X

ตรัง พรรคเล็กเร่งเดินหน้าจัดตั้งสาขาและหาสมาชิก เฟ้นตัวผู้สมัครพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง

ตรัง พรรคการเมืองขนาดเล็ก เร่งเครื่องเดินหน้าจัดตั้งสาขาและหาสมาชิก เฟ้นหาตัวผู้สมัครเตรียมพร้อมนับถอยหลังลงสู้ศึกเลือกตั้ง คาดจะมีการยุบสภาประมาณเดือน ก.พ.-มี.ค.66 ตั้งเป้าคะแนนบัญชีรายชื่อ เชื่อสูตรหาร 500 คงผ่านสภา เป็นโอกาสของพรรคเล็กอีกครั้ง

ที่หน้าอาคารอเนกประสงค์ชุมชนกะพังสุรินทร์  ต.ทับเที่ยง อ.เมือง จ.ตรัง นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ เดินทางลงพื้นที่ จ.ตรัง เพื่อเร่งประชุมจัดตั้งสาขาพรรคพลังธรรมใหม่ประจำจ.ตรัง  และเลือกคณะกรรมการสาขาพรรคพลังธรรมใหม่ จ.ตรัง  เพื่อเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง หลังเสร็จสิ้นศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ และรัฐบาลเหลือเวลาทำงานอีกเพียงประมาณ 8 เดือนเท่านั้น ก็จะหมดวาระ ทำให้พรรคการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะพรรคการเมืองขนาดเล็กที่คนน้อย งบน้อยและเป็นรองพรรคขนาดใหญ่ ต่างเร่งลงพื้นที่จัดตั้งเครือข่าย เพื่อเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งในสมัยหน้านี้

นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ บอกว่า พรรคพลังธรรมใหม่เตรียมความพร้อมมาอย่างต่อเนื่องในการลงเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้พรรคต่าง ๆ สามารถจัดตั้งสาขาพรรคได้จังหวัดละ 1 แห่ง ไม่จำเป็นที่จะต้องจัดตั้งทุกเขตที่ส่งผู้แทนลงสมัคร และจะส่งตัวแทนเขตลงสมัครทุกเขต หรือไม่ส่งทุกเขตก็ได้หรือทั้งประเทศส่งเพียงเขตเดียวก็ได้ สามารถหาเสียงลงคะแนนบัญชีรายได้ชื่อได้ทั่วประเทศ และเชื่อว่าพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางจะเหมือนกันหมดทุกพรรค ซึ่งพรรคพลังธรรมใหม่จะส่งเฉพาะเขตที่ผู้สมัครมีความพร้อมเท่านั้น ถ้าผู้สมัครไม่มีความพร้อมก็ไม่ส่ง เพราะพรรคไม่ได้มีเงินมากมายในการเสียง ขณะนี้ยังไม่กำหนดว่าจะส่งกี่เขต แต่กำลังเร่งเดินหน้าคัดตัวผู้สมัครในระยะเวลานับจากนี้ โดยจะเลือกเฉพาะผู้มีอุดมการณ์เดียวกับพรรค และมีความพร้อม      ทั้งนี้ พรรคพลังธรรมใหม่ตั้งเป้าหมายในการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า จะขอทำคะแนนบัญชีรายชื่อให้ได้จำนวน 1 ล้านเสียง ส่วนจะหาร 100 หรือหาร 500 ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ทั้งนี้ หากจบที่หารด้วย 100 อาจจะได้ ส.ส.ประมาณ 3 คน แต่ถ้าหารด้วย 500 จะได้ ส.ส.ประมาณ 10 กว่าคน แต่จุดยืนของพรรคต่อสู้ให้หารด้วย 500 ไม่ใช่เพื่อให้พรรคพลังธรรมใหม่ได้ ส.ส.จำนวนมาก ไม่ใช่เพื่อให้พรรคเล็กหนีตาย แต่เป้าหมายเพื่อต้องการให้การเลือกตั้งกติกาใหม่เป็นไปตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งระบุว่าต้องมีส.ส.พึงมี ซึ่งเป็นระบบที่ยุติธรรมที่สุด พรรคใดได้คะแนนพรรคเท่าไหร่ ก็ควรจะมีส.ส.พึงมีเท่านั้น ให้มีระบบจัดสรรปันส่วนผสมกระจายส.ส.ตามกลุ่มประชาชนให้หลากหลาย เพราะโลกยุคใหม่ไม่ใช่โลกยุคเดิมของนายทุนพรรคการเมือง แต่เป็นโลกของความหลากหลาย ซึ่งรัฐธรรมนูญออกแบบไว้แบบนี้ เพื่อต่อต้านระบบเผด็จการรัฐสภา แต่เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งเห็นชัดว่ารัฐบาลชุดนี้ แม้จะมีพรรคจำนวนมาก รวมทั้งขนาดเล็กแต่ก็แข็งแกร่งอยู่มาจนจะครบเทอมแล้ว แตกต่างจากระบบเดิมที่บอกว่าแข็งแกร่งเป็นปึกแผ่น แต่ทำงานได้เพียง 1-2 ปี ก็ต้องยุบสภา อย่างไรก็ตาม ในวันอังคารนี้ ก็จะมีการประชุมร่วมเพื่อพิจารณากฎหมายลูกของ พ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส. อีกประมาณ 6-7 มาตราที่เหลือ คาดว่าคงใช้เวลาครึ่งวันเสร็จแล้วก็จะโหวตวาระ 3 ก็จะมีการยกมือรับไม่รับทั้งร่าง 32 มาตรา ถ้าไม่รับก็จบ การแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องไปเริ่มต้นใหม่ ทั้งเรื่องหารด้วย 100 หรือ 500 ซึ่งต้องไปแก้รัฐธรรมนูญใหม่ แต่ถ้าผ่านก็จะเข้าสู่กระบวนการที่สภาส่งกฎหมายลูกไปให้กกต.และศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งจะต้องใช้เวลาประมาณ 10 วัน ถ้ามีการทักท้วงสภาก็ต้องแก้ไขภายใน 30 วัน แต่ถ้าไม่ทักท้วงบอกว่าผ่าน ก็จะส่งร่างไปให้นายกรัฐมนตรีถือไว้ ยังไม่รอทูลเกล้า ซึ่งภายใน 5 วันนี้ หากฝ่ายค้าน ซึ่งยืนยันในสูตร 100 ต้องการจะยื่นรัฐธรรมนูญก็จะต้องทำภายใน 5 วันนี้ ซึ่งถ้าฝ่ายค้านยื่นศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องพิจารณาในรายละเอียดใช้เวลาประมาณ 30 -60 วัน


นพ.ระวี  มาศฉมาดล  ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ บอกอีกว่า ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่เสร็จสิ้นไปนั้น แตกต่างจากการโหวตทั่วไปอย่างสิ้นเชิง คือ ส.ส.ไม่มีการพิจารณาที่เนื้อหาสาระของการอภิปราย ทั้งของฝ่ายค้าน และหลักฐานที่นำมาชี้แจงของฝ่ายรัฐมนตรีที่ถูกอภิปราย  ว่าใครมีน้ำหนักมากน้อยแค่ไหน และรัฐบาลคงไม่ได้มีการพิจารณาปรับครม.ตามคะแนนโหวตที่ออกมา หรือไม่ได้พิจารณาการตอบคำถามว่าได้ หรือไม่ได้ ถ้าตอบไม่ได้ควรจะปรับออกไป แล้วแต่งตั้งคนใหม่เข้ามา แต่ในครั้งนี้มาตรการนี้ใช้ไม่ได้ บางคนฝ่ายค้านตั้งคำถามที่จะเจาะหาใบเสร็จ ซึ่งไม่มี โดยรัฐมนตรีตอบได้ชัดเจน แต่ได้คะแนนต่ำ เพราะมีปัจจัยอื่นมาเปลี่ยน ทั้งความสัมพันธ์ส่วนตัว และการให้กล้วย ไม่ให้กล้วย คิดว่านายกรัฐมนตรีคงไม่ได้พิจารณาการปรับครม.ด้วยวิธีนี้ คงจะดูผลงานว่าใครควรปรับไม่ควร  แต่เชื่อว่าภายใน 1-2 เดือน นี้ ถ้ารัฐบาลจะปรับ ครม. นายกรัฐมนตรีคงไม่ไปแตะโควต้าพรรค แต่คงโยนให้แต่ละพรรคไปจัดการกันมา ซึ่งก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร เพราะส่วนตัวมองว่า ความขัดแย้งที่เกิดในการลงมติ เล็ก ๆ น้อย ๆ เท่านั้นเพียงไม่กี่เสียงที่ก่อให้เกิดปัญหา เชื่อว่าประมาณกุมภาพันธุ์-มีนาคม  2566 ก็คงมีการยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ และการเลือกตั้งครั้งหน้าเชื่อว่าจะมีการซื้อเสียงกันอย่างมโหฬารมากกว่าการเลือกตั้งปี 2562 อย่างแน่นอน เพราะจะต้องมีการทุ่มเงินซื้อเสียงกันทั้งระบบเขต และระบบบัญชีรายชื่อ เชื่อเงินจะพัดออกจากกระเป๋านักการเมืองเข้าสู่กระเป๋าประชาชนกันอย่างมากมาย ซึ่งเป็นเรื่องไม่ดี แต่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะพรรคใหญ่ แต่พรรคเล็ก ๆ อย่างพรรคพลังธรรมใหม่ไม่มีเงิน จึงจะส่งแต่เฉพาะส.ส.เขตที่มีความพร้อมเท่านั้น และเชื่อว่าในสนามเลือกตั้งภาคใต้ ส่วนตัวมองว่าจะเป็นการต่อสู้กันของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ และภาคภูมิใจไทย ส่วนพรรคอื่น ๆ โอกาสคงยาก ส่วนพรรคพลังธรรมจะพยายามจนสุดความสามารถเป้าหมายขอแบ่งคะแนนระบบบัญชีรายชื่อ

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน