X

ชาวสวนหมาก “โอด” ราคาหมากแห้งร่วงเหลือกก.ละ 18 บ. ไร้พ่อค้ารับซื้อ เหตุค่าผ่านด่านส่งออกแพง

ตรัง ตลาดหมากชะงักเหตุไม่มีบริษัทมารับซื้อ เนื่องจากค่าผ่านด่านส่งออกแพงกก.ละ 100-200 บาท ไม่มีบริษัทและไม่มีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อ ทำเกษตรกรที่ปลูกหมากได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักปล่อยหมากร่วงหล่นคาโคนต้น ราคาตกฮวบเหลือกก.ละ 18 บาท

ผู้สื่อข่าวลงพื้นที่ไปดูปัญหาความเดือดร้อนของชาวสวนที่ปลูกหมากเป็นรายได้เสริมจากอาชีพทำสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน และในช่วงฤดูปิดกรีดยางพาราก็จะมาผ่าหมากตากแดดไว้ขาย  โดยในพื้นที่หมู่ 8  ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง พบว่าคุณยายบวน  คีรีเดช  ซึ่งกำลังนำหมากที่ผ่าแล้วมาตากแดด  บอกว่า ปีนี้ยังไม่ได้ขายหมาก แต่ที่ต้องเก็บนำมาผ่าและตากแห้งเอาไว้ เพราะไม่รู้จะเอาไปไหน เนื่องจากหมากสุกร่วงหล่นลงมาเต็มโคนต้น ทิ้งไว้ก็เสียดาย จึงนำมาผ่าตากแดดเอาไว้ เพื่อรอพ่อค้าเปิดจุดรับซื้อ ทราบมาว่ามีพ่อค้าบางคนเสี่ยงเปิดรับซื้อ ในราคาเพียงกก.ละ 18 บาท โดยปีที่แล้ว (พ.ศ.2565) ขายได้กก.ละ 30-35 บาท  ได้เงินประมาณ 5,000 – 6,000 บาท แต่ในปี 2564 หมากราคาสูงมาก กก.ละ 70-80   บาท ตนเองได้จับเงินหมื่น  ปีนี้ฝนตกชุกหมากให้ผลผลิตน้อย  แต่ก็ยังมาขายไม่ได้ ทำให้หน้าแล้งปีนี้ไม่ได้เงินใส่กระเป๋าเลย  เพราะไม่ได้ขายหมาก โดยในสวนของยายก็พบว่ามีหมากร่วงหล่นลงมาจากต้นกระจายเต็มไปหมด เหตุเพราะไม่มีพ่อค้ามารับซื้อ   เดิมในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูปิดกรีดยางพารา เกษตรกรที่ปลูกหมากเอาไว้ในพื้นที่ว่างบริเวณข้างๆบ้าน หรือปลูกแซมกับพืชชนิดอื่น และบางคนยอมโค่นยางเพื่อปลูกหมากไว้ขาย  ก็จะได้เก็บผลผลิตหมากที่สุกในช่วงนี้มาผ่าตากแดด ทำหมากแห้ง จากนั้นนำไปขายตามจุดรับซื้อภายในหมู่บ้าน  แต่ปีนี้พ่อค้ายังไม่ได้เปิดจุดรับซื้อ หมากจึงสุกร่วงขายไม่ได้

เช่นเดียวกับนายสำเริง สิทธิชัย  อายุ 58 ปี เจ้าของสวนหมาก และเป็นพ่อค้าที่เปิดจุดรับซื้อหมากด้วย  บอกว่า ตนเองปลูกหมากในพื้นที่ว่างไว้ข้างๆบ้านรวมประมาณ 5 ไร่ แต่ละปีผลผลิตประมาณ 1 ตัน และเป็นคนเปิดจุดรับซื้อเองด้วย ปกติหมากแห้งชาวสวนจะเริ่มทำตั้งแต่เดือนมกราคม – มิถุนายนของทุกปี หรือประมาณ  5-6 เดือน แต่ปีนี้ตลาดที่จะส่งออกต่างประเทศไม่มีเลย หรือเรียกว่าตลาดตาย พ่อค้าคนกลางก็ไม่กล้ารับซื้อ เพราะว่าส่งออกไม่ได้  ไม่ใช่เพราะว่าผู้บริโภคลดลงแต่อย่างใด แต่ปัญหาคือ ภาษีค่าผ่านด่านประเทศพม่าที่จะไปอินเดีย เก็บค่าผ่านด่านแพงมากตกกิโลกรัมละ 100-200 บาท ทำให้พ่อค้าคนกลางสู้ไม่ไหว จึงต้องยอม ผลกระทบจึงตกกับเกษตรกรและพ่อค้ารายเล็กๆ ที่เปิดจุดรับซื้อเหมือนกับพวกตนว่าหมดอาชีพไปเลย  ขณะที่ตลาดเมืองไทยใช้น้อยมากแค่ 10-20% เอาไปทำผลิตภัณฑ์สี โรงงาน พวกฟอกหนัง ย้อมสี   แล้วหมากตอนนี้ปลูกได้ทั่วประเทศ สรุปคือ ปีนี้ผ่านมา 2 เดือนกว่าแล้ว ยังไม่มีวี่แววว่าจะขายได้ มีพ่อค้ารายเล็กๆที่เสี่ยงซื้อไว้วัดดวงกิโลกรัมละ 18 -20 บาท ชาวสวนไม่คุ้มกับค่าปุ๋ยที่ต้องใส่ ไม่สมกับค่าที่นั่งทำ วันหนึ่งได้ไม่ถึง 100,200 บาท จึงต้องปล่อยให้ร่วงหล่นคาต้น  จากปีก่อนเฉลี่ยประมาณกก.ละ 50   บาท  ส่วนปี 2564 สูงสุดหมากแห้งกก.ละ 85-90 บาท  ทำให้มีแรงจูงใจให้ทำ แต่ปีนี้ไม่มีแรงจะทำ เหมือนพ่อค้าเล็กๆอย่างตนเองก็ไม่กล้าซื้อเพราะต้องอิงตลาดต่างประเทศ  ทั้งนี้ หมากแห้งตลาดหลัก 70% คือ ประเทศอินเดีย  ปากีสถาน บังคลาเทศ ในรูปหมากแห้งและนำไปบดผง มีโรงงานที่เมืองไทยด้วย แต่ส่งออกไม่ได้เขาก็ไม่ทำ ตลาดรองคือ พม่า  และตะวันออกกลางทุกประเทศ  ทั้งนี้  ถ้าซื้อจากเมืองไทย กก.ละ 50 บาทแล้ว  จะต้องไปจ่ายค่าผ่านด่านอีกกก.ละ 100 -200 บาท บริษัทก็ไม่คุ้ม ค่าขนส่งก็แพง ทางรัฐบาลไม่เคยมาดูแลสินค้าตัวนี้เลย เพราะไม่ใช่สินค้าหลัก  ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้มีการส่งเสริมให้ปลูกเป็นพืชเสริม  เฉพาะชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 8  ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ปลูกหมาก  80% เป็นรายได้เสริม ซึ่งปกติราคาหมากจะดีกว่าราคายาง เพราะกก.ละ 50 บาท ทั้งนี้ หมากสด 5 กก.ได้หมากแห้ง 1 กก.หากคิดต่อไร่ต่อปีได้มากกว่ายาง ปกติในช่วงฤดูปิดกรีดยางพารา ชาวบ้านจะมีรายได้เสริมจากการทำหมากแห้งขาย  ซึ่งทุกปีจะมีพ่อค้าคนกลางประมาณ 3-4 ราย  แต่ละรายต่อปีซื้อได้ประมาณ 50 ตัน หรือรวมๆทั้งหมดประมาณ 200 ตัน  เป็นรายได้ที่ชาวบ้านอยู่ได้เลย ถ้าหากว่าหมากราคากก.ละ 45-50 บาท เหมือนกับทุกปีที่ผ่านมา ต่อวันชาวบ้านจะมีรายได้วันละประมาณ 400 -500 บาท เลี้ยงครอบครัวได้เลย  แต่ปีนี้แต่ละสวนปล่อยหมากสุกร่วงคาต้น หากจะมีคนเก็บมาผ่าทำหมากแห้งตากไว้บ้าง ก็เพราะเสียดายหากปล่อยทิ้ง ทั้งนี้ ตลาดหมาก ปกติเป็นสินค้าปีต่อปี จะไม่มีการค้างสต็อกเก็บไว้ข้ามปี ซึ่งหากรัฐบาลหันมามอง มาช่วยแก้ปัญหาการผ่านด่าน หรือช่วยเจรจาให้สามารถส่งออกไปได้ ก็จะเป็นทางออกทีดี ชาวสวนจะได้ไม่เดือดร้อน

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน