X

อลหม่าน! “กฟภ.ตรัง” ประกาศงดจ่ายไฟฟ้าทั้งจังหวัด แจงเหตุเพิ่มสายส่ง “รองปธ.สภาอุตฯ” โวย กระทบภาคธุรกิจหนัก

ตรัง อลหม่าน! “กฟภ.ตรัง” ประกาศงดจ่ายไฟฟ้าทั้งจังหวัด 9 ใน 10 อำเภอไร้ไฟฟ้า เช้าจรดเย็น แจงเหตุเพิ่มสายส่งจาก 1 เป็น 2 สาย ย้ายจุดรับไฟฟ้าจาก “กฟผ.” เสริมความมั่นคงระบบไฟของไฟฟ้าตรัง ตำรวจ เผย ร้านทอง แห่ปิด หวั่นอาชญากรรม “สมาร์ทเซฟตี้โซน” ใช้งานไม่ได้ ต้องเพิ่มกำลังสายตรวจป้องกันอาชญากรรม ยัน 191 ยังโทรได้ “สนามบินตรัง” เที่ยวบินขึ้น-ลงปกติ แต่ไฟฟ้าอาคารผู้โดยสารไม่มี เพราะสำรองไฟแค่รันเวย์ หอบังคับการบินทำงานปกติ “รองปธ.สภาอุตฯ” โวย กระทบภาคธุรกิจหนัก ไร้การวางแผนล่วงหน้า ปล่อยประชาชนหาทางออกกันเอง ลูกค้ายกเลิกโรงแรม ร้านอาหารแห่นำของสดแช่น้ำแข็ง กฟภ.ระดมรถปั่นไฟสนับสนุนรพ.ตรัง-ศาลากลาง

ผู้สื่อข่าว รายงานจากจ.ตรังว่า การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง ได้ออกประกาศ และ ประชาสัมพันธ์ได้แจ้งดับกระแสไฟฟ้าในจังหวัดตรังในวันที่ 26 ส.ค. 2565 นี้ โดยประกาศดังกล่าวลงวันที่ 8 ส.ค. 2565 เนื้อหาระบุ ด้วยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง มีความจำเป็นต้องงดจ่ายกระแสไฟฟ้าเป็นการชั่วคราว เพื่อย้ายจุดรับส่งไฟฟ้าแรงสูง แรงดัน 115 กิโลโวลล์ ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(EGAT) แห่งใหม่ ในวันศุกร์ที่ 26 ส.ค. 2565 ตั้งแต่เวลา 08.30 น.-17.00 น. เป็นเหตุให้พื้นที่ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง ไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้เป็นการชั่วคราว รายละเอียดดังนี้ 1.อ.เมืองตรัง อ.กันตัง อ.ย่านตาขาว และอ.นาโยง ดับทั้งหมด และ 2.อ.ห้วยยอด อ.ปะเหลียน อ.สิเกา และอ.วังวิเศษ ดับบางส่วน จึงห้ามกระทำการใดๆ เกี่ยวกับระบบจำหน่ายไฟฟ้าแรงสูง-แรงต่ำของกฟภ.

ทั้งนี้เมื่อประกาศดังกล่าวเผยแพร่ผ่านทางเพจของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง และโลกโซเชี่ยล ทำให้ตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ประชาชนชาวตรังเป็นอย่างมาก ด้วยเพราะผลกระทบจากการไม่มีไฟฟ้าใช้เกิดขึ้นในวงกว้างเกือบทั้งจังหวัด ไม่มีไฟฟ้าใช้ยาวนานหลายชั่วโมงถึง 9 อำเภอ จากทั้งหมด 10 อำเภอของจ.ตรัง แบ่งเป็นดับสนิทถึง 5 อำเภอซึ่งเป็นอำเภอหลัก เป็นพื้นที่ย่านการค้า เขตเมือง เขตเทศบาล ชุมชนหนาแน่น โรงพยาบาล สถานศึกษา อาคารสำนักงาน ส่วนราชการ ภาคธุรกิจ โรงงานอุตสาหกรรม จำนวนมาก ฯลฯ ดับบางส่วนอีก 4 อำเภอ เหลือเพียงอำเภอเดียวที่มีไฟฟ้าใช้คือ อ.หาดสำราญซึ่งติดทะเล ทำให้ร้านค้า โรงเรียน โรงงาน สถานประกอบการต่างๆในจ.ตรังได้ประกาศปิดทำการในวันดังกล่าวเป็นจำนวนมากเพราะไม่มีกระแสไฟฟ้าใช้ในการดำเนินกิจการ หลายโรงงานประกาศหยุดจ้างพนักงานรายวันในไลน์การผลิต 1 วัน ขณะที่สถาบันทางการเงิน ธนาคาร แจ้งเปิดทำการปกติ แต่หลายธนาคารในบางสาขาที่ไม่มีไฟฟ้าสำรองใช้ ได้แจ้งพนักงานมาทำงานตามปกติแต่งดเปิดทำธุรกรรมทางการเงินที่สาขา และจัดให้พนักงานบางส่วนลงพื้นที่ติดตามงานด้านการเงินแทน ภาคการท่องเที่ยว โรงแรม ที่พัก บางส่วนต้องหาเครื่องปั่นไฟสำรองมาใช้เนื่องจากมีลูกค้าจองเข้าพักในวันดังกล่าวแล้วล่วงหน้า แต่มีลูกค้าบางส่วนที่ขอคืนห้องพัก และเปลี่ยนแผนการท่องเที่ยวไปยังจังหวัดอื่น ภาคธุรกิจบริการ ห้างสรรพสินค้าประกาศลดแอร์ ดับไฟบางส่วน เนื่องจากไฟสำรองไม่สามารถครอบคลุมการใช้งานตามปกติได้ ร้านอาหาร หลายร้านประกาศปิดและเร่งนำวัตถุดิบ อาหารสดแช่น้ำแข็งไว้เพื่อป้องกันความเสียหาย ขณะที่ค่ายมือถือได้ส่งข้อความยังหมายเลขผู้ใช้บริการระบุ อาจทำให้มือถือไม่มีสัญญาณและใช้งานไม่ได้บางพื้นที่ในจ.ตรังขณะที่ภาคการรักษาพยาบาล ที่โรงพยาบาลศูนย์ตรัง ได้เตรียมแผนรองรับโดยกฟภ.ได้นำรถปั่นไฟขนาดใหญ่จากจ.นครศรีธรรมราช เข้ามาประจำการ ส่วนส่วนศูนย์ราชการ ศาลากลางจ.ตรัง นำรถปั่นไฟจากพื้นที่จ.สุราษฎร์ธานีเข้าประจำการ เป็นต้น ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันได้มีผู้ใช้เฟสบุ๊คหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มหลักๆ ในจังหวัดตรัง อาทิ “กลุ่มข่าวตรังNews in Trang” “กลุ่มคนตรัง” และกลุ่มอื่นๆ อย่างคับคั่ง ฯลฯ ต่างเข้าไปคอมเมนท์ถึงผลกระทบจากกรณีการงดจ่ายกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นจำนวนมาก รวมๆกันแล้วนับร้อยๆความคิดเห็น

ด้านมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันเหตุอาชญากรรม พ.ต.อ.เชื้อชาติ เยาว์ดำ ผกก.สภ.เมืองตรัง เปิดเผยว่า สำหรับเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ดังกล่าว ระบบโทรศัพท์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินต่างๆโดยเฉพาะ สายด่วน 191 สามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่ระบบสมาร์ทเซฟตี้โซน ของสภ.เมืองตรัง ไม่สามารถใช้งานได้ เนื่องจากระบบกล้องวงจรปิดต้องใช้ไฟฟ้า แต่ทางสภ.เมืองตรัง ได้ขอความร่วมมือไปยังร้านทองและธนาคารต่างๆ ให้เพิ่มความระมัดระวังในการให้บริการ โดยร้านทองส่วนใหญ่จะปิดให้บริการในวันดังกล่าว ส่วนธนาคารบางสาขาก็ปิดให้บริการ หรือ งดเว้นการทำธุรกรรม และทางสภ.เมืองตรัง ได้เพิ่มกำลังสายตรวจ และความถี่ในการออกตรวจพื้นที่ให้มากขึ้น เพื่อเฝ้าระวังเหตุด่วนเหตุร้ายที่คนร้ายอาจอาศัยจังหวะนี้ก่อเหตุได้

ขณะที่ พ.จ.อ.เมืองชล วงศ์สุวรรณ ผอ.ท่าอากาศยานตรัง กล่าวว่า สนามบินตรังเปิดทำการได้ตามปกติทุกเที่ยวบิน แต่สนามบินได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ โดยบริเวณห้องโถงอาคารผู้โดยสารทั้งขาเข้าและขาออก ไม่สามารถเปิดเครื่องปรับอากาศขนาดใหญ่ได้ ทางสนามบินจึงได้เตรียมพัดลมไฟฟ้าขนาดใหญ่มาใช้แทน เพราะเครื่องสำรองไฟฟ้าที่สนามบินมีอยู่ ไว้ใช้สำหรับรันเวย์สนามบินเพื่อความปลอดภัย ได้แก่ ไฟส่องสว่าง ไฟส่องสัญญาณ และไฟบริเวณทางวิ่งเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หอบังคับการบินสามารถทำงานได้ปกติ เพราะมีเครื่องสำรองไฟเตรียมพร้อมรับเหตุไฟฟ้าดับอยู่แล้ว

นายชนธัญ แก้วแกมเพ็ชร รองผู้จัดการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดตรัง กล่าวชี้แจงว่า สำหรับการประกาศงดจ่ายกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบการจ่ายไฟของไฟฟ้าตรัง ซึ่งเดิมทีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจ.ตรัง มีสายเพียงสายส่งเดียวทำหน้าที่จ่ายไฟฟ้าทั้งจังหวัดตรัง กฟภ.ดูแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อความมั่นคงของระบบจ่ายไฟฟ้า จึงได้ทำโครงการเพิ่มสายส่งมาอีก 1 วงจร รวมเป็น 2 วงจร ด้วยการก่อสร้างสายส่งวงจรใหม่ งบประมาณกว่า 300 ล้านบาท เริ่มสัญญาเมื่อเดือนก.พ. 2564 และครบกำหนดสัญญาเดือนก.พ.2565 โดย กฟภ.ได้ก่อสร้างแล้วเสร็จพร้อมจ่ายไฟฟ้า โดยสายส่งวงจรใหม่จะจ่ายไฟฟ้ามาจาก กฟผ.ลำภูรา ผ่านถนนเลี่ยงเมืองแยกต้นรัก ถนนตรัง-ย่านตาขาว ไปจบที่สถานีจ่ายไฟฟ้าย่านตาขาว ส่วนสายส่งเก่านั้นเริ่มจาก กฟผ.ลำภูรา-บายพาสแยกควนปริง ไปถึงสถานีจ่ายไฟฟ้าย่านตาขาว เช่นกัน ข้อดีของการเพิ่มสายส่งดังกล่าว คือ เมื่อเกิดปัญหาในสายส่งใดสายส่งหนึ่ง ระบบสามารถถ่ายเทกระแสไฟฟ้ากันได้
.
“อีกสาเหตุที่ กฟภ.ตรัง ต้องงดจ่ายไฟฟ้าในวันที่ 26 ส.ค.นี้ ส่วนหนึ่งเพราะกฟผ.ลำภูรา มีโครงการปรับปรุงสถานีจ่ายไฟฟ้าเก่า และย้ายมาอยู่ที่สถานีการจ่ายไฟใหม่ กฟภ.ตรัง ต้องย้ายจุดรับไฟสถานีไฟฟ้าฝ่ายผลิตเดิมเช่นเดียวกัน และทั้ง 2 โครงการของกฟภ. และ กฟผ. ได้แล้วเสร็จพร้อมๆ กัน การทำงานในการปรับเปลี่ยน เคลื่อนย้าย ต่างๆ ต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และเกี่ยวข้องการทำงานด้านเทคนิคต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องดับไฟฟ้าเกือบทั้งจ.ตรัง ซึ่งการดับไฟฟ้าครั้งใหญ่นี้ทางกฟภ.ตรัง ได้เตรียมพร้อมให้หน่วยงานราชการในจ.ตรัง ด้วยการนำเครื่องสำรองไฟฟ้าไปติดตั้งที่ศาลากลางจังหวัดตรัง รพ.ตรัง และนำเครื่องสำรองไฟฟ้าขนาดเล็กไปติดตั้งให้กับบ้านผู้ป่วยติดเตียงที่ต้องใช้ออกซิเจน”นายชนธัญกล่าว
.
ด้านนายกฤตภาส แต้มเติม หัวหน้าแผนกปฏิบัติการและบำรุงรักษากฟภ.จังหวัดตรัง กล่าวว่า พื้นที่ดับไฟฟ้าของจังหวัดตรัง จะเริ่มดับตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น. โดยประมาณ ซึ่งพื้นที่ไฟดับ100% อ.เมืองตรัง , อ.กันตัง , อ.ย่านตาขาว และ อ.นาโยง พื้นที่ดับบางส่วน อ.ห้วยยอด อ.สิเกา อ.วังวิเศษ อ.ปะเหลียน อ.รัษฎา ส่วน อ.หาดสำราญ เป็นพื้นที่ไม่มีการดับไฟ กฟภ.ตรัง ได้ระดมเจ้าหน้าที่จากหลายจังหวัดมาทำงานในครั้งนี้ เพื่อให้งานแล้วเสร็จตามวันและเวลาที่กำหนด ซึ่งคาดว่าจะเสร็จก่อนเวลาที่ได้กำหนดไว้ กฟภ.มองเห็นการเติบโตของปริมาณการใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของจ.ตรัง ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งภาคครัวเรือน และ ภาคอุตสาหกรรม โดยในเร็วๆ ทางกฟภ.จะเริ่มสร้างสถานีจำหน่ายไฟฟ้าเพิ่มที่บริเวณใกล้สี่แยกท่าปาบ เพื่อจ่ายไฟฟ้าในพื้นที่อ.นาโยง หรือ ทางพื้นที่ฝั่งตะวันออกของจ.ตรัง ให้มีความมั่นคงของการจ่ายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยขณะนี้จ.ตรัง มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งจังหวัด อยู่ที่วันละ 250 เม็กกะวัตต์

นายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมจ.ตรัง กล่าวว่า การที่กฟภ.ตรังหยุดจ่ายไฟฟ้าในวันทำการนั้น กระทบเกือบทุกภาคส่วน รวมทั้งภาคอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมห้องเย็นแปรรูปอาหารทะเล ที่ได้รับผลกระทบเพราะสินค้ากลุ่มห้องเย็นต้องเก็บรักษาในห้องควบคุมอุณหภูมิ แม้ว่าห้องเย็นขนาดใหญ่จะมีเครื่องปั่นไฟ แต่ใช้ได้ในช่วงเวลาอันสั้นเท่านั้น หากต้องปั่นไฟใช้ทั้งวันคงไม่ไหว ในขณะที่โรงงานอื่นได้รับผลกระทบทั้งนั้น เพราะไฟฟ้าต้องใช้ทั้งในไลน์การผลิตและใช้ในสำนักงาน ซึ่งในวันดังกล่าว ต้องหยุดเกือบ 100% รวมไปจนถึงภาคประชาชน บ้านเรือน ก็ประสบปัญหา การดับไฟเกือบ 10 ชั่วโมง ทำให้เกิดปัญหาได้

“ความสูญเสียเหล่านี้เกิดกับประชากร กว่า 6 แสนคน ของจ.ตรัง กฟภ.ตรัง น่าจะวางแผนให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่เพียงแค่ออกประกาศว่าจะหยุดจ่ายกระแสไฟเพื่อปรับปรุงระบบ แล้วปล่อยให้ประชาชนรับกรรมกันเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกฟภ.ตรัง ไม่ได้วางแผนร่วมกับภาคอุตสาหกรรมฯ เพียงแค่แจ้งมาเท่านั้น ให้ประชาชน ห้างร้าน อุตสาหกรรม หาทางออกกันเอาเอง ที่ผ่านมาประชาชนจ่ายค่าไฟล่าช้าทาง กฟภ.ก็ตัดไฟฟ้า ยกมิเตอร์ ชาวบ้านต้องจ่ายค่าปรับต่างๆ แต่ครั้งนี้ความเสียหายที่เกิดขึ้นทางกฟภ.ไม่เคยมองเห็น และไม่ชดเชยอะไรให้ประชาชน ภาคธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรม หากจะประเมินความเสียหายที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ เฉพาะภาคอุตสาหกรรมจะมีมูลค่าความเสียหายจำนวนหลายสิบล้านบาท ความเสียในภาคอุตสาหกรรมที่ผลิตเสร็จแล้ว รอส่งให้กับลูกค้าต่างประเทศก็ ต้องเสียเวลาไปอีก 1 วัน การเลื่อนส่งออกออกไปหมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น”รองประธานสภาอุตสาหกรรมจ.ตรังระบุ

นายบุญชู ศัยศักดิ์พงษ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทตรังผลิตภัณฑ์อาหารทะเล จำกัด และรองประธานสภาอุตสาหกรรมตรัง กล่าวว่า โรงงานห้องเย็นของตนไม่กระทบ เพราะเตรียมเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าของโรงงานเต็ม 100% เพื่อให้การผลิตเดินหน้าไปได้ ซึ่งที่ต้องมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 100% เพราะที่จ.ตรังไฟฟ้าดับบ่อย ครั้งละ 1-3 ชั่วโมง ไฟฟ้าดับบ่อยมากๆ พรุ่งนี้นอกจากนี้ในภาคอุตสาหกรรมอื่น คาดว่าโรงเลื่อยไม้ยางพาราต้องหยุด เพราะไม่มีกระแสไฟฟ้า สถานที่ใช้เครื่องปรับอากาศ ห้างสรรพสินค้า ส่วนธนาคารไม่น่าจะหยุด หากหยุดร้าน หยุดกิจการ พรุ่งนี้ก็ไปเที่ยวต่างจังหวัด เพราะดูจากประกาศไฟฟ้าดับจังหวัด

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน