X

“วราวุธ”ลงตรัง เดินหน้า”มาเรียมโปรเจกต์”ปล่อยเต่าทะเล มุ่งแก้ปัญหาขยะทะเล-อนุรักษ์พะยูน

ตรัง ทะเลตรังสุดปลื้ม “วราวุธ” เผย พะยูนในธรรมชาติประชากรเพิ่ม เดินหน้า “มาเรียมโปรเจกต์” ต่อเนื่อง มุ่งแก้ไขปัญหาขยะทะเลและอนุรักษ์พะยูน ทช.จัดงานสัปดาห์พะยูนแห่งชาติ ร่วมพันธมิตรตั้งสถาบันวิจัยอนุรักษ์พะยูน ลงนาม MOU 3 โครงการใหญ่ “ตรังเมืองหลวงพะยูน” ศูนย์รักษาและฟื้นฟูสัตว์ทะเลฯ-ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านพะยูนฯ-ศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศทางทะเลฯ พร้อมลงพื้นที่อ.สิเกาตรวจสภาพอาคาร ที่จะจัดสร้างสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายากจังหวัด และร่วมปล่อยเต่าตนุ จำนวน 10 ตัว ที่เคยเกยตื้นชายหาดจนได้รับการอนุบาลเป็นอย่างดีจนแข็งแรง สามารถคืนสู่ท้องทะเลได้สมบูรณ์

จากกระแสต่อเนื่องด้านการอนุรักษ์พะยูน นับตั้งแต่สูญเสีย “น้องมาเรียม” เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เสนอให้วันที่ 17 สิงหาคม ของทุกปีเป็น “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” สำหรับปีนี้ (2565) ได้มีการจัดงานสัปดาห์พะยูนแห่งชาติ (Thailand Dugong & Seagrass Week 2022) เป็นครั้งแรก นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะประธานเปิดงานและร่วมเป็นสักขีพยานลงนามจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก โดยความร่วมมือระหว่างกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง หวังเพิ่มจำนวนพะยูนในธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง พร้อมเผยผลงานจำนวนพะยูนในธรรมชาติเพิ่มขึ้นหลังเดินหน้าแผนอนุรักษ์พะยูนจริงจัง
สำหรับงานสัปดาห์พะยูนแห่งชาติ (Thailand Dugong & Seagrass Week 2022) ระหว่างวันที่ 17-23 สิงหาคม 2565 ที่ห้องประชุมใหญ่ โรงแรมธรรมรินทร์ ธนา อ.เมือง จ.ตรัง โดยกิจกรรมภายในงานจะมุ่งเน้นการให้ความรู้ทางวิชาการการถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของภาคส่วนต่า ๆ ได้เห็นความสำคัญและเข้ามาร่วมแสดงบทบาทร่วมกันอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะ “พะยูน” ของไทย ซึ่งคาดว่าการจัดงานจะมีผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 1,000 คน

และในวันนี้กรม ทช. ได้ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก ณ อ่าวสิเกา จังหวัดตรัง ร่วมกับสมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยวิทยาเขตตรัง ซึ่งโครงการนี้นับเป็นโครงการใหญ่อีกหนึ่งโครงการใช้เวลาในการดำเนินโครงการกว่า 15 ปี ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ศูนย์รักษาและฟื้นฟูสัตว์ทะเลหายากที่เจ็บป่วย ศูนย์วิจัยความเป็นเลิศด้านพะยูนและสัตว์ทะเลหายากและศูนย์เรียนรู้ระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง โดยตั้งเป้าหมายจำนวนพะยูนในธรรมชาติได้รับการคุ้มครอง ดูแล และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ต่อมานายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจสภาพอาคาร ที่จะจัดสร้างสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายากจังหวัดตรัง โดยพื้นที่ดังกล่าวพบเป็นอาคารทิ้งไว้รกร้าง ทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้ขอคืนพื้นที่ก่อสร้างที่ล่วงล้ำป่าชายเลนบริเวณท้องที่ ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง เนื้อที่ 21 ไร่ 3 งาน 59 ตารางวา เพื่อนำมาใช้เป็นพื้นที่จัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก โดยพบว่าตัวอาคารมีสภาพทรุดโทรม บางจุดตัวอาคารลอยขึ้นไม่ติดกับเสาโครงสร้าง คล้ายเสาอาคารบลูทูธ ด้วยอายุการก่อสร้างที่ทิ้งร้างไว้นานจนเสื่อมสภาพ ซึ่งคาดว่าน่าจะต้องทุบทิ้งทั้งหมดแล้วสร้างใหม่น่าจะคุ้มกว่า

หลังจากนั้นนายวราวุธฯ ได้ร่วมปล่อยเต่าตนุที่เคยเกยตื้นชายหาดจนได้รับการอนุบาลจากเจ้าหน้าที่ฯ เพื่อปล่อยกลับคืนสู่ท้องทะเล จำนวน 10 ตัว ด้วยกัน และร่วมรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์แนวชายฝั่งทะเล สัตว์ทะเลหายาก ทั้ง โลมา เต่าทะเล พะยูน และชมการสาธิตแนวทางการฟื้นฟูหญ้าทะเล

ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตนคงจะต้องตอกย้ำให้กับสังคมในสิ่งที่เป็นบทเรียนที่หลายคนยังจดจำกันไม่ลืม นับตั้งแต่เราได้สูญเสียพะยูน “มาเรียม” เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2562 จนกลายเป็นกระแสสังคมดังไปทั่วโลก จนถึงวันนี้ (17 สิงหาคม 2565) ก็ครบ 3 ปี พอดี ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไม่เคยหยุดทำงานเพื่อแก้ไขและฟื้นฟูเพิ่มจำนวนพะยูนรวมถึงสัตว์ทะเลหายากในท้องทะเลไทย บทเรียนจากเศษขยะทะเลเพียงไม่กี่ชิ้นที่สร้างความสูญเสียอันใหญ่หลวงจนประเมินค่าไม่ได้ ต่อยอดสู่การอนุรักษ์สัตว์ป่าและสัตว์ทะเลหายากภายใต้ “มาเรียมโปรเจค” ผลความสำเร็จเราสามารถเพิ่มจำนวนเพิ่มจำนวนพะยูนในธรรมชาติจาก 250 ตัว เป็น 265 ตัว และตั้งเป้าหมายไว้ที่ 280 ตัว โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดตรังที่นับว่าเป็นแหล่งพะยูนและหญ้าทะเลที่สมบูรณ์ และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สำหรับการดำเนินงานที่ผ่านมา ตนต้องขอชื่นชมกับพี่น้องประชาชนในจังหวัดตรัง นักท่องเที่ยว และภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินงานทุกขั้นตอน แก้ไขปัญหาครอบคลุมทุกมิติตั้งแต่การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และจัดการปัญหาขยะทะเลตั้งแต่ต้นทางก่อนลงสู่ทะเล ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการจัดการแบบเต็มรูปแบบ และที่สำคัญวันนี้ ตนต้องขอขอบคุณสมาคมบลูคาร์บอนโซไซตี้ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรังที่ร่วมกันจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายาก เพื่อช่วยรักษา ดูแล อนุรักษ์และฟื้นฟูจำนวนพะยูนพื้นที่อำเภอปะเหลียน อำเภอหาดสำราญ อำเภอย่านตาขาว อำเภอกันตัง และอำเภอสิเกา จังหวัดตรัง และพื้นที่ใกล้เคียง


นายวราวุธ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับสถานที่ที่ลงมาดูเพื่อเตรียมเป็นสถาบันวิจัยเพื่อการอนุรักษ์พะยูนและสัตว์ทะเลหายากจังหวัดตรังนั้นต้องเรียนว่าเป็นพื้นที่ที่สวยงามและอยู่พื้นที่ที่คลื่นลมสงบ ถือว่าเป็นจุดที่เหมาะสม เพราะมีสถานที่ที่เป็นธรรมชาติอยู่บริเวณล้อมรอบเหมาะแก่การทำวิจัยสัตว์ทะเลหายาก ซึ่งต้องขอบคุณหน่วยงานทั้ง 3 ฝ่ายที่จะมาร่วมมือกัน เพื่อประโชน์ของเราทุกคน ในส่วนของงบประมาณนั้นคงต้องมาศึกษากันอีกทีเพราะมีหลายมิติ ต้องสำรวจก่อนว่าตัวอาคารสามารถซ่อมแซมได้หรือไม่อย่างไร หรือจะต้องทุบทิ้งใหม่หมด ซึ่งอาจจะกระทบกับงบประมาณ ซึ่งวันนี้เป็นเพียงสเต็ปแรกที่ลงมาดูว่าพื้นที่เหมาะสมหรือไม่ ส่วนขั้นตอนที่จะดำเนินการต่อไปเราต้องประเมินงบประมาณที่จะต้องใช้ ซึ่งต้องดูเรื่องโครงสร้างที่เรามีปัจจุบันก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่อย่างไร คาดว่าน่าจะหลายร้อยล้านบาทพอสมควร ซึ่งตามแปลนก็จะมีโครงสร้างที่ยื่นออกไปในอ่าวกลางน้ำด้วยเช่นกันคงต้องอาศัยความร่วมมือหลายฝ่ายเพราะฉะนั้นตอนนี้อาจเร็วไป ที่จะต้องบอกเลยว่าจะใช้งบประมาณเท่าไหร่ ซึ่งคาดว่าอาจจะต้องใช้พื้นที่อยู่มากพอสมควร แต่เราพยายามรักษาสภาพธรรมชาติให้ได้มากที่สุด หากเตรียมการในเรื่องของการวิจัยจะต้องมาประชุมหารือกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะในแต่ละสาขาย่อมใช้งบประมาณแตกต่างกันไป เบื้องต้นยังคาดการณ์ปริมาณค่อนข้างลำบาก เรายังไม่รู้ว่าสโคปการทำงานตรงนี้จะครอบคลุมได้ถึงตรงไหน แต่ว่าที่แน่นอนตรงนี้เราจะมีศูนย์พิทักษ์และวิจัยสัตว์ทะเลหายากเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ในส่วนของที่จะเป็นศูนย์วิจัยสัตว์ทะเลหายากในระดับอาเซียนนั้นยังอยู่ในแนวคิด เพราะสัตว์ทะเลหายากไม่ใช่มีเพียงแค่พะยูนเพราะเรายังมีทั้งเต่า โลมา วาฬ แต่เรื่องของจังหวัดตรังของที่นี่เราจะเน้นพะยูน แต่องค์ภาพโดยรวมจะอยู่ที่ไหนนั้นเราต้องมาตรวจดูกันอีกครั้ง

มาถึงวันนี้เราจะต้องมีสถาบันวิจัยและพัฒนา เพื่อที่ต้องการเพิ่มจำนวนประชากรของพะยูน ถือได้ว่าเป็นที่น่าพอใจ ในส่วนของ Road Map การบริหารจัดการของพลาสติก เราก็ดำเนินการไปได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งวันนี้ในประเทศไทยเรื่องการทิ้งขยะได้ลดอันดับมาจากอันดับ 6 มาเป็นอันดับ 10 ในประเทศที่ทิ้งขยะลงทะเลมากที่สุดในโลก ซึ่งแผนมาเรียมโปรเจคของเราเดินหน้าไปได้พอสมควร เสียดายที่มาเจอช่วงสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ปริมาณขยะพลาสติกมันลดไม่ได้เท่าที่ควร สำหรับอัตราการลดของพะยูนนั้นจริง ๆ แล้วพะยูนไม่ได้ลดลงหรอก ความเสี่ยงของพะยูนเกิดจากมนุษย์ แต่สิ่งที่ทำให้ดีขึ้นคือทำให้พี่น้องประชาชนมีความเข้าใจกับหน่วยงานภาคราชการ ทำให้พะยูนมีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ15 ตัวในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ในส่วนของปัญหาเรื่องขยะนั้นมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากเราดักขยะตามปากแม่น้ำ ทำให้ขยะที่ลงไปตามทะเลลดน้อยลง แต่ที่เราห้ามไม่ได้ก็คือ ขยะมาจากประเทศอื่นเราต้องตามมอนิเตอร์กันต่อไป ซึ่งเรื่องของการดูแลขยะนั้นท้องถิ่นจะต้องช่วยกันดูแล ในส่วนของกระทรวงทรัพยฯเราจะให้คำแนะนำในเรื่องของการบริหารจัดการเกี่ยวกับขยะ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงประเด็นเรื่องของนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตผู้พิทักษ์ผืนป่าฯ นายวราวุธกล่าวเพียงสั้นๆว่า ตอนนี้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ซึ่งตอนนี้ศาลปกครองชั้นต้นที่จังหวัดเพชรบุรี ออกการคุ้มครองชั่วคราว เดี๋ยวจะต้องคงดำเนินการตามนั้น แต่ในการทำงานของภาครัฐ เราก็คงจะต้องอุทธรณ์ คำสั่งของศาลปกครองไปตามหน้าที่ ก็เป็นไปตามระเบียบอยู่แล้วไม่ได้มีอะไร แล้วตอนนี้เจ้าหน้าที่ทุกคนก็พยายามทำงานกันอย่างเต็มที่ดำเนินการตามระเบียบอย่างเคร่งครัด หรือตามเงื่อนไขที่หน่วยงานอื่น ๆ มี เป็นสิ่งที่จำเป็นไม่แพ้กัน ให้ดำเนินการไปตามระเบียบที่มีอยู่

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน