X

ตรัง เกษตรกรทำสวนทุเรียนคุณภาพ เน้นใช้อินทรีย์ ขายเองไม่ผ่านล้ง

ตรัง-เกษตรกรทำสวนทุเรียนคุณภาพ เน้นแนวทางเกษตรใช้อินทรีย์ หวังโกยเงินเข้ากระเป๋า เริ่มต้นฤดูกาลปีนี้ ราคาทุเรียนก้านยาวพุ่งกก.ละ 400 บาท ทุเรียนหมอนทอง กก.ละ 300 บาท   เชื่อหากทำทุเรียนคุณภาพยึดศาสตร์พระราชา แก้ปัญหาน้ำกร่อย แก้ปัญหาดินทราย ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ฮอร์โมนปลาที่ทำเอง ห่อผลทุเรียนด้วยถุงสีแดงเชื่อจะได้ราคาดี เพราะปลอดภัยทั้งผู้ขายและผู้บริโภคไร้สารเคมี 100%

ผลไม้ “ทุเรียน”  เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญที่ตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน ต้องการผลผลิตจากไทยจำนวนมากติดต่อกันมาหลายปี เกษตรกรทั่วประเทศที่ดินเหมาะกับการปลูกทุเรียน หันมาเพิ่มพื้นที่ปลูกกันมากขึ้น  ทั้งไว้รับประทานในครอบครัว และปลูกเพื่อการค้า รวมทั้งในจ.ตรัง ก็พบว่าเกษตรกรใช้พื้นที่ว่างหันปลูกทุเรียนกันจำนวนมาก  และล่าสุด พบว่าเริ่มต้นฤดูกาลปีนี้ ราคาทุเรียนก้านยาวพุ่งกก.ละ 400 บาท ทุเรียนหมอนทอง กก.ละ 300 บาท  จึงทำให้เกษตรกรที่ปลูกทุเรียนในจ.ตรัง ต่างพยายามทำทุเรียนคุณภาพออกสู่ท้องตลาดกันมากขึ้น  และในจ.ตรัง ปีนี้พบว่า หากใครใช้พื้นที่ปลูกมากกว่า 1 ไร่ขึ้นไป จะมีพ่อค้า แม่ค้า หรือบริษัทเข้าไปติดต่อขอซื้อแบบเหมายกสวน เพื่อนำไปส่งออก จึงทำให้เกษตรกรพยายามจะทำผลผลิตของตนเองให้ได้คุณภาพกันมากขึ้น

โดยที่สวนไกรวิชญ์ ทุเรียนอินทรีย์  หมู่ที่ 3 ต.ท่าพญา อ.ปะเหลียน จ.ตรัง   นายวิชัย เดิมหลิ่ม  และ นางสุดจิตร เดิมหลิ่ม  สองสามีภรรยาซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ ใช้เวลาว่างทำการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกทุเรียนทั้ง หมอนทอง ชะนี ก้านยาว รวมทั้งทุเรียนสายพันธุ์พื้นบ้านหลายชนิด บนเนื้อที่ 7 ไร่ รวมประมาณ  80 ต้น  แต่ส่วนใหญ่จะเป็นสายพันธุ์หมอนทอง ที่ขณะนี้อายุต้นได้ประมาณ 6 ปี และเพิ่งจะออกผลผลิตเป็นปีแรก รวมประมาณ 40 ต้น ไม่ต่ำกว่า 600 ลูก  ซึ่งเมื่อเข้าไปชมสวนพบว่ามีการห่อผลทุเรียนด้วยถุงสีแดง เพื่อดูแลคุณภาพ

โดยนายวิชัย เดิมหลิ่ม บอกว่า ผลผลิตปีแรกคาดว่าจะได้ไม่ต่ำกว่า 1 ตัน ซึ่งสวนของเพื่อนบ้านหลายแห่งพบว่ามีพ่อค้า แม่ค้า มาติดต่อขอซื้อแบบเหมาแปลงไปหลายสวนในราคาเหมากก.ละ 150 -160 บาท   แต่ของตนเองไม่ขาย อยากจะทำผลผลิตขายด้วยตนเอง โดยตั้งใจว่าจะทำทุเรียนอินทรีย์ให้ได้ในอนาคต  โดยการเดินตามศาสตร์พระราชาเศรษฐกิจพอเพียง   ซึ่งปีแรกนี้ เริ่มต้นทุกอย่างแล้ว ทั้งการแก้ปัญหาน้ำกร่อย เพราะแหล่งน้ำได้จากอ่าวปะเหลียน ซึ่งจะมีน้ำทะเลหนุน การแก้ปัญหาดินทราย  ด้วยการทำปุ๋ยใช้เอง ทั้งปุ๋ยหมักที่เอาเศษหญ้าจากการใช้คนตัดหญ้านำไปทำปุ๋ยหมัก  การทำปุ๋ยอินทรีย์คือ ปุ๋ยไส้เดือนใช้เอง โดยเริ่มต้นซื้อไส้เดือนมาตั้งแต่ปีที่แล้ว จำนวน 7 กก. ราคากก.ละ 500 บาท ซื้อมูลวัวจากชาวบ้านในพื้นที่ กระสอบละ  35-40 บาท  ช่วยเหลือชาวบ้านด้วย นำมาทำเป็นปุ๋ยไส้เดือน  ตอนนี้ได้ไส้เดือนเพิ่มเป็น 30 กก. จนตอนนี้เข้าสู่รอบที่ 16 แล้ว  ปุ๋ยไส้เดือนที่ได้สำหรับใช้ใส่สวนทุเรียนทุกๆ  20 วัน  และพืชผักสวนครัว ประหยัดไปได้มาก แทนที่จะใช้ปุ๋ยเคมีทั้งหมด ซึ่งราคายังแพง  แต่ปุ๋ยเคมีใช้เสริมเพียงเล็กน้อยประมาณครั้งละ 3-4 ขีดเท่านั้น เพื่อเสริมธาตุอาหารให้แก่ดินและพืช , การทำน้ำหมักจุลินทรีย์ จากปลาและสับปะรด หรือเรียกว่าฮอร์โมนปลา  สำหรับรดและฉีดพ่นให้อาหารทางใบ  จะไม่ใช้ฮอร์โมนที่จำหน่ายในท้องตลาดเลย  , การใช้ขวดดักจับแมลง ,การใช้สารฆ่าเชื้อราของกรมวิชาการเกษตร  , การปลูกปอเทืองในแปลง เพื่อรักษาคุณภาพดิน และที่สำคัญการห่อผลทุเรียนด้วยถุงสีแดง ตั้งแต่ลูกเท่ากำปั้น หรือเท่าไข่ไก่  สามารถป้องกันแมลง ป้องกันสัตว์  ซึ่งเมื่อเปิดถุงออกดูตอนนี้ พบว่า ลูกสวย ผิวสวย ไม่มีตำหนิ  ผลใหญ่  น้ำหนักต่อลูกประมาณ 4-6 กก. ประมาณ 3 -5 พู ซึ่งขนาดพูแบบนี้ถือว่าเป็นทุเรียนคุณภาพแน่นอน อีกประมาณกลางเดือนกรกฎาคมคาดว่าผลผลิตจะสุกขายได้      เหตุที่ไม่ยอมขายยกแปลงให้บริษัท ที่มาติดต่อ เพราะต้องการจะทำเองเป้าหมายอยากให้เป็นทุเรียนอินทรีย์ จึงพยายามทำ  เชื่อว่าจะได้ราคาดีกว่าราคาเหมาที่ขายให้บริษัทแน่นอน เพราะการทำทุเรียนคุณภาพทั้งผลผลิตและความปลอดภัย จะยุ่งยากมากกว่า ต้องเอาใจใส่และขยันดูแล คิดวิธีการบำรุงรักษา และดูแลคุณภาพ   เชื่อว่าจะเป็นที่ต้องการของตลาด เพราะประชาชนในขณะนี้รักสุขภาพ ดูแลสุขภาพ ซึ่งเจ้าของสวนก็รักสุขภาพอยากรับประทานทุเรียนคุณภาพ ปลอดภัยจากสารเคมี 100% ก็อยากส่งต่อผลผลิตทุเรียนคุณภาพให้แก่ลูกค้าเช่นกัน  เพราะเน้นเรื่องความปลอดภัยทั้งตัวเอง และผู้บริโภค  คาดราคาจะสูงกว่าทุเรียนทั่วไป เพราะปลอดภัยผู้ซื้อก็จะกล้าซื้อ แต่ขั้นตอนการดูแลรักษาบำรุงเสียเวลามากกว่า  ใครสนใจสั่งจองล่วงหน้า ได้ที่เบอร์โทรศัพท์  091 -3261058

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน