมปล่อยลูกพันธุ์ปูม้า จำนวน 30 ล้านตัว ลงสู่ทะเลหน้าบ้านเกาะสุกร ซึ่งมีอัตรารอดประมาณ 5 % หรือ 1 ล้านตัวรอด 50,000 ตัว และร่วมรับประทานอาหารชิมเมนูยำแตงโมปลาย่าง และชิมแตงโมเกาะสุกรมี่มีรสชาติหวานกรอบไม่เหมือนที่อื่นอีกด้วย

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน