X

บินสำรวจพะยูน-เต่า-โลมาทะเลตรัง เพิ่มจำนวน พบพะยูนเริงร่ากินหญ้า-ผสมพันธุ์แนวหญ้าทะเล

ตรัง ทช.ประสบความสำเร็จ บินสำรวจสัตว์ทะเลหายาก พะยูน-เต่า-โลมา ทะเลตรัง อุดมสมบูรณ์ ผลการสำรวจโดยประมาณในเบื้องต้นพบพะยูนไม่น้อยกว่า 180 ตัว (พะยูนคู่แม่-ลูก จำนวน 12 คู่) โลมาหลังโหนก (Indo-Pacific Humpback Dolphin, Sousa chinensis) 19 ตัว และเต่าทะเล 174 ตัว ผลการตรวจสุขภาพประเมินสุขภาพจากการสังเกตด้วยสายตา พบว่าพะยูนแสดงพฤติกรรมว่ายน้ำหาอาหารบนแนวหญ้าทะเล และพฤติกรรมการผสมพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบพะยูนคู่แม่-ลูก ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์เพศของตัวสัตว์ รวมถึงโลมาหลังโหนกและเต่าทะเล สุขภาพโดยรวมไม่พบพฤติกรรมที่แสดงความผิดปกติ ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติกลับมาช่วงหยุดการท่องเที่ยวอันเนื่องมาจากการระบาดโรคโควิด-19 ทั่วโลก

เมื่อวันที่ 17-21 มีนาคม 2566 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ศวอล.) ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก (ศวบต.) โดยการสนับสนุนของท่าอากาศยานตรัง และสนามบินภูเก็ตแอร์พาร์ค นำโดยนายสันติ นิลวัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ผอ. ศวอล.) ออกปฏิบัติงานสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่จังหวัดตรัง โดยวิธีการบินสำรวจ (Aerial Survey) โดยใช้เครื่องบินปีกตรึง 2 ที่นั่ง สำรวจแบบ Line transect และวิธีการสำรวจทางเรือโดยใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV-drone) ร่วมกับนักบินอาสาสมัคร นาย Eduardo Angelo Loigorri และคุณภิญญดา ภิธัญสิริ ณ บริเวณเกาะลิบง เกาะมุกด์และหมู่เกาะใกล้เคียง จังหวัดตรัง

นายสันติ นิลวัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง (ผอ. ศวอล.) บอกว่า ภารกิจครั้งนี้เป็นการสำรวจสัตว์ทะเลหายาก หลัก ๆ ของจังหวัดตรัง ก็คือ พะยูน เป็นเมืองหลวงของพะยูน และสำรวจโลมา และเต่าทะเล ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากที่พบมากเป็นไฮไลท์ของจังหวัดตรัง ภารกิจหลัก ๆ ก็ ใช้เครื่องบินปีกตรึง ใช้การสำรวจทางเรือ และใช้โดรน โดยผลสำรวจครั้งล่าสุดปีที่แล้ว นับโดยตรงได้ 170 กว่าตัว แต่เมื่อได้มีการคำนวณออกมาแล้ว ก็ได้ประมาณ 180 กว่าตัว และได้หยุดสำรวจไปเนื่องจากสถานการณ์โควิด ซึ่งคาดว่าปีนี้จำนวนพะยูนจะมีมากขึ้น ในส่วนของการอพยพของพะยูนตนมองว่า จะพูดว่าพะยูนอพยพก็ไม่เชิงเพราะจังหวัดกระบี่ก็มีพะยูนประจำถิ่น จังหวัดสตูลก็มี จังหวัดตรังก็มี แต่ที่เรามองว่าทำไมเราเจอที่กระบี่มากขึ้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการสำรวจอย่างเข้มข้น และจำนวนประชากรพะยูนในจังหวัดกระบี่ก็มีมากขึ้นด้วย แต่หลัก ๆ ก็คือ ที่ไหนมีอาหารพะยูนก็จะอยู่ที่นั่น ซึ่งในพื้นที่จังหวัดตรัง เรื่องหญ้าทะเลก็ถือว่ายังไม่วิกฤตสำหรับพะยูน ที่เจอในพื้นที่จังหวัดตรัง ที่เกาะมุกด์ แหลมไทร ที่พบมากขึ้น ถ้ามองว่าทำไมพะยูนมีการกระจายตัวมากขึ้น เราก็ได้มีการสำรวจพะยูนในพื้นที่เข้มข้นมากขึ้น ทำให้เราสามารถพบพะยูนกระจายในพื้นที่มากขึ้น ในส่วนสาเหตุการตายของและเสื่อมโทรมลงของหญ้าทะเลในพื้นที่ทะเลตรัง ก็ต้องยอมรับในบางชนิด แต่สำหรับหญ้าทะเลที่เป็นอาหารพะยูน หญ้าใบมะกรูด ยังมีสภาพที่อุดมสมบูรณ์ และในส่วนที่ว่าพะยูนมีการอพยพ ก็ยังไม่ได้มีการชี้ชัดว่า พะยูนทะเลตรังอพยพไปที่อื่น

ซึ่งการเดินทางของพะยูน พื้นที่ประมาณ 200 กิโลเมตรที่เคยเจอ แต่ไม่ใช่บ้านเรา และมีโอกาสน้อยมากที่พะยูนจะเดินทาง เพราะพะยูนเป็นสัตว์ประจำถิ่น จะอยู่ที่เดิมเป็นประจำ หลัก ๆ ก็คือแหล่งหญ้าทะเล แต่ระหว่างเกาะลิบง-เกาะมุกด์ ก็สามารถเคลื่อนย้ายกันได้ ในระยะทางที่ไม่ไกลมาก เราเคยมีว่า ที่เกาะมุกด์เป็นแหล่งเลี้ยงตัวอ่อนของพะยูน พอถึงฤดูผสมพันธุ์ก็จะมาผสมพันธุ์ที่เกาะลิบง และที่ผ่านมาเราพบคู่พะยูนแม่-ลูกมากขึ้นด้วย มีพะยูนเกิดที่จังหวัดตรังมากขึ้น ในส่วนของการท่องเที่ยวมีผลกับพะยูนหรือไม่นั้น ก็ค่อนข้างจะมีผลเพราะส่วนหนึ่งก็คือ สัตว์ทะเลหายาก พะยูน โลมา วาฬ อย่างที่ทราบสัตว์พวกนี้หากมีการรบกวนจากกิจกรรมของมนุษย์ในรูปแบบไหนก็แล้วแต่ก็อาจจะว่ายน้ำหนีไปที่อื่น หรือ อยู่นิ่งอย่างนั้น แต่ก็อาจจะหลบไป แทนที่จะโชว์ให้เราเห็นก็มีส่วน แต่การท่องเที่ยวหรือสัตว์ทะเลหายาก มันก็ต้องแบ่งให้ลงตัวระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ในการใช้ทรัพยากร

ล่าสุดจากผลการสำรวจการแพร่กระจายสัตว์ทะเลหายาก บริเวณพื้นที่จังหวัดตรัง โดยประมาณในเบื้องต้นพบพะยูนไม่น้อยกว่า 180 ตัว (พะยูนคู่แม่-ลูก จำนวน 12 คู่) โลมาหลังโหนก (Indo-Pacific Humpback Dolphin, Sousa chinensis) 19 ตัว และเต่าทะเล 174 ตัว ผลการตรวจสุขภาพประเมินสุขภาพจากการสังเกตด้วยสายตา พบว่าพะยูนแสดงพฤติกรรมว่ายน้ำหาอาหารบนแนวหญ้าทะเล และพฤติกรรมการผสมพันธุ์ นอกจากนี้ยังพบพะยูนคู่แม่-ลูก ซึ่งแสดงถึงความสมบูรณ์เพศของตัวสัตว์ รวมถึงโลมาหลังโหนกและเต่าทะเล สุขภาพโดยรวมไม่พบพฤติกรรมที่แสดงความผิดปกติ ส่วนข้อมูลและภาพถ่ายจากการสำรวจครั้งนี้ จะใช้คำนวณหาจำนวนประชากรที่แท้จริงของสัตว์ทะเลหายากในบริเวณพื้นที่จังหวัดตรังต่อไป

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน