X

เด็กเยาวชนตรัง ใช้เวลาว่างร้อยเครื่องประดับลูกปัดมโนราห์ ขายดีผลิตแทบไม่ทัน

ตรัง หลังจากที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียนมโนราห์ หรือโนรา ทำให้ความนิยมพุ่งขึ้น เด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ ต.โคกสะบ้า ใช้เวลาว่างร้อยลูกปัดมโนราห์ เป็นเครื่องประดับ-ของที่ระลึก ขายดีจนผลิตแทบไม่ทัน

เนื่องจากหลายพื้นที่ของจังหวัดตรัง โดยเฉพาะในอำเภอนาโยง มีการจัดตั้งคณะมโนราห์ หรือโนรา อยู่เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งได้มีการสืบทอดการแสดงพื้นบ้านดังกล่าวต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน และมีการจัดตั้งโรงมโนราห์กลางที่ชื่อว่า “บ้านมโนราห์” ในพื้นที่ตำบลโคกสะบ้า ซึ่งถือเป็นตำบลที่มีคณะมโนราห์มากที่สุดในจังหวัดตรังคือ 8 คณะ โดยมี นางราตรี หัสชัย อดีตครูโรงเรียนวัดไทรทอง รับเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญของชุมชน ที่อุตส่าห์เสียสละทั้งแรงกายและแรงใจ เพื่อสอนสั่งเด็กและเยาวชนในพื้นที่ให้หวลกลับมาเรียนรู้เรื่องมโนราห์

ทั้งนี้ นอกจากจะมีการแสดง และการสอนร่ายรำมโนราห์ พร้อมกับการแสดงลูกคู่อย่างครบเครื่อง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชมแล้ว ยังได้นำเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่ อายุตั้งแต่ 7-75 ปี ประมาณ 25 คน มาเรียนรู้เรื่องการร้อยลูกปัดมโนราห์ โดยประยุกต์จากการทำขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องแต่งกายในการแสดง หรือการร่ายรำ มาเป็นของที่ระลึก เพื่อให้สอดรับกับตลาดในยุคปัจจุบัน ทั้งในส่วนของรูปแบบที่สวยงาม แปลกตา และราคาที่สามารถจับต้องได้ ปรากฎว่า เพียงแค่ดำเนินการมาไม่กี่ปี ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จนบางครั้งผลิตสินค้าไม่ทันต่อความต้องการ

คุณครูราตรี บอกว่า เด็กและเยาวชนรุ่นใหม่จะร้อยลูกปัดมโนราห์ได้สวยงามเทียบเท่าผู้ใหญ่ แถมบางคนยังก้าวไกลไปถึงขั้นร้อยออกมาเป็นเครื่องแต่งกายมโนราห์เลยทีเดียว แต่ที่ขายดีส่วนใหญ่จะเป็นพวงกุญแจ สายแมส สร้อยข้อมือ สร้อยคอ กำไล เครื่องประดับ กระเป๋า มีราคาตั้งแต่ชิ้นละ 25 บาท ถึงกว่า 1 พันบาท โดยมีทั้งลายโบราณ และลายประยุกต์ ล่าสุดมียอดขายอยู่ที่ประมาณเดือนะละ 1 หมื่นบาท และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หลังสถานการณ์โควิดเบาบางลง พร้อมเร่งปรับปรุงให้เป็นศูนย์เรียนรู้และจำหน่ายลูกปัดมโนราห์ที่ใหญ่ที่สุดของจังหวัดตรัง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเด็กและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมร้อยลูกปัดมโนราห์ จะมีเวลาว่างเฉพาะช่วงเย็นในวันปกติ หรือวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และต้องใช้เวลาทำในแต่ละชิ้นไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมง ในขณะที่ความต้องการมีสูง เนื่องจากเป็นสินค้าทำมือ และมีเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น ประกอบกับการที่ยูเนสโก ได้ขึ้นทะเบียนให้มโนราห์เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ก็ยิ่งทำกระแสความนิยมมีสูงขึ้น จึงได้ขยายกิจกรรมร้อยลูกปัดมโนราห์ออกไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้นจนเพียงพอต่อความต้องการ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน