X

“ทน.ตรัง” ขยับแล้ว จ้างบ.ที่ปรึกษารับฟังความคิดเห็นปชช. เดินหน้าพัฒนา “โรงแรมตรัง” หลังทิ้งร้าง เอกชนชิ่งไม่จ่ายค่าเช่ากว่า 50 ล้าน “นายกฯเล็ก” เปรย อยากรื้อสร้างใหม่ เผย 3 ขรก.ทน.ตรัง ที่ป.ป.ช.ชี้มูล ศาลยกฟ้องแล้วทั้งหมด

ตรัง-“ทน.ตรัง” ขยับแล้ว จ้างบ.ที่ปรึกษารับฟังความคิดเห็นประชาชน เดินหน้าพัฒนา “โรงแรมตรัง” หลังทิ้งร้าง เอกชนชิ่งไม่จ่ายค่าเช่ากว่า 50 ล้าน “นายกฯเล็ก” เปรย อยากรื้อสร้างใหม่ รูปทรงดึงดูด ศูนย์การค้า-โรงแรม 4 ดาว แหล่งศก.ใหม่กลางเมือง ยอมรับราชการไม่ถนัดบริหาร ต้องเปิดประมูลเอกชน เพจดัง “100 ปี ทับเที่ยง” ชวนคนตรังเสนอความเห็นคึกคัก เผย 3 ขรก.ทน.ตรังที่ป.ป.ช.ชี้มูล ศาลยกฟ้องแล้วทั้งหมด ส่วนเอกชน 8 รายเช่าช่วงอาคารพาณิชย์ ยื่นศาลคุ้มครองอยู่ต่อ ทน.ตรังลุยค้าน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดตรังว่า ขณะนี้ได้เกิดเป็นกระแสอีกครั้ง สำหรับโรงแรมตรัง โรงแรมเก่าแก่ใจกลางเมือง และอยู่ใกล้หอนาฬิกาจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัด ที่ปิดตัวลงโดยศาลมีคำพิพากษาขับไล่จำเลยซึ่งเป็นผู้เช่าพร้อมบริวารออกจากอาคาร โดยโจทก์คือเทศบาลนครตรัง สาเหตุจากจำเลยค้างค่าเช่าต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี โดยเพจ “100 ปี ทับเที่ยง” ซึ่งมีผู้กดไลค์ติดตามกว่า 2.2 หมื่นคน ได้โพสต์กระทู้ ระบุ “คืนชีพโรงแรมตรัง โรงแรมหลังใหญ่ประจำเมืองของเทศบาลแห่งนี้ มีมาตั้งแต่ช่วงปี 2505-2506 สร้างเสร็จหลังหอนาฬิกาประมาณปีนึง รูปแบบอาคารเป็นการออกแบบ สไตล์โมเดิร์น ตามยุคสมัย ที่มีลักษณะเรียบง่าย เน้นการใช้สอย มีระเบียงชมวิวเมือง เรียกว่าเป็นเมกะโปรเจคของเมืองในยุคนั้นก็ว่าได้ แรกเริ่มเดิมทีก่อสร้างโซนหัวมุมก่อน และขยับขยายไปตามแกนถนนวิเศษกุล และ พระราม 6 โดยก่อสร้างบนพื้นที่การประปาเก่า ที่ยังปรากฎหอพักน้ำคอนกรีตมาจนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันโรงแรมในเขตเมืองเก่าทับเที่ยงแห่งนี้ได้ปิดทำการเพื่อรอปรับปรุง เพื่อเปิดใช้ในอนาคตอันใกล้ และตามขั้นตอนก็จะมีการรับฟังความคิดเห็นของชาวตรังในฐานะเจ้าของบ้าน ว่าอยากให้โรงแรมตรัง ที่อยู่คู่แยกหอนาฬิกามากว่า 60 ปีนี้ กลับมาเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมืองยังไง เราร่วมกันให้ความเห็นกับทางเทศบาลได้ เพราะเค้าใช้เงินภาษีจากประชาชน”

 

“อยากให้มี…เพื่อ… เสนอใต้เมนท์นี้ได้ครับ เพราะเค้าจะเอามาเป็นโจทย์ในการปรับปรุงในอนาคต หรือหากสะดวก เชิญร่วมความเห็นได้ในวันจันทร์ที่ 27 พย นี้ 8.30-12.00 ณ โรงแรมวัฒนาพาร์ค ครับ” เพจระบุ

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังโพสต์ดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มีบรรดาแฟนเพจเข้ามาแสดงความคิดเห็น มากกว่า 200 ความคิดเห็น และกดไลค์ จำนวนมากเกือบพันครั้ง ความเห็นจากลูกเพจที่น่าสนใจ อาทิ “รื้อโรงแรมทิ้งครับ เพราะที่ผ่านมาใครได้ประโยชน์ที่แท้จริง เทศบาลได้อะไรแค่ไหน ประชาชนได้อะไร ควรเปิดรับฟังเสียงประชาชนว่าถ้ารื้อแล้วควรทำเป็นอะไร ประโยชน์อะไร” , “ไม่ควรรื้อแต่ควรปรับปรุงใหม่ครับ ตกแต่งให้ทันสมัย คงแบบเดิมไว้” , “มันควรจะปรับให้เป็นแลนด์มาร์ก เหมือนโอซาก้าเป็นจุดติดป้ายไฟ ภายในตัวอาคารควรให้เอกชนเข้าประมูลเปิดเป็นห้าง หรือแหล่งชอปปิ้งพื้นเมือง เพื่อสอดรับกับหอนาฬิกาและพื้นที่ที่เทศบาลกำลังปรับปรุง…ด้านหน้าเปลี่ยนเป็นพนังกระจกใส…นึกฟิวว่าเป็นร้านสตาร์บัคส์แล้วคนนั่งจิบกาแฟมองมาเห็นหอนาฬิกา ตรังจะน่าอยู่ขึ้นมาก” , “ก่อนจะปรับปรุง อยากให้มี.. ทีมบริหารและทีมงานที่มีคุณภาพเพียงพอจะแก้ไขและพัฒนา หา BD เก่งๆ มาช่วยเป็นผู้พัฒนาค่ะ เพราะ.. ที่ตรังไม่มี BD ที่รู้ระบบการทำงานเลยยยยยย เสียของเยอะมาก ถ้าได้ BD เก่งๆ ไม่มีอะไรหน้ากลัวนอกจากผู้เซ็นอนุมัติงบ” , “ถ้าไม่กลับมาเป็นโรงแรม ก็เป็น TK park ,TCDC,Art gallery หรือ mix use เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนทั่วไป” , “ความคิดส่วนตัวนะครับ สถาปัตยกรรมภายนอกน่าอนุรักษ์ไว้ เพื่อคงความเป็นอัตลักษณ์ ส่วนงานปรับปรุงออกแบบภายในใหม่ ใส่ความทันสมัย +อัตลักษณ์ดั้งเดิม เป็นจุดขายครับ” , “รื้อ ถ้าปรับปรุงอีกก็สู้เอกชนไม่ได้เพราะรร.เอกชนมาก ปรับพื้นที่เป็นลานแสดงกิจกรรม พื้นที่พักผ่อนคู่กับจัตุรัสเมืองตรังที่กำลังสร้าง” , “ในตัวเมืองตรังเรามีโรงแรมของเอกชนเยอะแล้ว เยอะจนร้าง ดังนั้นโรงแรมตรังน่าจะปรับเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เช่น หอประชุม หอศิลป์ ศูนย์สินค้าโอท็อป เป็นต้น”

 

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ทั้งนี้ในปัจจุบัน เมื่อเรื่องคดีความถึงที่สุด โรงแรมตรังได้ตกเป็นที่จับตามองอีกครั้ง ว่าหลังจากนี้จะปรับเปลี่ยนรูปแบบหรือปรับปรุงอย่างไร เพราะถือเป็นไข่แดงในย่านเศรษฐกิจกลางเมือง จนล่าสุดทางเทศบาลนครตรังได้ว่าจ้างบริษัทดีไวพลัส จำกัด เพื่อทำการศึกษาออกแบบ และจัดเวทีรับฟังความความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับอนาคตโรงแรมตรัง โดยกำหนดเชิญรับฟังความคิดเห็นภาคประชาชน โครงการจ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษาให้ได้แนวทางและแผนการดำเนินการในการปรับปรุงอาคารโรงแรมตรังเพื่อศึกษาความเหมาะสม ออกแบบและรับฟังความคิดเห็นประชาชนในเขตเทศบาลนครตรัง ในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องภัชรัตน์ ชั้น 2 โรงแรมวัฒนาพาร์ค จังหวัดตรัง

 

นายสัญญา ศรีวิเชียร นายกเทศมนตรีนครตรัง เปิดเผยว่า เรื่องโรงแรมตรังนั้นถือว่าเป็นมหากาพย์ เพราะเทศบาลมีการฟ้องรองผู้ที่เช่า ตอนนี้คดีถึงที่สุดแล้ว เทศบาลนครตรังกำลังดำเนินการบังคับคดีกับคู่สัญญาที่ไม่จ่ายค่าเช่า ซึ่งเป็นความเสียหายจำนวนมาก ส่วนบริเวณที่เช่าช่วงต่อทั้ง 8 คูหา เทศบาลนครตรังก็ได้ดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนผู้เช่าช่วงได้ยื่นขออำนาจพิเศษของศาลให้คุ้มครอง แต่เทศบาลนครตรังได้คัดค้านคำร้องดังกล่าวของผู้เช่าช่วงแล้ว ซึ่งกรณีบริวารทั้ง 8 รายที่เช่าช่วงอาคารพาณิชย์อยู่ด้านล่างและยังอยากอยู่ต่อนั้น ทางเทศบาลเข้าใจว่าเป็นพื้นที่ทำมาหากิน แต่นายกเทศมนตรีไม่มีอำนาจจะให้ใครอยู่หรือไม่ ในส่วนของบริวารที่เป็นผู้เช่าช่วงต่อจากเอกชน ก็ต้องเป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย

นายสัญญากล่าวว่า ขณะนี้เทศบาลนครตรังได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อเข้ามาดำเนินการตรวจสอบ ดูแล ออกแบบ ก่อสร้างโรงแรมตรังใหม่ โดยเริ่มจากศึกษาด้านโครงสร้างของอาคาร เพราะโรงแรมตรังก่อสร้างมานานกว่า 50 ปี มีความชำรุดทรุดโทรมในหลายจุด และยังถูกทิ้งร้างมานาน อาจจะทำให้เกิดปัญหาต่อไปได้ ทางเทศบาลนครตรังได้พยายามดำเนินการต่อ เพราะโรงแรมตรังถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ของเมือง ไม่ว่าจะเป็นย่านเศรษฐกิจ ด้านศิลปะ สถาปัตยกรรมที่เป็นที่รู้จัก ซึ่งอยู่คู่กับหอนาฬิกาตรัง โดยการจ้างบริษัทที่ปรึกษาเขาจะเข้ามาดูเรื่องความมั่นคง ดูเรื่องการรีโนเวทว่าจะทำได้หรือไม่ ดูเรื่องงบประมาณและความคุ้มทุน และที่สำคัญต้องจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เสนอความต้องการ ว่าจะรีโนเวท หรือ รื้อถอนสร้างใหม่ แล้วต้องมีรูปแบบ-รูปลักษณ์อย่างไร เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เมืองต่อไป โดยเวทีรับฟังความคิดเห็นจะจัดขึ้นในวันที่ 27 พฤศจิกายนนี้ จะจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่โรงแรมวัฒนาพาร์ค

 

“โรงแรมตรังอยู่ในความสนใจของประชาชน เพราะเป็นอาคารที่ปิดร้างไว้นานหากโครงสร้างไม่แข็งแรงแล้ว ความคิดเห็นของผมก็อยากสร้างให้เป็นอาคารรูปแบบใหม่ ดึงดูดใจ สะดุดตาผู้คน มีที่จอดรถ และทำเป็นแหล่งเศรษฐกิจใหม่ขึ้นมา อาจจะมีห้างในตัวตึก มีโรงแรมห้องพัก 4 ดาว สำหรับรองรับนักท่องเที่ยว แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของอนาคต ที่ต้องอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น ศึกษาออกแบบ ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาต้องใช้ความรู้ความเข้าใจ ต้องศึกษาความคุ้มค่า อยากให้ประชาชนมาให้แนวคิดเรื่องการพัฒนาโรงแรมตรัง”นายสัญญากล่าว

นายสัญญากล่าวว่า ทั้งนี้การดำเนินการธุรกิจที่เกี่ยวกับของหน่วยงานราชการ สิ่งที่หนีไม่พ้นคือต้องให้เอกชนเข้ามาบริหารจัดการ เพราะหากเทศบาลบริหารจัดการเองจะเป็นไปยาก เพราะเป็นความยุ่งยากของระบบงาน งานการเงิน การคลัง บุคลากรของเทศบาลไม่มีประสบการณ์ แน่นอนต้องมีการประมูลเกิดขึ้น ในอนาคตหากเราดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ก็จะไม่เกิดประเด็นแบบในอดีตที่ผ่านมา หากมีการผิดสัญญาจะยกเลิกแต่เนิ่นๆ อย่างไรก็ตามในอดีตอาจมีเรื่องการบริหารที่ขาดตอนของผู้บริหารเทศบาลนครตรัง ที่มีส่วนทำให้มีปัญหาบ้าง ต่อไปหากเทศบาลนครตรังดำเนินการตามกฎหมายปัญหาต่างๆ จะไม่เกิดขึ้น

 

ทั้งนี้มีรายงานข่าวว่า ข้าราชการเทศบาลนครตรังผู้ถูกป.ป.ช.ชี้มูลบางราย จากกรณีโรงแรมตรังได้ต่อสู้ในชั้นศาล และศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 3 คน ได้แก่ นายปัญญา ภิรมย์ รองปลัดเทศบาลนครตรัง นายยงยุทธ เบญจวรางกูล ผู้อำนวยส่วนการโยธาและผังเมือง และนายสมมุ่ง จีนแก้วเปี่ยม นิติกร เนื่องจากผู้ถูกชี้มูลมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้มีอำนาจ และได้แนบข้อกฎหมาย แนบฎีกาประกอบ ส่วนการตัดสินใจนั้นขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจที่จะเซ็นหรือไม่ ซึ่งข้าราชการทั้ง 3 ได้สิทธิกลับมาทำงานในตำแหน่งเดิม และมีสิทธิได้รับเงินเดือนย้อนหลังในช่วงที่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งขั้นตอนต่อจากนี้ต้องติดตามการดำเนินการจากทางเทศบาลนครตรังต่อไป

ต 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน