X

นายก อบจ.ตรัง แจง คนงานทำนอกเหนือคำสั่ง ตัดไม้ยางขายจริง

ตรัง – นายก อบจ.ตรังชี้แจงกรณีคนงานลอบตัดไม้ยางขาย ยอมรับคนงานทำนอกเหนือคำสั่ง และอยู่ระหว่างขั้นตอนให้คณะกรรมการสอบสวนเรื่องนี้  ขณะที่ชาวบ้านไม่มั่นใจการสอบสวนข้อเท็จจริงของ อบจ.ก็ได้เข้ายื่นเรื่องร้องต่อ ปปช.จ.ตรัง ให้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้ด้วย 

จากกรณีชาวบ้านร้องสื่อ กรณีสวนยางพาราของอบจ.ตรัง จำนวน 2 แปลง เนื้อที่ 10 ไร่ ถูกลักลอบตัดต้นยางเพื่อนำไปขาย มูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 2 แสนบาท ซึ่งชาวบ้านระบุว่าเป็นการกระทำของคนภายในอบจ.ตรัง เป็นคนตัดไม้อย่างดังกล่าว เนื่องจากมีการนำรถแบคโฮ ซึ่งเป็นเครื่องจักรกลของอบจ.และน้ำมันหลวงเข้ามาทำงานในสวนยางดังกล่าว

ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้สื่อข่าวไปลงพื้นที่ไปดูสวนยางที่มีการร้องเรียน ซึ่งตั้งอยู่ถนนช่องหาญ-เขาดิน ม.3 ต.วังมะปรางเหนือ อ.วังวิเศษ จ.ตรัง โดยจุดที่พบการตัดไม้ยางออกไป แบ่งเป็น 2 จุด จุดแรก เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่เศษ อยู่ริมถนนช่องหาญ-เขาดิน และ จุดที่ 2 เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่เศษ  ซึ่งอยู่ห่างจากถนนเข้าไปประมาณ 500 เมตร ซึ่งทั้ง 2 จุด ต้นยางถูกตัดโค่นออกไปหมดแล้ว เหลือแค่ที่ดินว่างเปล่า และแปลงแรกมีการปลูกผักสวนครัว เช่น มะเขือ ตะไคร้ พริก ในที่ดินว่างดังกล่าว

นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกอบจ.ตรัง ได้ยอมรับกับผู้สื่อข่าวว่ามีการลักลอบตัดไม้จริง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่อบจ.ตรัง ประสานกับที่ดินอ.วังวิเศษ เพื่อสำรวจแนวเขตของสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมันของอบจ.ตรัง  แต่เมื่อไปทำแนวเขต คนของอบจ.ตรังกลับนำเครื่องจักรกล รวมทั้งน้ำมันรถของ อบจ.ไปตัดโค่นไม้ยางพาราโดยพลการ

นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ กล่าวว่า ตอนที่ตนเข้ามารับตำแหน่งนายกอบจ.ตรัง ตนก็อยากทราบว่าที่ดินของอบจ.ตรัง ที่ ต.วังมะปรางเหนือ อ.วังวิเศษ มีเนื้อที่จำนวนกี่ไร่ เพราะบางคนบอกว่ามีเนื้อที่ 800 ไร่ บางคนก็บอกว่ากว่า 1,000 ไร่ และเพื่อความชัดเจนจึงได้มอบหมายเลขานุการส่วนตัวประสานกับเจ้าหน้าที่สำนักงานที่ดินอ.วังวิเศษ  เพื่อเข้าไปรังวัดแนวเขตเพื่อให้สามารถทราบจำนวนเนื้อที่และอาณาเขตที่ชัดเจน   ซึ่งหลังจากนั้นก็ได้ทราบเนื้อที่ที่ดินอย่างชัดเจนว่ามีเนื้อที่ 900 กว่าไร่ ดังนั้น เพื่อป้องกันการบุกรุกจึงสั่งการให้นำเครื่องจักรเข้าขุดแนวเขตล้อมรอบทั้ง 4 ทิศ  เพื่อป้องกันปัญหาการบุกรุกของชาวบ้าน  และเป็นแนวป้องกันไฟป่าด้วย  หลังจากนั้นตนก็ทราบเรื่องการตัดไม้ยางพาราตามที่เป็นข่าว

โดยหลังจากนั้นตนได้ตั้งกรรมการสอบสวน ตอนนี้กำลังดำเนินสอบสวนอยู่ยังไม่ทราบผล เพราะมีความเกี่ยวพันกับลูกน้องภายในด้วย และมีหลายคนตั้งข้อสังเกตุว่าตนยางพาราที่โดนตัดออกไปอยู่ในที่ดินที่มีต้นยางประปราย มีต้นไม้อื่นขึ้นแทรกมากกว่า ตามที่มีการรายงานมาระบุว่าพื้นที่ซึ่งเป็นปัญหาอยู่นั้น ไม่มีการตัดกรีด แต่อย่างไรเสียก็ถือว่าเป็นกระทำเกินอำนาจ ทำนอกเหนือคำสั่ง ตนจึงตั้งกรรมการสอบสวน  ส่วนการตัดโค่นไม้ยางยางเพื่อนำไปขายแล้วนำเงินเข้ากระเป๋านั้น ตนมองว่าไม่น่าจะใช่วัตถุประสงค์หลัก เขาคงมองว่าไหนๆรถเครื่องจักรก็เข้าไปแล้ว น่าจะใช้ประโยชน์ให้เต็มที่ จึงให้รถจักรกลถางโค่นป่ารกร้างออก แต่หากนำต้นยางไปขายได้เงินมาก็คงจะมีการมุบมิบเข้ากระเป๋าบ้าง   จึงเป็นที่มาของการตั้งกรรมการสอบสวน  ซึ่งจากการสอบสวนที่ดินที่ถูกตัดต้นยางออกไป ทั้ง 2 แปลง พบว่าที่ดินแปลงที่อยู่ติดถนน คือ เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ มีจำนวนต้นยางจำนวนน้อยมาก ส่วนอีกแปลงที่อยู่ถัดไปด้านในมีต้นยางจำนวนมากกว่า  แต่เป็นต้นยางที่หมดสภาพ ต้นยางที่ไม่สามารถให้น้ำยางได้แล้ว หรือภาษาชาวบ้านเรียกว่าต้นยางตายนึ่ง   ซึ่งการกระทำในเหตุการณ์นี้ มีผู้เกี่ยวข้องได้แก่  ผู้จัดการสวนยาง และ คนงาน 4 คน โดยมีนายช่าง อบจ.ตรังขณะนั้นเข้าไปดู และเป็นผู้นำรถไปขนไม้ยางพาราออกจากสวน

ทั้งนี้ มีการทำเงินที่ได้จากการขายไม้ยาง มาส่งให้กับอบจ.ตรัง  จำนวน 8 ต้น เป็นเงินรวมจำนวน  3,700 บาท แต่จะเป็นเงินที่ตรงกับข้อเท็จจริง หรือตามที่ได้ตัดโค่นจริงหรือไม่ ก็ไม่ทราบได้ เพราะทุกคนไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์   ซึ่งการตรวจสอบนั้นคงจะทราบข้อเท็จจริงเรื่องจำนวนไม้ที่นำไปขาย และจำนวนเงินที่ได้จากการขายไม้ยางพารา   โดยคณะกรรมการสอบสวนที่อบจ.ตรัง แต่งตั้งขึ้นมีผู้สันทัดเกี่ยวกับเรื่องการซื้อขายไม้ยางพารารวมอยู่ด้วย  นำโดยนายโชคดี   คีรีกิ้น รองนายกอบจ.เป็นผู้รับผิดชอบ  ทั้งนี้ โทษมีตั้งแต่การไล่ออก ปรับ หรือ เรียกเงินคืน ก็แล้วแต่ ซึ่งตนจะลงโทษอย่างแน่นอนเพื่อให้หลาบจำ

อย่างไรก็ตาม นายกองค์การบริการส่วนจังหวัดตรัง ระบุว่า ตามขั้นตอนตัดโค่นยางพารานั้น ปกติมีระเบียบที่ชัดเจน โดยมีคณะกรรมการจัดสรรผลประโยชน์เป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งหากจะตัดโค่นต้องมีการเรียกประชุม ต้องมีมติ มีการกำหนดราคากลาง ประกาศให้หาผู้เสนอราคา โดยราคากลางได้มาจากการตรวจสอบคุณภาพเนื้อไม้ ขนาดของลำต้น รูปทรงของลำต้น และจำนวนต้นยางพาราทั้งหมด ยืนยันอย่างลูกผู้ชายจะดำเนินการทุกอย่างอย่างตรงไปตรงมา คนที่ทำผิดก็จะต้องรับโทษตามที่เห็นสมควร จะไม่เข้าด้วยช่วยเหลือใคร เหมือนที่สังคมอาจหวาดระแวงว่าจะช่วยเหลือกัน ยืนยันจะไม่เข้าด้วยช่วยเหลือใครอย่างเด็ดขาด ขอให้ประชาชนสบายใจได้

อย่างไรก็ตาม  ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบหลักฐานการนำเงินที่ได้จากการขายไม้ยางส่งคืนให้กับ อบจ.ตรัง เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2565  เป็นไม้ยางพาราที่ได้จากแปลงที่ 29  บน ( จากเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ )  รวมจำนวน 8 ต้นเท่านั้น  เป็นเงินรวม 3,700 บาท ส่วนอีกแปลงเนื้อที่กว่า 3 ไร่นั้น ไม่มีการนำเงินส่ง อบจ.ตรัง ที่สำคัญเมื่อตรวจสอบเอกสารที่ผู้จัดการสวนปาล์มและสวนยางพารารายงานต่อนายก อบจ.ตรัง ว่าต้นยางพาราล้มอันเนื่องมาจากการทำแนวเขต รวมทั้งหนังสือการขออนุมัติดำเนินการจำหน่ายไม้ยางพารา โดยวิธีจำเพาะเจาะจง ที่สำนักปลัด อบจ.ตรัง เสนอต่อนายกอบจ.ตรัง จำนวน 8 ต้น จากแปลงที่ 29 เนื้อที่ 5 ไร่เศษดังกล่าว

พบพิรุธในหนังสือที่ระบุว่า ต้นยางพาราจำนวน 8 ต้นที่ล้ม และจะขออนุมัติขายนั้น  กล่าวอ้างหนังสือผู้จัดการสวน ว่าระหว่างวันที่ 9-10 มิถุนายน 2565  อบจ.ตรัง นำรถแบ็คโฮเข้าไปในสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราของ อบจ.ตรัง แปลงตำบลวังมะปราง เพื่อปรับสภาพแนวรอยต่อระหว่างสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราให้เห็นเป็นแนวเขตที่ชัดเจนระหว่างสวนปาล์มน้ำมันและสวนยางพาราดังกล่าว โดยในขณะที่ได้มีการทำแนวเขตดังกล่าวนั้น ทำให้ต้นยางพาราแปลงที่ 29  จำนวน 8 ต้น ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 เซนติเมตร ล้ม  จึงประสงค์จะจำหน่ายนำเงินเป็นรายได้ของ อบจ.ตรัง อ้างต้นยางพาราทั้ง 8 ต้น หักโค่นขณะเข้าไปทำแนวเขตที่ชัดเจนระหว่างสวนปาล์มน้ำมันกับสวนยางพารา ทั้งๆที่ความเป็นจริงสวนยางพาราที่ถูกตัดโค่น แปลงที่ 29  บนเนื้อที่ 5 ไร่ดังกล่าว ไม่ได้อยู่บริเวณรอยต่อแนวเขตสวนยางพารากับสวนปาล์มน้ำมัน และไม่ได้อยู่ติดแนวเขตโดยรอบสวนปาล์มน้ำมันและยางพาราของอบจ. ตามที่นายกอบจ.สั่งการให้มีการทำแนวเขตโดยรอบแต่อย่างใด  แต่เป็นการตัดโค่นจากแปลงยางพาราที่อยู่พื้นที่ชั้นใน และอยู่ติดถนนใหญ่และถนนภายในแปลง  รายงานดังกล่าวจึงน่าจะเป็นรายงานที่ผู้แลสวนรายงานเท็จเข้ามาให้สำนักงานปลัด โดยที่ทาง อบจ.ก็กล่าวอ้างข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อนายก อบจ.ตรัง

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ทางตัวแทนชาวบ้าน ซึ่งไม่มั่นใจในการตรวจสอบของนายก อบจ.ตรัง ว่าจะดำเนินการตรงไปตรงมาจริงหรือไม่ หรือเข้าด้วยช่วยเหลือผู้กระทำความผิดในเรื่องนี้หรือไม่ เพราะมองเป็นคนกันเองกันทั้งหมด    จึงได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ปปช.จ.ตรัง ให้ดำเนินการตรวจสอบในเรื่องนี้ด้วย

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน