X

ร.ร.ในจ.ตรัง เปิดพท.เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เก็บผลผลิตทำอาหารกลางวันไม่หวั่นค่าหัวน้อย

ตรัง- ตัวอย่างโรงเรียนใช้พื้นที่จัดการเรียนการสอนคู่ขนานกับหลักสูตรแกนกลาง ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จัดฐานการเรียนรู้ครอบคลุมวิถีเกษตร ทั้งการปลูกข้าวทำนา ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ผลิตน้ำหมักชีวภาพ โดยปลูกเอง เลี้ยงเอง เก็บผลผลิตเอง นำไปแปรรูปในชั่วโมงลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ผลผลิตนำเข้าโครงการอาหารกลางวัน ให้เด็กๆได้รับประทานอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ ค่าอาหารกลางวันหัวละ 21 บาท ที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐ ไม่เป็นปัญหาสำหรับโรงเรียนนี้ และนำวิชาความรู้ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน หรือยึดเป็นอาชีพได้

 

ที่โรงเรียนบ้านโพธิ์น้อย ต.คลองปาง อ.รัษฎา จ.ตรัง ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2 เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นปฐมวัย – ประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งหมด 84 คน มีบุคลากรครู รวม 9 คน โดยทางโรงเรียนได้ใช้พื้นที่ว่างของโรงเรียนจัดการเรียนการสอนคู่ขนานกับหลักสูตรแกนกลาง ของกระทรวงศึกษาธิการ ตามโครงการโรงเรียนชีววิถี เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำอาชีพเกษตรกรรมของพ่อแม่ผู้ปกครอง เข้ามาไว้ในโรงเรียนแบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ต่างๆที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการปลูกข้าวทำนาในพื้นที่น้ำท่วมขัง โดยการทำนาหว่าน และนาดำ ผ่านไป 4 เดือนครึ่ง เปิดเทอมใหม่นี้ เด็กๆได้เรียนรู้วิธีการเกี่ยวข้าวด้วยแกระ (อุปกรณ์เกี่ยวข้าวของชาวปักษ์ใต้) และการใช้กรรไกรตัดสำหรับเด็กเล็ก เรียนรู้ขึ้นตอนการตากข้าว การนวดข้าว การใช้กระด้งร่อนข้าว การตำข้าวซ้อมมือ โดยปัจจุบันนี้พื้นที่ทำไร่ ทำนาในจ.ตรัง เหลือน้อยมาก บางอำเภอไม่มีพื้นที่นาหลงเหลือแล้ว กลายเป็นพื้นที่สวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน เพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้อาชีพกระดูกสันหลังของชาติ คือ การทำนา เรียนรู้ที่มาเมล็กข้าวที่รับประทานทุกวัน โดยเด็กๆบอกว่า ดีใจได้มาเรียนรู้ ที่ผ่านมาเคยเห็นเฉพาะเวลาไปบ้านญาติ โดยเฉพาะเด็กๆที่บ้านญาติอยู่ใน จ.พัทลุง ได้เห็นการทำนาบ้าง แต่เด็กๆในพื้นที่แทบจะไม่มีนาให้เด็กๆได้เห็นและเรียนรู้ นอกจากนั้น เด็กๆยังได้ ปลูกพืชผักสวนครัว ทั้งพริก มะเขือ ผลไม้ กล้วย เสาวรส ปลูกผักบุ้ง ซึ่งเป็นพืชผักที่เด็กๆจะหมุนเวียนปลูก เพื่อเอาไว้เป็นอาหารกลางวัน รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่พื้นที่เมือง ไก่ไข่  เลี้ยงปลาดุก การจับปลา  การเลี้ยงหมู 3 สายเลือด คือ สายพันธุ์พื้นบ้าน หมูป่า และหมูเหมยซาน โดยใช้เศษอาหารทั้งจากในโรงเรียน และจากบ้าน   โดยจะมีการผสมพันธุ์เอง เพราะมีแม่พันธุ์ ลูกที่ได้จะมีชาวบ้านมาขอซื้อไปเลี้ยง เพื่อขยายพันธุ์สู่ชุมชนด้วย  , การเพาะเห็ดนางฟ้า ปลูกกล้วย การผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากเศษไม้ ใบหญ้า การทำปุ๋ยมูลไส้เดือน และการผลิตน้ำหมักชีวภาพ น้ำหมักเอนกประสงค์ ไว้สำหรับล้างจาน ชาม ล้างห้องน้ำ ใช้เป็นปุ๋ยบำรุงพืชผักสวนครัว ใช้ฆ่าแมลง  นอกจากนั้นใช้ปุ๋ยมูลวัว มูลไก่ ใส่สวนปาล์มของโรงเรียน  โดยนักเรียนจะช่วยกัน ปลูกเอง  เลี้ยงเอง  เก็บผลผลิตเอง นำไปแปรรูปในการเรียนวิชาลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เพื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้  และนำไปขายให้กับ “ป้ากบ” แม่ครัวของโรงเรียน เพื่อนำพืชผัก ปลา ไข่ ที่ได้ไปทำอาหารกลางวันให้แก่เด็กๆ ได้รับประทานอาหารที่คุณค่าทางโภชนาการ  โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าอาหารกลางวันที่รัฐบาลจัดสรรให้รายหัวๆละ 21   บาทเท่านั้น  แต่เด็กๆมีอาหารกลางวันครบ 5 หมู่ไว้รับประทาน  และหากวันไหนมีการเรียนลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ที่นำพืชผักที่ได้จากการปลูก รวมทั้งไข่มาแปรรูปทำอาหาร  ก็จะได้เมนูอาหารกลางวันเพิ่มจากปกติที่มีวันละ 4 เมนู ประกอบด้วย ข้าวสวย  กับข้าว 2 อย่าง ขนมหรือผลไม้ตามฤดูกาล ก็จะมีเมนูพิเศษจากวิชาลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ด้วย  โดยเด็กๆสามารถนำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้และลงมือปฏิบัติจริง ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน  และปลูกฝังอาชีพเกษตรกรรมแก่เด็กๆ เพราะเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร มีทักษะการใช้ชีวิต และทักษะอาชีพติดตัว สามารถยึดเป็นอาชีพได้

ทางสุมาลี  เดชะ ครู รักษาการผู้อำนวยการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโพธิ์น้อย  กล่าวว่า    การจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้เด็กๆเกิดทักษะในการใช้ชีวิต ช่วยเหลือตัวเองได้  โดยมีฐานการเรียนรู้ที่ครอบคลุมในชีวิตประจำวันของเด็กๆ เพื่อให้เด็กๆได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติจริง โดยพืชผักสวนครัว หรือผลไม้ รวมทั้งไข่ นำเข้าโครงการอาหารกลางวัน ตามโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในโรงเรียนตามแนวทางพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีให้แก่นักเรียน  ทำให้ได้เมนูอาหารกลางวันที่หลากหลาย ไม่เป็นปัญหากับค่าอาหารกลางวันหัวละ 21 บาท จากรัฐบาล แต่ทางโรงเรียนผลิตอาหารกลางวันได้ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เด็กมีความสุข  คุณครูมีความสุข

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน