X

สมาคมปาล์ม ขอสานต่อ คนป. ลดต้นทุนปุ๋ย เชื่อ “พีรพันธ์” ลั่นลดราคาพลังงานทันที

สมาคมปาล์ม ขอสานต่อ คนป. ลดต้นทุนปุ๋ย เชื่อ “พีรพันธ์” ลั่นลดราคาพลังงานทันที สภาเกษตรฯตรัง ขอรบ.ใหม่ ยางกิโลฯ 80 บาท เร่งใช้ภายในประเทศ แก้ระเบียบราคากลางพัสดุภาครัฐ

นายศิววงศ์ นวลสุวรรณ สภาเกษตรกรจ.ตรัง และประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์จ.ตรัง (เสื้อขาว) กล่าวว่า เชื่อว่าหน้าตาคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทย จะมีความสามารถในการแก้ไขปัญหาปากท้อง โดยเฉพาะปัญหาราคาสินค้าเกษตรได้ เพราะตามข่าวที่ออกมาหลายคนก็เป็นอดีตรัฐมนตรีมาตั้งแต่ยุคพรรคไทยรักไทย ซึ่งมีความรู้ความสามารถในด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรจึงมีความคาดหวังว่าราคาสินค้าเกษตรจะดีขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคใต้ ในเรื่องของปาล์มน้ำมัน และยางพารา ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ประสบปัญหาราคาตกต่ำมาตลอด จากข้อมูลการยางแห่งประเทศไทย ต้นทุนยางพาราของเกษตรกรอยู่ที่กิโลกรัมละ 55 บาท ดังนั้นราคาที่พอทำให้เกษตรกรอยู่ได้ พอมีกำไรควรอยู่ที่ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 80 บาท

“สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่สานต่อนโยบายการใช้ยางพาราในประเทศอย่างต่อเนื่องจริงจัง หลังจากรัฐบาลที่ผ่านมาได้ดำเนินการมาบ้างแล้วบางส่วน โดยเฉพาะการใช้ยางพาราในภาครัฐ การทำถนนพาราแอทฟัลท์คอนกรีตที่มีสัดส่วนยางธรรมชาติผสมมากอย่างมีนัยยะสำคัญต่อกลไกราคา นอกจากนี้ อย่างให้ผลักดันจริงจังในเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตยางล้อทุกชนิด เพราะประเทศไทยมีวัตถุดิบ มีโรงงานผลิตยางรถยนต์มากมาย แต่กลับเป็นของต่างชาติมาลงทุน ทั้งนี้ทั้งนั้น ในส่วนการใช้ยางภาครัฐ ยังติดขัดระเบียบกฎหมายของกรมบัญชีกลางในเรื่องการกำหนดราคากลางของทางราชการ ที่ยังไม่มีราคากลางของวัสดุจากยางธรรมชาติ จึงอยากให้รัฐบาลช่วยแก้ไขในส่วนนี้ด้วย”สภาเกษตรกรจ.ตรังระบุ

นายชัยฤทธิ์ ถ่ายย้วน นายกสมาคมชาวสวนปาล์มจ.ตรัง กล่าวว่า เรื่องปาล์มน้ำมัน รัฐบาลไม่ต้องอะไรเลย ทำตามเพียงตามคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมั้นแห่งชาติ หรือ คนป.ที่ได้นำไปผ่านคณะรัฐมนตรีแล้ว เพียงแค่รัฐบาลทำตามกฎหมายที่ได้รับการยอมรับแล้วทำต่อ ก็จะไม่มีปัญหาแล้ว และคาดว่าผลผลิตปาล์มน้ำมันของทั้งประเทศจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดด้วยซ้ำ แต่ตนอยากฝากรัฐบาลเรื่องปุ๋ย อยากให้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดโรงงานปุ๋ยแห่งชาติ เพราะตนได้ฟังข้อมูลรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ว่าจะนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปจากต่างประเทศ เพื่อกดดันราคาน้ำมันภายในประเทศ ฉะนั้นโรงงานที่กลั่นน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ที่นำแก๊สมีเทนไปให้โรงไฟฟ้าเผาปีละนับแสนตัน ให้เอาเงินส่วนนั้นมาแบ่งสำหรับทำปุ๋ยบ้าง รัฐบาลต้องจริงในการแก้ปัญหาให้เกษตรกร หากรัฐบาลทำได้ต้นทุนการผลิตเกษตรกรจะต่ำลง และโรงทำปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรท์ที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่รัฐบาลออกประทานบัตรแล้วให้สานต่อ แล้วพี่น้องเกษตรกรจะได้ใช้ เมื่อลดต้นทุนได้กำไรก็จะเพิ่มขึ้น หากราคาปุ๋ยในประเทศราคา 600-700 บาทต่อกระสอบ จะทำให้เกษตรกรไทยอยู่ได้

นายชัยฤทธิ์กล่าวว่า ส่วนของราคาปาล์มขึ้นอยู่กับกลไกตลาด เพราะน้ำมันปาล์มเป็นสินค้าเพื่อการบริโภค การทำตามคนป.ควรจะทำอย่างจริงจัง รัฐบาลใหม่ต้องเร่งทำตามนโยบายของคนป. คือ 1. ทำน้ำมันเกรดดีเซลสำหรับเครื่องบินเจ็ท 2.ทำน้ำมันหล่อลื่นสำหรับหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งหากทำได้จะลดการนำเข้าได้ และ สามารถส่งออกไปขายได้ด้วย 3.ทำสารตั้งต้นสำหรับผลิตผงซักฟอก
ทั้งนี้รัฐบาลต้องส่งเสริมการขายการตลาดให้ประชาชนยอมรับการใช้น้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภคด้วย สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องกับการบริโภคน้ำมันปาล์ม โดยปัจจุบันที่ราคาปาล์มน้ำมัน อยู่ที่กิโลกรัมละ 5-6 บาท ซี่งราคาที่ควรจะเป็นต้องไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท หากทำราคาปุ๋ยลดลงได้ 30 เปอร์เซ็นต์ เกษตรกรก็จะมีกำไรเพิ่มขึ้น 60-70 เปอร์เซ็นต์

นายชัยฤทธิ์กล่าวว่า ตนได้ฟังคำสัมภาษณ์ของนายพีรพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ผู้มีโผเป็นว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้สัมภาษณ์สื่อ ซึ่งท่านบอกว่าจะทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงลดลง ไม่ยอมให้ปตท.หรือโรงกลั่นในประเทศผูกขาด ซึ่งถือเป็นผลดีที่จะนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป และเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้ผลิตจะแปรรูปน้ำมันมาทำเป็นปุ๋ยเคมีให้เกษตรกร ซึ่งเราสั่งเข้ามาปีละนับแสนล้านบาท ซึ่งตนเห็นว่านี่เป็นความท้าทายที่รัฐมนตรีว่าการกระรวงพลังงานคนใหม่จะทำงาน เพื่อให้ผลประโยชน์ตกแก่เกษตรกรโดยแท้จริง

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน