ตรัง อดีตข้าราชการยึดอาชีพเพาะขยายพันธุ์ และอนุรักษ์ “แพะดำวังคีรี” แพะสายพันธุ์พื้นเมืองไทยประจำถิ่นจ.ตรัง ลักษณะเด่น ขนดำ หนังดำ ลิ้นดำ เล็บเท้าดำ เนื้อรสชาติอร่อยกว่าแพะทั่วไป เป็นที่ต้องการของตลาด
นายสำเริง สิทธิชัย อายุ 58 ปี อดีตข้าราชการ สังกัดสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ตรัง ต.วังคีรี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ใช้พื้นที่บริเวณสวนปาล์มน้ำมันที่บ้าน ในหมู่ 8 ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ทำเป็นฟาร์มขยายพันธุ์และอนุรักษ์ “ แพะดำสายพันธุ์วังคีรี” ทั้งอนุรักษ์สายพันธุ์และขายสร้างรายได้เสริมส่งลูกเรียนหนังสือ เพราะเป็นแพะขนาดเล็ก ขายง่าย เป็นที่ต้องการของตลาดสูง
นายสำเริง สิทธิชัย บอกว่า ตนเองทำงานเป็นเจ้าหน้าที่สัตวบาล ประจำสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ตรัง แต่เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ได้ลาออกแล้วมาทำสวน ซึ่งตอนอยู่สถานีวิจัยฯ ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ประจำสถานีฯในการวิจัยและพัฒนาปรับปรุงแพะสายพันธุ์พื้นเมือง ด้วยการเก็บลักษณะแพะพื้นเมืองภาคใต้สีดำ โดยผสมพันธุ์กับแพะพันธุ์แบล็คเบงกอล จนได้รุ่นลูกออกมาและขึ้นทะเบียน เป็น “ แพะดำวังคีรี” เป็นแพะสายพันธุ์พื้นเมืองไทยประจำถิ่น จ.ตรัง ได้สำเร็จ เมื่อปีประมาณ 2559 จากนั้นได้มีการขยายพันธุ์และส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง เพื่อเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญในพื้นที่ แต่ต่อมาสถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ตรังได้เลิกเลี้ยงและแพะทั้งหมดถูกโอนย้ายไปอยู่ที่สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ยะลา ซึ่งเป็นศูนย์แพะพื้นเมืองภาคใต้ ทำให้ที่สถานีวิจัยทดสอบพันธุ์สัตว์ตรังไม่มีแพะดำสายพันธุ์วังคีรีหลงเหลืออยู่แล้ว ส่วนของเกษตรกรที่รับไปเลี้ยงก่อนหน้านี้ก็เอาไปผสมข้ามสายพันธุ์เสียทั้งหมดแล้ว แต่ตนเองซึ่งประกอบอาชีพทำสวนด้วย เมื่อลาออกมาก็ได้เก็บพ่อแม่พันธุ์มาไว้ส่วนหนึ่ง จำนวน 6 ตัว เป็นพ่อพันธุ์ 1 ตัว แม่พันธุ์ 5 ตัว ซึ่งทุกตัวจะมีรหัสโค๊ตประจำตัวจากสถานีฯ จากนั้นนำมาขยายพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์เอาไว้ได้ ประมาณ 4 ปีแล้ว ซึ่งผลิตได้หลายร้อยตัวแล้ว แต่เก็บเอาไว้มากไม่ได้ เพราะจำกัดด้วยพื้นที่ จึงส่งต่อให้เกษตรกรคนอื่นๆเอาไปเลี้ยงต่อ และขายเป็นเนื้อด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
- ตรัง จี้ซ่อมด่วนก่อนปิดท่าเรือปากเมงทรุด กระเบื้องร่วง-โป๊ะพัง-รังแตนอาละวาด หวั่นนักท่องเที่ยวอันตรายถึงชีวิต
- ตรัง เปิดความสวยงาม "เขาแบนะ-อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม" เส้นทางศึกษาธรรมชาติเลียบภูเขาชมทะเลงาม
- ตรัง กลุ่มผู้พิการท่องทะเลตรังสร้างประสบการณ์ที่ไร้ขีดจำกัด ให้ทุกคนได้สัมผัสอย่างเท่าเทียม
- ผู้ว่าฯ ตรัง ขานรับนโยบายรัฐบาลเดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติดตาม "ธวัชบุรีโมเดล" ลุย x-ray พื้นที่ รวบรวมข้อมูล ดีเดย์ปลายเดือน พ.ย.นี้
ซึ่งส่วนที่ตนเองเก็บไว้ จะรักษาสายพันธุ์ดั้งเดิมไว้ไม่ผสมข้ามสายพันธุ์เด็ดขาด แต่ขณะนี้ก็มีปัญหาเรื่องเลือดชิด แต่ก็ต้องพยายามแลกเปลี่ยนกับทีมงานที่นำพ่อ แม่พันธุ์ที่มีรหัสไปเลี้ยงและรักษาสายพันธุ์ดั้งเดิมไว้โดยเฉพาะ มาแลกเปลี่ยนกันผสมพันธุ์ เพื่อป้องกันเลือดชิด ที่พ่อ แม่ ลูก ผสมกัน จะทำให้สายพันธุ์ผิดเพี้ยนไป ก็พยายามกันอย่างเต็มที่ พ่อ แม่พันธุ์ที่มีรหัส ของตนเองตอนนี้ผลิตลูกได้ปีละประมาณ 3.5 ตัวต่อแม่ 1 ตัว ถ้าขายจะขายเป็นกิโลกรัม ๆละ 140-150 บาท ถ้าเป็นตัวผู้กก.ละ 160 -170 บาท เฉลี่ยราคาประมาณตัวละ 2,000 กว่าบาท ไม่แพง ตลาดขายง่าย คนซื้อไปส่วนมากจะนำไปใช้ในการแก้บน เพราะเป็นแพะไซต์เล็กเป็นนิยมของพี่น้องมุสลิม
ตอนนี้ของตนเองมีพ่อพันธุ์ 2 ตัว แม่พันธุ์ 12 ตัว เลี้ยงมากกว่านี้ไม่ไหว ต่อปีขายได้ประมาณ 25-30 ตัว โดยจะเน้นขายตัวผู้ ส่วนตัวเมียเพื่ออนุรักษ์สายพันธุ์เอาไว้ด้วย ทั้งนี้ แพะดำวังคีรีเป็นสายพันธุ์ที่เลี้ยงง่าย แพะขนาดเล็กตลาดต้องการสูง เป็นที่นิยม กินใบปาล์มเป็นหลัก และปล่อยให้กินหญ้าตามธรรมชาติในสวนปาล์ม ซึ่งจ.ตรัง สวนปาล์มมีจำนวนมาก เหมาะแก่การแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงขาย เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สำคัญได้ ต้นทุนต่ำ ขายง่าย กินใบปาล์มที่เกษตรกรตัดทิ้ง แต่หากเลี้ยงแพะสายพันธุ์ต่างประเทศต้องเลี้ยงด้วยอาหารข้นด้วย ซึ่งอาหารราคาแพง สู้ไม่ไหว แนะนำให้เกษตรกรเลี้ยง หากเลี้ยงแม่พันธุ์สัก 10 แม่ อย่างของตนเองสามารถเป็นค่าเทอมส่งลูก 2 คน เรียนหนังสือมหาวิทยาลัยเอกชนได้เลย
ซึ่งเอกลักษณ์ของแพะดำวังคีรี คือ ความดำถูกต้องตามสายพันธุ์ดั้งเดิม 100% คือ ขนดำ หนังดำ ลิ้นดำ เล็บเท้าดำ เป็นต้น มีขนาดเล็ก เนื้อรสชาติอร่อยกว่าแพะทั่วไป เจริญเติบโตและผสมพันธุ์ได้วัยประมาณ 8-10 เดือน มีความสมบูรณ์ของพันธุ์สูง แม่แพะคลอดลูกได้ครั้งละ 1-3 ตัว เปอร์เซ็นต์การให้ลูกแฝดสูง ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงลูกสั้น จึงตั้งท้องใหม่ได้เร็ว ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ดี ทนทานต่อสภาพอากาศที่ร้อนชื้นได้ดี ตัวเล็กเป็นที่ต้องการของตลาด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: