X

อบจ.ตรัง ฟื้น “งานเรือพระ” ฝั่ง“ตรังต้านโกง”เกาะติดหวั่นเหตุการณ์ซ้ำรอย จัดคาราวานสินค้าขายคนตรัง

อบจ.ตรัง ฟื้น “งานเรือพระ” ในรอบ 3 ปี หลังโควิดคลี่คลาย เปิดงานวิจัย ป.ป.ช. จัดงานยุค “กิจ หลีกภัย” ส่อทุจริต-เปิดช่องมีผู้ประมูลงาน จัดพื้นที่ให้เช่าขายสินค้า รีดค่าเช่าแพงหูฉี่ไม่ส่งรัฐ “ตรังต้านโกง” ตามเกาะติด หวั่นเหตุการณ์ซ้ำรอย แค่โกยกำไรค่าเช่าแผง-จัดคาราวานสินค้ามาเอาเงินคนตรัง 

จากกรณีที่ อบจ.ตรัง มีกำหนดดำเนินโครงการงานประเพณีลากพระจังหวัดตรัง ครั้งที่ 19 ประจำปี 2565 หรือ “งานเรือพระ”  เนื่องจากสถานการณ์โควิ19  ซึ่งในปีนี้มีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 11 – 19 ตุลาคม 2565 ที่ลานวัฒนธรรม สนามกีฬาทุ่งแจ้ง หรือ ลานเรือพระ) เป็นเวลา 9 คืน 10 วัน หลังจากหยุดจัดงานเรือพระมานาน 3 ปี  โดยจะลากเรือพระกลับวัดต่างๆในวันที่ 20 ตุลาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสาน อนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา และถ่ายทอดขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นให้อยู่คู่กับจังหวัดตรังอย่างยั่งยืนสืบไป

“ขณะนี้ อบจ.ตรัง ได้มีหนังสือเชิญชวนไปยัง วัด สำนักสงฆ์ ที่พักสงฆ์ในจังหวัดตรัง ให้ส่งเรือพระเข้าร่วมงาน โดยส่งใบสมัครได้ที่กองการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม อบจ.ตรัง ตั้งแต่บัดนี้จนถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2565 โทรศัพท์ 075-21 8262 ต่อ 344 – 5 กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย 1.การประกวดเรือพระ แบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เรือพระขนาดเล็ก เรือพระขนาดใหญ่ 2.ประกวดขบวนแห่เรือพระ 3.แข่งขันกีฬาพื้นบ้าน ได้แก่ ซัดต้ม กินต้ม เตะปี๊บไกล วิ่งกระสอบชาย-หญิง ขูดมะพร้าว วิ่งสามขา ชาย-หญิง ชักเย่อ ประกวดคณะกลองยาว แข่งขันเล่านิทานพื้นบ้านภาคใต้ แข่งขันพูดคำและสำนวนโวหารถิ่นใต้โบราณ ประกวดแต่งบทกวีงานประเพณีลากพระเมืองตรัง ปาฐกถาธรรม โดยพระภิกษุสงฆ์แสดงปาฐกถาธรรมทุกคืน การแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น การแสดงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การร้องเพลงลูกทุ่ง ฯลฯ”นายบุ่นเล้งระบุ

สำหรับการจัดงาน “ประเพณีลากพระจังหวัดตรัง” ริเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ในยุคการนำของนายกิจ หลีกภัย พี่ชายนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ซึ่งนั่งเป็นนายกฯอบจ.ตรังในขณะนั้น ยาวนานถึง 4 สมัย โดยมีการมีการชักพระ การประกวดเรือพระหลังออกพรรษาของทุกปี เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสืบสานวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ และอนุรักษ์ประเพณีท้องถิ่นของ จ.ตรัง ซึ่งแต่ละปีมีเรือพระจากทุกอำเภอ มาร่วมขบวนแห่และจัดแสดงภายในบริเวณงาน มีประชาชน นักท่องเที่ยวเดินทางมาชมเรือพระและร่วมทำบุญจำนวนมาก กระทั่งในปี 2564 อบจ.ตรังได้มีการประกาศงดการจัดงาน เพื่อมิให้เกิดการรวมกลุ่มของบุคคลจำนวนมาก และให้การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมการแพร่ระบาดของโรค โควิด-19

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงปี 2563 เครือข่ายภาคประชาชนจังหวัดตรังในนามกลุ่มตรังต้านโกง ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงความโปร่งใส่ในการเปิดประมูลพื้นที่ขายสินค้าและคาราวานสินค้าภายในงาน โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้ ค่าเช่าพื้นที่จากบรรดาพ่อค้าแม่ค้า รวมถึงค่าจอดรถต่างๆซึ่งเป็นรายได้มหาศาล ตลอดจนตั้งคำถามว่ามีการนำส่งรายได้เข้ารัฐหรือไม่ นอกจากนี้ยังสำรวจพบปัญหาความเดือดร้อนของพ่อค้าแม่ขายที่ต้องจ่ายค่าเช่าสูงถึงรายละหลายหมื่นบาท แม้กระทั่งแม่ค้าขายข้าวหลามที่นั่งขายแบบแบบกับดิน ยังต้องจ่ายค่าเช่าถึงรายละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการเรียกเก็บค่าจอดรถ ค่าฝากรถ บนถนนสาธารณะ และประเด็นข้อสังเกตอื่นๆอีกมากมาย

 

ด้านนายชัยวุฒิ สวัสดิรักษ์ ประธานชมรมตรังต้านโกง กล่าวว่า ในการจัดงานประเพณีลากพระของ อบจ.ตรัง ที่มีกำหนดจัดขึ้นในเร็วๆนี้ หลังจากทิ้งช่วงไปนานด้วยสถานการณ์โควิด19 ทางชมรมตรังต้านโกงต้องเฝ้าระวังหลายๆเรื่อง ตั้งแต่เรื่องขอนุญาตการใช้พื้นที่ เพราะพื้นที่จัดงานคาบเกี่ยวกับหลายหน่วยงาน ทั้งจังหวัดตรัง อบจ.ตรัง เทศบาลนครตรัง  และ อบต.บางรัก ต้องดูว่ามีการขออนุญาตถูกต้องกับเจ้าของพื้นที่หรือไม่ เรื่องกฎกติกาการจัดงานว่าเป็นอย่างไร เช่น มีการประมูลงานหรือไม่ ใครเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ เงินที่ได้จากการจัดงานและจำหน่ายสินค้าไปไหน โดยเฉพาะการเข้าไปใช้พื้นที่ ถ้ามีผู้ประมูล มีการออกร้านขายของ จะดำเนินการถูกต้องตรงไปตรงมาหรือไม่ มีการหาประโยชน์ที่เกินสมควรหรือไม่

“ที่ผ่านมาชมรมตรังต้านโกง ได้ทำการศึกษาร่วมกับ ป.ป.ช แต่ก็ยังไม่จบ เราจะดูต่อว่าในการทำงานที่ผ่านมามีการประมูลงาน แล้วไปหารายได้จากประชาชน เพราะเคยมีชาวบ้านร้องเรียนว่าแค่ขายข้าวหลาม แต่เจอเรียกเก็บค่าที่แพงมาก ตรงนี้ต้องไปดูว่ารายได้ของผู้ประกอบการสูงมากน้อยแค่ไหน มีการเสียภาษีหรือไม่ ผู้จัดงานไม่ได้เน้นที่เป้าประสงค์หลักจริงๆ ให้น้ำหนักงานประเพณีน้อย แต่ไปมุ่งกับการออกร้านขายของ ที่มีการประมูลงานประมูลพื้นที่ แทนที่จะให้ขายของท้องถิ่น กลายเป็นให้คาราวานแม่ค้าจากที่อื่นมาขาย ขายเสร็จยกโขยงกันกลับ พูดง่ายๆว่ามาเอาเงินคนตรังไป โดยที่คนในท้องถิ่นไม่ได้ประโยชน์เลย”นายชัยวุฒิระบุ

นายชัยวุฒิกล่าวด้วยว่า จากการร้องเรียนที่เคยได้รับมา 1.การใช้พื้นที่ไม่ถูกต้อง การใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อหาผลประโยชน์ เช่น ในพื้นที่คาบเกี่ยวของหน่วยงานต่างๆ อบจ.ตรัง ไม่ได้ขอใช้พื้นที่จากเทศบาลนครตรังอย่างถูกต้อง 2.การจัดหาผลประโยชน์ มีผู้ประมูลแข่งกันจัดงาน แต่เป็นการประมูลสถานที่ทั้งแปลงใหญ่ และนำไปแบ่งเป็นล็อคๆ ให้เช่า แล้วเก็บค่าเช่ากับชาวบ้านที่มาขายของ เช่น ข้าวหลาม ขนมปอดควาย(ถังแตก) ขนมโตเกียว ซึ่งเก็บค่าเช่าแพงมาก ทำให้กระทบกับมาผู้มาเที่ยวงานที่ต้องจ่ายเงินซื้อขนมในราคาที่แพงมากตาไปด้วย เช่น ไปรับประทานขนมจีนราคาแพงถึงจานละ 50 บาท

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประจำจังหวัดตรัง(ป.ป.ช.ตรัง) แจ้งว่า ป.ป.ช.ประจำตังหวัดตรัง เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2563 ป.ป.ช.ตรังได้เผยแพร่ผลการวิจัยเรื่อง “การศึกษาหามาตรการป้องกันการทุจริตในการจัดงานประจำปีของ หน่วยงานรัฐ” ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ศูนย์การศึกษานอกที่ตั้ง ตรัง ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ป.ป.ช. โดยผลการวิจัยการจัดงานประเพณีประจำปี ได้แก่ งานกาชาด และงานเรือพระ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้มีคาราวานสินค้าของ 3 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครศรีธรรมราช และสงขลา โดยวิจัยระบุ ไม่ปรากฏเอกสารเชิงประจักษ์ว่าได้มีการประมูลหรือปฏิบัติตามระเบียบมหาดไทย ว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีการตกลงผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับเอกชน อาจก่อให้เกิดปัญหาการทุจริตได้ และยัง ขาดหลักนิติธรรม ขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วม ขาดความคุ้มค่า และขาดการตรวจสอบด้วย

งานวิจัยระบุอีกว่า รายละเอียดในส่วนของงานเรือพระซึ่งมีรูปแบบการจัดงาน 2 ส่วน คือ 1.การจัดงานลากพระ มีการดำเนินการโดยจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อกำหนดรูปแบบของการจัดงาน มีกฎและกติกาการให้คะแนนของเรือพระ การนิมนต์พระสงฆ์เข้ามารับทราบรูปแบบและกติกาของการเข้าร่วมการประกวดเรือพระ ในการเข้าร่วมประกวดเรือพระ พระสงฆ์ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดงานลากพระ เพราะอยากให้สืบสานวัฒนธรรมประเพณีของจังหวัดที่มีมาอย่างยาวนาน และ 2.มีผู้ประมูลมาจัดสรรพื้นที่ขายสินค้า ไม่มีที่มาว่าผู้ประมูลเหล่านี้มาอย่างไร แต่ทุกครั้งการจัดงานประจำปีก็จะพบว่า มีผู้ประมูลมาจัดสรรพื้นที่สาธารณะเป็นโซนเพื่อให้ผู้ขายสินค้าเข้ามาเช่าพื้นที่ขายสินค้า อีกทั้งมีกองคาราวานสินค้ามาพร้อมกับผู้ประมูลด้วย วิธีการที่ผู้ขายสินค้าจะได้พื้นที่คือต้องเข้ามาติดต่อกับชื่อบุคคลที่ประกาศในป้ายโฆษณา หลังจากนั้นก็จะมีผู้ประมูลมาจัดพื้นที่ให้อยู่ในพื้นที่ที่กำหนดและผู้ขายสินค้ายอมรับในราคาที่ตกลงกัน การเก็บค่าเช่าก็จะเป็นรายวันหรือเหมาจ่าย ในการเก็บราคาค่าเช่าพื้นที่จะมีราคาไม่เท่ากัน

.

“งานลากพระ เกิดจากความศรัทธาของวัดและประชาชนที่ต้องการสืบสานประเพณี วัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีมาอย่างยาวนาน และมีความประสงค์เข้าร่วมงาน เพื่อแสดงออกถึงความงดงามของวัฒนธรรม การดำเนินการจัดงานก็จะมีหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เป็นที่รับรู้กันทั้งจังหวัด แต่เมื่อมีผู้ประมูลงาน หรือผู้เข้ามารับเหมางาน ที่ปรากฎชื่อบุคคลในป้ายโฆษณางาน เพื่อเข้ามารับเหมาการจัดงานทั้งหมด และจัดสรรพื้นที่ เพื่อให้ผู้ขายสินค้าได้เข้ามาเพื่อขายสินค้าในพื้นที่ โดยต้องจ่ายเงินเป็นรายวันหรือเหมาจ่ายในราคาที่ต่างกัน กลุ่มอิทธิพลจะเข้ามาดำเนินการ ทั้งจัดสรรพื้นที่ เรียกเก็บเงินค่าเช่า และคิดค่าเช่าพื้นที่ในราคาสูง ผู้ขายสินค้าส่วนใหญ่ยินยอมเพื่อให้สามารถขายสินค้าได้และมีรายได้เพิ่มขึ้นเนื่องจากงานลากพระจะมีประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่มาทำบุญตามแรงศรัทธาของวัดที่เข้าร่วม และหลังจากทำบุญเสร็จก็จะมาซื้อสินค้าในพื้นที่ขายสินค้า จากการสัมภาษณ์จะพบข้อมูลในส่วนของการกล่าวอ้างว่า ผู้ประมูลจะมีเงินจำนวนหนึ่งเพื่อให้แก่ผู้มีอำนาจในการเป็นผู้ได้รับเหมาการจัดงาน ในจำนวนเงินที่มีการมอบให้นั้นไม่สามารถระบุจำนวนเงินที่ชัดเจน”รายงานวิจัยระบุ

 

รายงานวิจัยยังระบุอีกว่า ในการจัดงานประจำปีของหน่วยงานรัฐ งานลากพระ พบว่า วิธีการและขั้นตอนพฤติการการส่อทุจริตของการจัดงานจะแบ่งงานออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.พื้นที่เฉพาะในส่วนของการจัดงานเรือพระ ซึ่งจะอยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดงานและจัดสรรพื้นทีให้วัดของแต่ละจังหวัด เข้ามาจอดเรือพระเพื่อให้ประชาชนได้ชื่นชมความงดงามและร่วมทำบุญกับวัดที่เข้าร่วมงาน วัดของแต่ละจังหวัดเข้ามาร่วมกิจกรรมโดยการตกแต่งเรือพระ ให้มีความสวยงามและถูกต้องตามเกณฑ์การประกวด และเรือพระที่ชนะการประกวดจะได้รับรางวัล แม้ว่ารางวัลจะไม่ได้มีมูลค่าสูง เมื่อเทียบกับการลงทุนและลงแรงของพระสงฆ์และชุมชนที่ร่วมการตกแต่งเรือพระด้วยจิตศรัทธา เพื่อสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีที่มีมาอย่างยาวนานดั้งเดิม การจัดงานลากพระ ส่วนนี้ไม่พบการทุจริต

 

และ 2.พื้นที่ของผู้ขายสินค้า ซึ่งมาจากการที่ผู้ประมูลได้รับมาจากผู้จัดงานจัดสรรพื้นที่เพื่อให้ผู้ขายสินค้าเช่าขายสินค้า และนำการแสดงดนตรีที่มีชื่อเสียงมาจัดในงาน ขึ้นอยู่กับการตกลงของผู้จ้างงาน ไม่มีหลักฐานที่มาของการติดต่อกันระหว่างผู้จัดงานและผู้ประมูลงาน อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการตกลงทำสัญญาของการใช้พื้นที่ แต่การรับประโยชน์จากผู้ประมูลมีส่วนของการเก็บค่าเช่าพื้นที่ การเก็บค่าที่จอดรถ ในราคาที่สูง และจำนวนเงินที่ได้รับไม่สามารถระบุจำนวนเงินที่ชัดเจนได้ การกระทำในรูปแบบนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่เอื้อต่อการจะปกปิดการกระทำการทุจริต เป็นโอกาสที่จะแปลงสภาพของทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริต เป็นโอกาสในการกระทำผิดที่เกิดจากจุดอ่อนของระบบการควบคุมภายในองค์กร หรือระบบการตรวจสอบป้องกันการทุจริตที่ไม่สามารถตอบสนองได้อย่างทันทีทันใด รวมทั้งมีแรงจูงใจจากจำนวนเงินที่ได้รับและความชื่นชมศรัทธาของประชาชนที่เข้าร่วมงานลากพระ

 

สรุปผลจากการสัมภาษณ์งานลากพระ ตามหลักธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม การจัดงานประจำปีของรัฐ งานลากพระ ไม่มีการแสดงถึงการดำเนินการที่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม ในส่วนของผู้รับเหมาที่เข้ามาจัดสรรพื้นที่ ขาดวิธีการที่มีการปฏิบัติตามระเบียบ โดยมีการดำเนินการที่ถูกต้องในส่วนของการจัดงานที่หน่วยงานภาครัฐเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับในส่วนของผู้รับเหมา อาศัยตามระเบียบกระทรวงว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในทรัพย์สินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2543 ข้อ 6 การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ดำเนินการโดยวิธีการประมูล ซึ่งไม่มีการดำเนินการในส่วนนี้ และอาจนำไปสู่การทุจริตได้

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน