X

ตรัง นครตรังเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ปรับปรุงโรงแรมตรัง โรงแรมเก่าคู่เมืองตรังกว่า 50 ปี 

ตรัง เทศบาลนครตรัง และ บ.ดีไว พลัส จำกัด จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนในการปรับปรุงอาคารโรงแรมตรัง ที่อยู่คู่เมืองตรังมากว่า 50 ปี ที่ประชุมได้มีข้อเสนอ การก่อสร้างต้องเป็นอารยสถาปัตย์ พัฒนาที่ดินทั้งแปลงตั้งแต่สถานีดับเพลิงของโรงแรมตรังการออกแบบให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของจังหวัด เน้นเรื่องสุขภาพ การเรียนรู้ และ คำนึงถึงการท่องเที่ยว 

วันนี้ (27 พฤศจิกายน 2566) นายนิวรณ์ แสงวิสุทธิ์ รองนายกเทศมนตรีนครตรัง เป็นประธานในการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน โครงการจ้างบริษัทดีไว พลัส จำกัด เป็นบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาให้ได้แนวทางและแผนการดำเนินงานในการปรังปรุงอาคารโรงแรมตรัง เพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน เทศบาลนครตรัง ณ ห้องประชุมภัชรัตน์ ชั้น 2 โรงแรมวัฒนาพาร์ค อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้นำชุมชน และประชาชนที่สนใจ เข้าร่วมการประชุม

โรงแรมตรัง เป็นอาคารทรงคุณค่าที่อยู่คู่เมืองตรังมากว่า 50 ปี เป็นสถานที่ที่เคยมีชื่อเสียงของจังหวัดตรังในอดีตและปัจจุบัน เป็นทรัพย์สินในความดูแลและการบริหารของเทศบาลนครตรัง อาคารโรงแรมตรังอยู่ในทำเลใจกลางเมืองแวดล้อมด้วยสิ่งก่อสร้างที่เป็นสัญลักษณ์ของเมือง ได้แก่ หอนาฬิกา สำนักงานเทศบาลนครตรัง รวมถึง อาคารโดยรอบ ซึ่งบ่งบอกถึงความเป็นอยู่และวัฒนธรรมของจังหวัดตรัง จากปัญหาในการดำเนินงานที่ผ่านมา สภาพปัจจุบันของโรงแรมตรัง เกิดความทรุดโทรม โดยเฉพาะที่ผิวของอาคารด้านที่ติดกับถนนเกิดสภาพแตกร้าว ทำให้อาจเกิดอันตรายต่อผู้ที่สัญจรผ่านไปมาได้

นอกจากนั้นยังมีบุคคลที่เข้าไปอาศัยและใช้พื้นที่อาคารไปในทางที่ไม่พึ่งประสงค์ เกิดความเสียหายต่อเทศบาล สูญเสียรายได้ที่ควรจะถูกนำมาใช้ในการพัฒนาสาธารณูปโภค สาธารณูปการ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนในเขตเทศบาลนครตรัง เทศบาลนครตรัง จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาอาคารโรงแรมตรัง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้สัญจร และสามารถรักษาทรัพย์สินของเทศบาลนครตรังไว้ได้ และเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาชน โดยสามารถนำทรัพย์สินที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและประชาชนในเทศบาลนครตรัง เทศบาลนครตรังจึงจำเป็นต้องดำเนินการศึกษาความเหมาะสมออกแบบและรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนในการดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาอาคารโรงแรมตรัง ทั้งทางด้านการตรวจสอบโครงสร้างอาคารเดิม เพื่อการปรับปรุงหรือซ่อมแซม การออกแบบการใช้พื้นที่ของอาคารเพื่อใช้ประโยชน์ของส่วนรวม โดยบางส่วนอาจใช้เพื่อการพัฒนาเชิงพาณิชย์และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม รวมถึงการคำนวณค่าเช่าพื้นที่ที่เหมาะสม

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้ได้แนวทางและแผนการดำเนินงานในการปรับปรุงและพัฒนาอาคารโรงแรมตรัง

ที่เหมาะสมกับทรัพยากรของเทศบาลนครตรัง และบริบทของจังหวัดตรังในปัจจุบันแลแนวโน้มในอนาคต ศึกษารูปแบบที่เหมาะสมและจัดทำรายการการดำเนินงานปรับปรุงและพัฒนาอาคารโรงแรมตรัง และสามารถจัดเตรียมงบประมาณในการดำเนินการได้อย่างเป็นระบบถูกต้อง

รับฟังความคิดเห็น โดยจัดการมีส่วนร่วมของประชาชน และศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจและการลงทุนของโครงการ

นอกจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชนในครั้งนี้แล้ว ยังมีการจัดงานพบปะผู้บริหารและผู้สนใจลงทุน เพื่อประชาสัมพันธ์ชี้แจงรายละเอียดโครงการให้กลุ่มเป้าหมายรับรู้ รับทราบ ข้อมูลที่ถูกต้อง เพื่อสัมภาษณ์ผู้สนใจลงทุนในระดับกลุ่มย่อย เพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และประเมินความสนใจในการลงทุนให้สอดคล้องกับความต้องการของทุกฝ่าย โดยจะดำเนินการในช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน 2567

โดยการเวทีรับฟังความคิดเห็นประชาชนในครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วม 150 คน มีการเสนอความคิดเห็นดังนี้ 1) โรงแรมควรเป็นห้องรับรอง และเป็นอารยสถาปัตย สำหรับกลุ่มเปราะบาง ออกแบบเพื่อทุกคนใช้งานได้จริง รับรองการใช้ชีวิตได้อย่างเท่าเทียม 2) ให้ที่ปรึกษา ตรวจสอบเรื่องข้อกฎหมายอย่างละเอียด 3) ไม่ควรสร้างโรงแรมใหม่หรือต่อเติมเนื่องจากหมดยุคสมัยแล้ว และไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน

4) ต้องมองในภาพรวมของพื้นที่ ตั้งแต่ขอบรั้วโรงแรียนสภาราชินีจนถึงโรงแรมตรัง โดยได้เสนอวิธีการ ได้แก่ แปลงแรกตั้งแต่แนวรั้วโรงเรียนสภาราชินี บริเวณสถานีดับเพลิง ทำที่จอดรถสำหรับประชาชน แปลงสองบริเวณศูนย์บริการสาธารณสุข ทำเป็นอาคารโรงแรม และแปลงสาม บริเวณโรงแรมตรัง ทำศูนย์อาหารและลานพักผ่อน

และควรให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนโดยปฏิบัติตามเงื่อนไขของเทศบาล ไม่อยากให้เป็นการแข่งขันกับโรงแรมอื่นๆ ควรเจาะกลุ่มเป้าหมายอื่นๆที่ไม่เป็นการไม่แย่งกลุ่มลูกค้าของโรงแรมที่มีอยู่เดิม

การออกแบบให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของจังหวัด เน้นเรื่องสุขภาพ การเรียนรู้ ควรปรับปรุงให้โดดเด่น พัฒนาเป็นจุดเช็คอิน ยังคงเป็นย่านเมืองเก่า ส่งเสริมเป็นย่านคาเฟ่ ควรสร้างให้ยั่งยืน ส่งเสริมเป็นเมืองแห่งอาหาร ภัตตาคารประจำเมืองเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ เสนอรูปแบบการลงทุนให้เอกชน โดยไม่ต้องล้มตึก

 

เสนอเป็นอาคารที่จอดรถ ตลาดเซ็นเตอร์พอยซ์ หรือจุดรถโดยสาร ถ้าโรงพยาบาลต้องการขยายพื้นที่ก็เปิดโอกาสให้ได้หารือพูดคุยกับเทศบาลต่อไป และการปรับปรุงก่อสร้างต้องคำนึงถึงการท่องเที่ยว สุขภาพ ไอที ความปลอดภัย ธรรมชาติ กินดีสุขภาพดี รวมถึงเห็นด้วยกับการสร้างที่จอดรถ ควรวิจัยทำการสำรวจตลาดก่อนการลงทุนอย่างมืออาชีพ

 

นาย ชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ตัวแทนจากสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง กล่าวว่า อยากให้มองภาพรวมของพื้นที่ทำเลทองของจังหวัดตรัง การปรับปรุงพื้นที่ตรงนั้นอยากให้ปรับปรุงแบบภาพรวมที่ชัดเจน อย่ามองแค่เฉพาะตัวอาคารของโรงแรมตรัง แต่ให้มองทั้งหมดตั้งแต่โรงแรมตรัง พื้นที่สถานีดับเพลิง พื้นที่ศูนย์บริการสาธารสุข บ้านพักข้าราชการในซอยต้นมะขาม อย่าให้รื้อทั้งแปลงแล้วสร้างใหม่ให้สวยงาม แปลงแรกที่สถานีดับเพลิงทำเป็นอาคารที่จอดรถ พื้นที่ถัดออกมาเป็นโรงแรมและศูนย์จำหน่ายสินค้าโอทอป และเป็นศูนย์บริการประชนของเทศบาลนครตรัง ส่วนที่โรงแรมตรังให้เป็นพื้นราบสำหรับทำกิจกรรม การทำโรงแรมและการบริหารพื้นที่เปิดโอกาสให้นีกลงทุนในเครือโรงแรมชั้นนำมาลงทุนและทำสัญญาเช่าระยะยาว

นายสวัสดิ์ ฤทธิ์พันธุ์ ประธานชุมชนตรอกปลา กล่าวว่า เทศบาลเป็นของประชาชน ตนคิดว่าไม่ควรสร้างเป็นโรงแรม เพราะที่ผ่านมาไม่มีความคุ้มค่า และมีปัญหามาตลอด เช่น การเช่าที่มีการฟ้องร้องกัน ส่วนถนนในซอยต้นมะขามเป็นซอยแคบ หากมการเปลี่ยนแปรงในพื้นโรงแรมตรัง ควรขยายถนนในซอยดังกล่าวด้วย

นางลดาวัลย์ ช่วยชาติ ผอ.การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงงานตรัง กล่าวว่า การขับเคลื่อนเมืองด้านการท่องเที่ยวในหลายแห่งมีปัญหาเรื่องที่จอดรถทั้งสิ้น ทั้งเมืองท่องเที่ยวในไทยและต่างประเทศ ดังนั้นการสร้างที่จอดรถ และการพัฒนาพื้นที่บริเวณโรงแรมตรัง ถือเป็นแม่เหล็กดึงดูดการท่องเที่ยว อยากให้มองการแข่งขันกับภายนอกเป็นสำคัญ ถ้ามองแต่เรื่องการแข่งขันภายในจังหวัดตรังจะไปไม่ถึงไหน ตนเห็นด้วยที่เทศบาลตรังให้เอกชนศึกษา ออกแบบ และก่อสร้าง โดยเอกชน เพราะเอกชนรายใหญ่ที่จะมาบริหารพื้นที่เขามีความรู้ มีงานวิจัย การกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีข้อศึกษาทางธุรกิจก่อนการลงทุน เมื่อเกิดการลงทุนประชาชนในจังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียงจะได้รับประโยชน์เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ รวมทั้งเกิดเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่ในอนาคต

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน