X

ตรัง ขานรับนโยบายสุราก้าวหน้า ทำวิจัยหนุนยอดข้าวตรังทำเบียร์ ต่อยอดสู่คราฟโลก

ตรัง ขานรับนโยบายสุราก้าวหน้า มอ.ร่วมกับผู้ประกอบการ นักดื่มเบียร์ ร่วมทำวิจัยนำข้าวเบายอดม่วง มาทำเบียร์ ผลักดันจากหิ้งสู่ห้าง หนุนข้าวเบายอดม่วง จ.ตรัง ต่อยอดสู่คราฟโลก พัฒนาจากขีดจำกัดวัตถุดิบพื้นถิ่นสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ กับกระบวนการสุดพิถีพิถันสู่ความอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์ และ “FAV Flavor” วิเคราะห์ตลาดนักดื่ม

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ร่วมกับ ผู้ประกอบการ กะช่องฮิลส์ เต็นท์ รีสอร์ท ตรัง ร่วมเสวนา ในหัวข้อ “ยอดข้าวตรัง ต่อยอดสู่คราฟโลก” ในโครงการร่วมวิจัยเพื่อส่งเสริมพัฒนาวิชาการ ภารกิจด้านการให้บริการทาง วิชาการ ที่กะช่องฮิลส์ เต็นท์ รีสอร์ท ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง โดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และ กะช่องฮิลส์ เต็นท์ รีสอร์ท ตรัง ดำเนินการนําผลิตภัณฑ์งานวิจัยของมหาวิทยาลัยด้านสุขภาพ “ข้าวเบายอดม่วงเพื่อสุขภาพ และผลิตภัณฑ์อาหาร เสริมจากข้าวเบายอดม่วง” ไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อหน่วยงาน สังคม และนําผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีอยู่ หรือสร้างขึ้นใหม่ภายในแต่ละหน่วยงาน สำหรับหัวข้อการเสวนาในครั้งนี้ 1.เรียนรู้มอลต์ข้าวเบายอดม่วง (R&D)โดย ดร.อิสระ ชนะแก้วสมบูรณ์ 2.การต่อยอดและพัฒนาจากขีดจำกัดวัตถุดิบพื้นถิ่นสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ 3.กระบวนการสุดพิถีพิถันสู่ความอร่อยที่เป็นเอกลักษณ์  และ4. “FAV Flavor” วิเคราะห์ตลาดนักดื่ม

ทั้งนี้ ข้าวเบายอดม่วง เป็นข้าวสายพันธุ์โบราณพื้นถิ่นตรัง คุณค่าจาก อดีตสู่อนาคต..กว่าร้อยปี “ข้าวเบายอดม่วง” เป็นที่นิยมของคนพื้นถิ่นตรัง ด้วยความนุ่มหอมแบบข้าวจ้าวและหนึบแบบข้าวเหนียวแป้งน้อย ส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ ทานแล้วไม่อ้วน คุณค่าของสารเม็ดสีแดง(โพลีฟีนอล)ในเยื่อ สามารถต้านอนุมูลอิสระสูงสุด เมื่อเทียบข้าวหอมมะลิและข้าวพื้นถิ่นภาคใต้ ความตั้งใจที่จะให้คุณค่ากลับคืน เราได้ร่วมส่งเสริมแปลงนา เก็บเกี่ยวผลผลิตรังสรรค์เมนูร่วมสมัยจากข้าวเบายอดม่วง เน้นการใช้วัตถุดิบพื้นบ้านในชุมชนมาปรุงอาหาร สไตล์พื้นถิ่นตรัง เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้มาเยือนอย่างภาคภูมิใจ

ด้านผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จุมพล ชื่นจิตต์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายกฎหมายและบริการวิชาการมหาวิทยาลัยสงขลานครรินทร์ บอกว่า สำหรับในวันนี้ถือเป็นความร่วมมือ อันหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จังหวัดตรัง กับผู้ประกอบการ ถือว่าเป็นความร่วมมือระดับหนึ่งของทางวิชาการ เนื่องจากว่าเรามีอาจารย์ที่ทำวิจัยในเรื่องของข้าวเบายอดม่วง ซึ่งนำมาผ่านกระบวนการที่ถือว่าเป็นข้าวเบาที่มีประโยชน์ ในทางการแพทย์ แต่ทั้งนี้เราจะต่อยอดจากตรงนี้ จะมูลค่าเพิ่มไปสู่คุณค่า แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผู้ประกอบการก็มีส่วนสำคัญเป็นผู้ใช้บริการเราเหมือนกัน เพราะฉะนั้นตรงนี้เราเลยมาทำความร่วมมือกัน พอดีจะอยากทราบว่าถ้าเกิดเรานำข้าวเบายอดม่วง มาทำการต่อยอดเป็นเครื่องดื่ม ประเภทต่าง ๆ เราจะต้องทำอย่างไร และในวันนี้เราเห็นได้ว่าได้มีการจัดเก็บข้อมูลเพิ่ม มาสู่นักปฏิบัติการ ซึ่งตรงนี้เราจะกลับไปประมวลและวิเคราะห์อีกที ว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป ให้เกิดคุณค่าเพิ่มขึ้นมา และทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ได้มีโรงเรือนกัญชา ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่มีใบอนุญาตเรียบร้อยเราก็ใช้ผลิตภัณฑ์ ส่วนหนึ่งที่มาจากโรงเรียนกัญชาและเป็นแบบ Organic เข้ามาเป็นส่วนผสมในการที่จะทำเครื่องดื่มในครั้งนี้ ซึ่งผลการตอบรับดีพอสมควร แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะนำไปเป็นข้อมูลกลับไปทำการวิจัยต่อไป ว่าจะทำอย่างไรให้เป็นรสชาติสากลมากขึ้น

ส่วนทางด้านนายประพล วิระพรสวรรค์ ผู้ผลักดันข้าวเบายอดม่วงตรัง ผู้ประกอบการที่พักกะช่องฮิลล์เต็นท์รีสอร์ทนาโยงตรัง บอกว่า สำหรับข้าวเบายอดม่วง ถือว่าเป็นหนึ่งในวัตถุดิบพื้นถิ่นของจังหวัดตรัง กำลังเป็น GI ของตรัง ซึ่งข้าวเบายอดม่วงเป็นข้าวที่ชาวบ้านชอบรับประทานมาก มีคาร์โบไฮเดรตต่ำ และมีคุณค่าทางอาหารสูง ซึ่งจะหนึบเหนียวเหมือนข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ชาวบ้านเลยเรียกว่าข้าวเหนียวเจ้า แต่เราเห็นว่าควรยกระดับคุณค่าทำเป็นผลิตภัณฑ์ เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทางกะช่องฮิลล์รีสอร์ทได้พยายามที่จะสนับสนุน ก็คือมาทำอาหารในส่วนของซุปข้าวเบา ทำซูชิโรลเข้าเบายอดม่วง ซึ่งก็ลงตัว มาทำข้าวยำหรือเอามาทำเป็นเบส ในหลายๆเรื่องที่ทำให้ข้าวเบายอดม่วง มีความโดดเด่นและยกราคาขึ้นมา ในส่วนของวันนี้เป็นความร่วมมือที่จะทำในเรื่องของเครื่องดื่ม คราฟเบียร์ซึ่งมีมูลค่าสูงมาก และวันนี้นักดื่มหรือว่าคนรุ่นใหม่ชอบดื่มคาร์ฟเบียร์มาก เป็นเบียร์ที่ให้ความหอมให้ความละมุน แอลกอฮอล์อยู่ด้วยความเหมาะสม และที่สำคัญที่สุดคราฟเบียร์ที่ออกมาด้วยเด็กไทยด้วยคนไทย หลายแบรนด์เลยเป็นสิ่งที่ใช้วัตถุดิบจากพื้นถิ่น ดังนั้นก็เลยมีความคิดร่วมกับทางมหาวิทยาลัยว่า อยากเชิญนักวิชาการมาช่วยกัน หาคุณค่าของข้าวเบายอดม่วง และยกระดับคุณค่าโดยการผ่านกระบวนการ ทำคราฟเบียร์มืออาชีพ ซึ่งวันนี้ก็ถือว่าได้นักชิมเวอร์ นักต้มเบียร์ซึ่งมีความรู้ ในระดับจังหวัดหลายจังหวัด มารวมตัวกันเพื่อจะ ลองชิมดูว่าข้าวเบายอดม่วง ทำมอลต์ที่ดีที่สุดได้ยังไง ซึ่งรสชาติแต่ละสูตรตรงไหนคือความต้องการของตลาดของผู้บริโภค เป็นการยกระดับคุณค่า คิดว่าโอกาสต่อไปเมื่อกฎหมายเปิดช่อง ให้ผู้ประกอบการรายย่อย ได้ทำการลงทุน เพื่อจะทำเบียร์ชุมชนหรือว่าสนับสนุนสุราชุมชนตามที่เป็นนโยบายของรัฐบาลก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจชุมชนฐานราก การยกระดับสินค้ายกระดับราคา ของวัตถุดิบพื้นถิ่นจะสูงขึ้น ทำให้เศรษฐกิจรากหญ้าดีขึ้นแน่นอน แล้วเราก็จะเป็นส่วนร่วมในการพัฒนาเรื่องนี้กับทางมหาวิทยาลัย ซึ่งวันนี้มีคนทั้งหมด 3 ส่วนคือนักวิชาการ ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของทฤษฎี นำข้าวเบายอดม่วงไปทำการวิจัยเรื่องคุณค่าที่ดีที่สุดขณะที่ข้าวเปลือกเป็นมอลต์ ระยะเท่าไหร่จึงให้กาบ้าอะไรให้คุณค่า คนกลุ่มที่ 2 ก็คือ คนที่มีความรู้ในการปรุงเบียร์ มาจากหลายแบรนด์ของเด็กในพื้นที่และบุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านนี้ก็มา และส่วนที่ 3 คือผู้ที่เป็นร้านที่จำหน่ายคราฟเบียร์ในจังหวัดตรังจะเข้าใจเรื่องของความต้องการของผู้บริโภค เพราะฉะนั้น 3 คนนี้จะมารวมตัวกันในเวทีนี้เพราะเป็นเวทีวิชาการ เพื่อจะหาจุดลงตัวของการทำผลิตภัณฑ์คราฟจากวัตถุดิบพื้นถิ่น วัตถุดิบหลัก ๆ ส่วนสำคัญที่สุด คือ มอลต์ ที่เรากินเบียร์มาจากข้าวสาลี ซึ่งเป็นวัตถุดิบนำเข้าหมดเพราะฉะนั้นเราไม่มีข้าวสาลี เรามีแต่ข้าวธรรมดา และที่ตรัง มีข้าวเบายอดม่วง สามารถนำมาทำเบียร์ทำเครื่องดื่มทำแอลกอฮอล์ได้ เราต้องมาวิจัยก่อนว่า ข้าวตัวนี้คุณค่าที่ดีที่สุดอยู่ตรงไหนและจะหยิบคุณค่านั้นขึ้นมา ปรุงแต่งเพื่อให้เกิดเป็นรสชาติ ตามที่ผู้บริโภคตามตลาดต้องการ ซึ่งเป็นเสน่ห์ของ คราฟเบียร์ ซึ่งในตลาดตอนนี้คราฟเบียร์ ที่เด็กไทยทำมาเป็นแบรนด์ ส่งขายแบบถูกต้องตามกฎหมาย หลายแบรนด์และขายได้ราคา มีราคาตั้งแต่ 200 ถึง 300 บาท ไปจนถึง 400 ถึง 500 บาท รสชาติก็จะดีแต่มันเป็นความสุนทรียะ ทางการดื่มคราฟที่น่าสนใจทีเดียว ซึ่งคิดว่าเรื่องนี้ต้องน่าส่งเสริม ทั้งทางกฎหมายทางชุมชนทางรัฐบาล ควรที่จะหันมาดูเรื่องนี้ เพื่อที่จะให้กลายเป็นสินค้าชุมชนที่น่าสนใจต่อไป

และในวันนี้เบียร์ที่ทำโดยข้าวเบายอดม่วงจะมีจุดเด่นก็คือกลิ่น เพราะจะมีกลิ่นเฉพาะตัวเขา เป็นส่วนผสมในการผลิต ซึ่งเป็นเบสของวัตถุดิบ รสชาติกลางๆไม่รู้สึกว่าดื่มแล้ว ดื่มยากเป็นการดื่มง่ายๆ แต่วันนี้ที่มีความพิเศษก็คือ มีกัญชาเข้ามาเป็นส่วนผสมด้วย ถือว่าเป็นเครื่องดื่มที่ดี ในเรื่องของการผ่อนคลายมองเป็นเครื่องดื่มสุขภาพ ในแง่ของการดื่มในปริมาณที่เหมาะสม

ซึ่งในตรงนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการวิจัย ที่ทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ทำวิจัยร่วมกับทางชุมชนและทางผู้ประกอบการ การทำวิจัยที่นำไปสู่การพาณิชย์ได้แน่นอน ซึ่งคิดว่าโอกาสต่อไปถ้ากฎหมายเปิดกว้างในเรื่องการทำสุราชุมชนหรือเบียร์ชุมชน ให้ชาวบ้านได้สามารถทำได้โดยผ่านกระบวนการ ที่มีมาตรฐาน และทางมหาวิทยาลัยคงจะต้องศึกษาเรื่องของกฎหมาย และมีข้อเสนอแนะไปยังทางรัฐบาล ในเรื่องของตัวกระบวนการการผลิตที่ถูกต้องและถูกสุขลักษณะ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำเรื่องนี้

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน