X

เกษตรตรัง กล้าเปลี่ยนยาง-ปาล์ม เป็นสวนทุเรียน 7 พันไร่ 3,700 ไร่ให้ผลผลิต คาดยอดทะลุ 250 ล้าน หมอนทองนำโด่ง ตลาดจีนต้องการ

ตรัง เกษตรกรสวนยางผันตัวปลูกทุเรียนแล้วเกือบ 7,000 ไร่ ให้ผลผลิตแล้ว 3,740 ไร่ คาดยอดขายทะลุ 250 ล้านบาท รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายผลิตทุเรียนคุณภาพ ลดปัญหาเกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบ สามารถสร้างอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง โดยทุเรียนหมอนทองเป็นพันธุ์ยอดนิยมทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ 

ที่โรงแรมวัฒนาปาร์ค ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง องค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดตรัง ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดตรัง สภาเกษตรกรจังหวัดตรัง จัดโครงการพัฒนาศักยภาพเกษตรกร อบรมส่งเสริมพัฒนาศักยภาพพืชเศรษฐกิจ “ทุเรียนตรัง ทุเรียนคุณภาพ” เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาองค์ความรู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ด้านการผลิตทุเรียนคุณภาพ และสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดตรัง

มีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดตรัง จาก 10 อำเภอ กว่า 500 คน เข้าร่วมโครงการ ตลอดทั้งมีบริษัทเอกชนที่ให้บริการความรู้ทางวิชาการ ดิน ปุ๋ย สารเคมี ให้บริการแก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว

สำหรับจังหวัดตรังมีพื้นที่ทำการเกษตรทั้งสิ้น 1,839,470 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ปลูกยางพารา 1,336,440 ไร่ ปาล์มน้ำมัน 205,697 ไร่ รองลงมาจะเป็นพื้นที่ปลูกข้าว ไม้ผลไม้ยืนต้นและพืชผักต่างๆ เนื่องจากราคาผลผลิตยางพาราตกต่ำต่อเนื่องทำให้เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนพื้นที่การผลิตจากยางพารามาเป็น ปาล์มน้ำมันและไม้ผลโดยเฉพาะทุเรียน

นายวิรัตน์ ทองคำ ประธานเครือข่ายผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดตรัง กล่าวว่า เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกทุเรียนไว้ มีจำนวนกว่า 600 ราย โดยอำเภอห้วยยอดมีเกษตรผู้ปลูกทุเรียนจำนวนมากที่สุด จำนวน 120 ราย รองลงมาคืออำเภอวังวิเศษ จำนวน 70 ราย และข้อมูลจากสำนักงานเกษตรจังหวัดตรังในปี 2566 จังหวัดตรังมีเนื้อที่ปลูกทุเรียน จำนวน 6,743 ไร่ แบ่งเป็นเนื้อที่ให้ผลผลิตจำนวน 3,740 ไร่ และยังไม่ให้ผลผลิตจำนวน 3,003 ไร่ ผลผลิตรวมประมาณ 2,569 ดัน ผลผลิตเฉลี่ย 687 กก./ไร่ คาดมียอดขายทะลุ 250 ล้านบาท  โดยผลผลิตทุเรียนจะเริ่มออกสู่ตลาดประมาณกลางเดือนมิถุนายนไป จนถึงต้นเดือนสิงหาคม พันธุ์เพื่อการค้าที่เกษตรกรนิยมปลูก คือ พันธุ์หมอนทอง เพราะเป็นพันธุ์ที่ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน

โดยในปี 2565-2566 ผลผลิตทุเรียนตรังให้ผลผลิตค่อนข้างสูง ทุเรียนมีการติดดอกออกผลมากขึ้น เนื่องจากสภาพแวดล้อมเหมาะสมปริมาณน้ำฝนและช่วงระยะเวลาแล้งเพียงพอต่อการออกดอกของทุเรียน และสภาพอากาศไม่เอื้อต่อการเข้าทำลายของแมลงศัตรูพืช รวมทั้งเกษตรกรปรับตัวและเรียนรู้เพื่อปลูกทุเรียนให้ได้คุณภาพ ซึ่งตลาดของทุเรียนตรังจะมีทั้งตลาดในพื้นที่ และตลาดส่งออกที่มีล้งทุเรียนจากจังหวัดชุมพรมารับซื้อถึงสวน ดังนั้นเมื่อเรามีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายจะช่วยลดปัญหาเกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบ สามารถสร้างอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางได้

 

 

 

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน