X

ทรัพยากรน้ำที่ 8 แจงกรณีโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟุลำน้ำ รุกป่าสาคูโค่นทิ้งนับพันต้น ไม่เป็นจริง ยืนยันโค่น 22 ต้น เพื่อระบายน้ำ

ตรัง สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 ชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการดําเนินการโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ สนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ ข้าวลําชารสามัคคีคนทํานาโคกสะบ้า ผู้รับจ้างจึงทําการเปิดทางน้ำบริเวณด้านท้ายน้ำซึ่งอยู่นอกเขตโครงการ และเป็นการขุดตามร่องน้ำสาธารณะเดิมเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการขุดต้นสาคู ให้น้อยที่สุด ความยาว 446 เมตร กว้าง 3 เมตร และได้ขุดต้นสาคูที่ขวางทางน้ำซึ่งงอกขึ้นบริเวณกลางร่องน้ำสาธารณะออก 22 ต้น ก่อนการดําเนินการขุดผู้รับจ้างได้ประสานการขุดกับผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ตําบลโคกสะบ้า และรองนายกองค์การบริหารส่วนตําบล   โคกสะบ้า เพื่อรับทราบและเห็นชอบให้ดําเนินการ

ตามที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวว่าประชาชนหมู่ที่ 3 หมู่ที่ 7 และหมู่ที่ 10 ตําบลนาข้าวเสีย อําเภอนาโยง จังหวัดตรัง ได้รับความเดือดร้อนจากการที่กรมทรัพยากรน้ำดําเนินการโครงการอนุรักษ์ฟื้นฟู แหล่งน้ำแต่กลับไปโค่นทําลายต้นสาคู เป็นระยะทาง 3 – 4 กิโลเมตร นับพันๆต้น

นางกศิรินทร์ พลนาค ผอ. ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำที่  1 สงขลา สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 ชี้แจงเรื่องนี้ว่า การเสนอข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กล่าวคือ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำพร้อมระบบกระจายน้ำ สนับสนุนเกษตรแปลงใหญ่ ข้าวลําชารสามัคคีคนทํานาโคกสะบ้า ตําบลโคกสะบ้า อําเภอนาโยง จังหวัดตรัง เป็นโครงการตามแผนงานปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ระยะเวลาการดําเนินการตามสัญญาจ้าง เริ่มสัญญา วันที่ 9 ธันวาคม 2565 และสิ้นสุดสัญญา วันที่ 4 กันยายน 2566 รวม 270 วัน งบประมาณค่าก่อสร้าง 24,924,000 บาท ซึ่งเป็นโครงการขุดลอกเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำ รวม 3 ช่วง ช่วงที่ 1 เป็นการขุดลอกความยาว 420 เมตร ซึ่งยังไม่ได้เริ่มดําเนินการใดๆ ช่วงที่ 2 เว้นไว้คงสภาพเดิม ซึ่งเป็นป่าสาคู ความยาว 957 เมตร และช่วงที่ 3 กําลังดําเนินการ ความยาว 1,079 เมตร เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภค บริโภค ให้แก่ราษฎรในพื้นที่โครงการ เป็นแหล่งน้ำเสริมการเพาะปลูก เป็นแก้มลิง รับน้ำในช่วงน้ำหลากบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งให้กับพื้นที่
ซึ่งในระหว่างการดําเนินการก่อสร้างโครงการจำเป็นต้องระบายน้ำที่มีอยู่ในแหล่งน้ำเดิมออก เพื่อขุดลอกตะกอนดินตามรูปแบบการก่อสร้าง และเพื่อมิให้น้ำท่วมบริเวณดังกล่าวในขณะก่อสร้างและท่วมพื้นที่ในอนาคต ผู้รับจ้างจึงทําการเปิดทางน้ำบริเวณด้านท้ายน้ำซึ่งอยู่นอกเขตโครงการ และเป็นการขุดตามร่องน้ำสาธารณะเดิมเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการขุดต้นสาคู ให้น้อยที่สุด ความยาว 446 เมตร กว้าง 3 เมตร และได้ขุดต้นสาคูที่ขวางทางน้ำซึ่งงอกขึ้นบริเวณกลางร่องน้ำสาธารณะออก 22 ต้น ก่อนการดําเนินการขุดผู้รับจ้างได้ประสานการขุดกับผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 10 ตําบลโคกสะบ้า และรองนายกองค์การบริหารส่วนตําบล   โคกสะบ้า เพื่อรับทราบและเห็นชอบให้ดําเนินการ เนื่องจากจะช่วยระบายน้ำจากโครงการเมื่อดําเนินการแล้วเสร็จ จนกระทั่งมีกลุ่มชาวบ้านจำนวน 4 คน ได้เข้าร้องเรียนกับนายอําเภอนาโยง จังหวัดตรัง

ต่อมาวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 14.00 น. นายอดุลย์ หมื่นลึก นายอําเภอนาโยง ได้นัด ผู้เกี่ยวข้องประชุม ที่ห้องปฏิบัติการนายอําเภอ เพื่อหาข้อยุติในกรณีมีผู้ร้องเรียนว่ามีการก่อสร้างโครงการ และทําลายระบบนิเวศป่าสาคูระยะทางประมาณ 300-400 เมตร และขอให้อําเภอนาโยงส่งเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ชาวบ้านผู้ร้องเรียน กํานันตําบลโคกสะบ้า  ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 3 และหมู่ที่ 10 ตําบลโคกสะบ้า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7 ตําบลนาข้าวเสีย ผู้อํานวยการส่วนพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งน้ำ และช่างควบคุมงาน สํานักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 ตัวแทนผู้รับจ้าง ปลัดอําเภอนาโยง นายกองค์การบริหารส่วนตําบลโคกสะบ้า และประชาชนที่เกี่ยวข้อง

ซึ่งนายอําเภอนาโยง ประธานในการประชุมได้แจ้งที่ประชุมว่าได้ลงพื้นที่ตรวจสอบ ซึ่งเป็นจุดท้ายน้ำ เป็นแหล่งน้ำสาธารณะ ถ้าไม่มีการเปิดทางน้ำก็จะส่งผลให้น้ำท่วมได้ และได้สอบถามชาวบ้าน บริเวณดังกล่าวว่าได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ แยกออกได้เป็น 2 ประเด็น คือ ประเด็นที่ 1 ชาวบ้านบริเวณ นั้นเห็นชอบให้ขุดทางน้ำเนื่องจากหากน้ำมากจะส่งผลให้น้ำท่วมอาสินพื้นที่การเกษตร และประเด็นที่ 2 การพัฒนา และการอนุรักษ์จะต้องดําเนินการควบคู่กัน ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่แบ่งเป็นสองส่วน    ส่วนหนึ่ง เป็นส่วนของผู้ร้อง และอีกส่วนหนึ่ง (เป็นเสียงส่วนใหญ่) ซึ่งเห็นด้วยยินยอมให้เปิดทางน้ำได้

ในการประชุมฯ ผู้แทนสํานักงานทรัพยากรน้ำที่ 8 ได้ชี้แนวทางการก่อสร้างโครงการ และขั้นตอนการดําเนินโครงการ ให้ที่ประชุมทราบว่าก่อนการดําเนินการ โครงการดังกล่าว ได้ดําเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนตามระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 และผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ในพื้นที่บริเวณโครงการ ทั้งของตําบลโคกสะบ้า และตําบล    นาข้าวเสีย จํานวน 81 คน ซึ่งมติที่ประชุมเห็นชอบให้ดําเนินการโครงการ และก่อนดําเนินการ ได้ประสานหน่วยงานในพื้นที่รับทราบ แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากขณะดําเนินการ ผู้รับจ้างได้เปิดทางน้ำบริเวณด้านท้ายน้ำซึ่งอยู่นอกเขตโครงการ เพื่อต้องการระบายน้ำให้สามารถดําเนินการโครงการได้ หน่วยงานไม่ได้มีเจตนาที่จะทําลายต้นสาคูแต่อย่างใด และขอยืนยันว่า แนวทางการดําเนินงานของหน่วยงานเน้นการพัฒนาควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ โดยพื้นที่รับผลประโยชน์ 4,000 ไร่ 500 ครัวเรือน
แต่ในส่วนที่ผู้รับจ้างได้ขุดไป 446 เมตร บริเวณนอกขอบเขตโครงการที่ได้ดําเนินการขุดต้นสาคู ไปนั้น จะมีแนวทางฟื้นฟูในที่ประชุมได้หาข้อสรุปร่วมกัน คือ ผู้รับจ้างจะไม่มีการขยายเพื่อระบายน้ำ นอกขอบเขตบริเวณโครงการพื้นที่ท้ายน้ำเพิ่มเติม และการดําเนินการจะสื่อสารทําความเข้าใจกับชาวบ้านให้มากขึ้น  ปลูกหญ้าแฝกทดแทนบริเวณที่ได้ขุดท้ายน้ำ ระยะทาง 446 เมตร เมื่อโครงการดําเนินการแล้วเสร็จ
เมื่อโครงการดําเนินการแล้วเสร็จ จะปลูกต้นสาคูทดแทนหรือไม่ หรือจะปลูกต้นไม้ ชนิดใด จะประชุมชุมชน เพื่อขอมติเสียงส่วนใหญ่ แล้วแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบ เพื่อจะได้ร่วมกันดําเนินการ  และหน่วยงานจะกํากับดูแลให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด

นายสมโชค เชยชื่นจิตร นายก อบต.โคกสะบ้า กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ฝายทั้ง 3 จุดชำรุดและรั่ว เมื่อถึงหน้าแล้งไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้ทั้งหมดได้ อบต.ก็ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะแก้ไขได้ ทำได้แค่ขนดินมาถมไว้หน้าฝาย พอฤดูฝนมีน้ำหลากน้ำก็ชะดินที่ถมไว้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นมา 4-5 ปีแล้ว เพราะฝายแต่ละจุดมีอายุใช้งานมายาวนาน ทางอบต.จึงทำโครงการไปยังสำนักทรัพยากรน้ำภาค8 เมื่อได้โครงมาทางท้องถิ่นก็ดีใจ ซึ่งได้คุยกับชาวบ้าน เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อมทั้งหมดมีทั้งข้อดีและเสีย ส่วนดีของป่าสาคูสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งใบ ผล ต้น แต่ก็มีข้อเสียเช่นกัน ต้นสาคูที่อยู่ตามลำคลองสายนี้ทำให้น้ำไหลผ่านไม่ได้ เพราะชาวบ้านเมื่อโค่นต้นสาคูแล้ว ก็ไม่ได้เก็บก้านใบ ตอ สาคูออกเลย ทำให้ทับถมมายาวนาน ตนอธิบายกับชาวบบ้านว่าจะทำโครงการจะไม่ให้มีผลกระทบเลย ก็เป็นไปไม่ได้ ตนอยากจะขอชี้แจงว่าข่าวที่ออกไป ระบุว่าระยะทางขุดลอกเกือบ 4 กม. ต้นสาคูถูกขุดออกนับพันๆต้น ซึ่งเป็นข้อมูลที่เกินความจริง ซึ่งทางเรามีข้อมูลมีภาพประกอบ แต่ทั้งนี้หากไม่ดำเนินการขุดลอกจะส่งผลต่อน้ำผิวดินมาทำน้ำประปา พบว่าน้ำจะมีสีแดงซึ่งนี่ก็เป็นผลกระทบจากป่าสาคูเช่นกัน บ่อน้ำที่อยู่ใกล้ลำคลองไม่สามารถใช้น้ำได้ พอเเปลี่ยนมาใช้น้ำประปามาผลิตน้ำประปา ก็ประสบปัญหาน้ำไม่เพียงพอ อย่างไรเสียตำบลโคกสะบ้าก็ยังคงจะอนุรักษ์ป่าสาคูไว้

นายณัติวิทย์ ปราบแทน ชาวบ้าน อยู่บ้านเลขที่ 72/2 ม.10 ต. โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง บอกว่า  ยอมรับว่าโครงการนี้มีทั้งประโยชน์ และ ผลกระทบต่อป่าสาคู เพราะต้นสาคูมีมูลค่าทำมาแปรรูปเป็นแป้งสาคู ใบใช้ทำจากมุงหลังคา แต่เมื่อนำมาบวกลบคูณหารกับประโยชน์ของโครงการ ที่ใช้งานไปอีกนานหลายปี คิดว่าคุ้มค่ากว่า ซึ่งตนก็มีป่าสาคูของตนอยู่ด้วย ตนไม่ติดใจอะไรเพราะว่าเห็นถึงประโยชน์ส่วนรวม หลังจากโครงการนี้เสร็จปัญหาน้ำทะลักเข้าบ้านเรือนและสวนยางชาวบ้าน จะหมดไป
นายโรจน์ ชาวบบ้าน ม.10 ต. โคกสะบ้า อ.นาโยง จ.ตรัง บอกว่า หน้าฝนน้ำจะระบายไม่ได้เลย เพราะคลองมันตื้น มีซากต้นสาคูขวางคลอง มีการทับทมจำนวนมาก ซึ่งซากเหล่านี้สะสมมานาน เมื่อก่อนสาคูใช้ประโยชน์กันมาก มีการตัดใบมาเย็บเป็นจากสำหรับมุงหลังคาขาย ส่วนส่วนทางของใบจากเขานำสานเป็นเสื่อ แต่เดี่ยวนี้ไม่มีใครทำแล้ว ซึ่งตนก็มีต้นสาคูอยู่ริมสวนเหมือนกัน ตอนนี้ขอขายต้นให้กับคนต่างจังหวัดที่มารับซื้อต้นสาคูไปทำแป้งสาคูขาย และตนคิดว่าการขุดลอกและการทำโครงการนี้จะแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งให้ส่วนรวมได้


ชาวบ้าน ม.7 ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง จ.ตรัง ซึ่งเป็นรอยต่อกับตำบลนาข้าวเสีย บอกกับ ตนเคยใช้สองมือในการขุดลอกป่าสาคูที่อยู่ในแนวลำคลอง เพราะหน้าฝนน้ำระบายไม่ได้ เนื่องจากคลองตื้นและแคบ ทำให้เข้าท่วมสวนและที่ดินของตน หากโครงการนี้เสร็จชาวบ้านจะได้ประโยชน์ ตนมาอยู่ที่นี้ก็น้ำท่วมตลอด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน