X

“กาแฟรัษฎา” กาแฟชุมชนสู่ตลาดต่างประเทศ ผลผลิตจากวิสาหกิจฯเล็ก ๆ ที่ไม่หยุดพัฒนา

ตรัง – ต่อยอดผลักดันกาแฟชุมชนและชาดอกกาแฟสู่องค์กรขนาดใหญ่ ตลาดออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ ยอดขายพุ่งเดือนละกว่า 50,000 บาท ยกระดับฝีมือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของชาวบ้าน  ไม่ต้องมีทุนมาก แต่สามารถพัฒนาฝีมือการค้าได้ โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องช่วยผลักดัน ส่งเสริมและสนับสนุน

ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฎา และแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร หมู่ 8 บ้านหนองครก ต.หนองปรือ อ.รัษฎา จ.ตรัง นำโดย นางกนกวรรณ คำเนตร และครอบครัว ซึ่งเดิมประกอบอาชีพทำสวนยางพารา และสวนปาล์มน้ำมัน บนเนื้อที่ 8 ไร่ แต่ได้ตัดสินใจโค่นยางทิ้งทั้งหมด หันมาทำการเกษตรแบบผสมผสานแทน โดยเฉพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่สำคัญคือ “กาแฟพันธุ์โรบัสต้า” ขายเมล็ดกาแฟคั่วมืออย่างเดียว  แต่ล่าสุด  ได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ จากการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ทำเป็น “ กาแฟดริปคั่วบด”   และ “ ชาดอกกาแฟ”  ซึ่งเป็นชาประเภทดอกไม้  และส่งขายรุกตลาดเข้าสู่องค์กรขนาดใหญ่ในประเทศ ที่มีพนักงานจำนวนมาก รวมทั้งเข้าสู่ตลาดออนไลน์ร้านสะดวกซื้อ ตอบสนองการค้ายุคใหม่ เพียงแค่ใช้มือกดสั่งซื้อทางมือถือ  และรุกตลาดต่างประเทศ โดยมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ช่วยผลักดัน ส่งเสริมและสนับสนุน  ยกระดับฝีมือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของชาวบ้าน  ไม่ต้องมีทุนมาก แต่สามารถพัฒนาฝีมือการค้าได้ เพียงแต่ศึกษาความต้องการของตลาด และพัฒนาไปสู่เป้าหมาย

ทั้งนี้  นางกนกวรรณ คำเนตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฎา ฯ  นำผู้สื่อข่าวดูสภาพพื้นที่การเก็บดอกกาแฟ เพื่อนำมาทำเป็นชา ดอกกาแฟ ซึ่งจะต้องเก็บให้ได้ตามวันและเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องคอยสังเกตดอกเมื่อมีผึ้ง หรือตัวชันโรง ที่เลี้ยงเอาไว้ในสวนมาผสมเกสรในภาคเช้า ภาคบ่ายจะต้องเร่งเก็บดอกที่สลัดก้านดอก และจะต้องเป็นช่วงที่ไม่มีฝนตกล้างดอกด้วย เพราะหากมีฝนตกลงมาล้างดอกจะต้องปล่อยทิ้งทั้งหมด เนื่องจากน้ำฝนได้ชะล้างเอาความหอมหวานของดอกกาแฟออกไปแล้ว นำมาทำชาดอกกาแฟไม่ได้แล้ว  จึงจะได้ชาดอกกาแฟที่หอมกรุ่นอร่อย โดยกลิ่นหอมอ่อนๆ เหมือนดอกมะลิ

เมล็ดกาแฟ ซึ่งส่วนหนึ่งเก็บได้จากในแปลงที่มีผลผลิตตลอดทั้งปี  และรวบรวมซื้อจากสมาชิกของกลุ่ม เพื่อให้เพียงพอต่อการป้อนตลาด  นำมาเข้าตู้อบพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งมีทั้งหมด 3 ตู้ เพื่อรักษาคุณภาพทั้งของเมล็ดกาแฟ และชาดอกกาแฟให้ได้ตามที่มีการศึกษา โดยมหาวิทยาลัยที่มาช่วยถ่ายทอดองค์ความรู้ จากนั้นนำเมล็ดกาแฟไปตำด้วยครกตำข้าวตามแบบภูมิปัญญาท้องถิ่น และนำไปคั่วมือในกระทะ ให้ได้ความเข้มข้นของกาแฟตามสูตร ทั้งสูตรอ่อน ปานกลาง และกาแฟเข้มข้น จากนั้นชั่งน้ำหนักบรรจุไว้ในซอง เมื่อลูกค้าสั่งซื้อก็นำมาบดใหม่ๆและบรรจุใส่ซองส่งให้ลูกค้า ลูกค้าก็จะต้องเอาไปดริปด้วยตนเอง จะได้กาแฟที่ใหม่ หอมกรุ่น   แตกต่างจากการบดทิ้งไว้

นางกนกวรรณ คำเนตร ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกาแฟรัษฎา ฯ  กล่าวว่า  การยกระดับทำกาแฟดริปคั่วบด และชาดอกกาแฟ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ สบู่กาแฟ ได้รับใบรับรองเมดอินไทยแลนด์ จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ทั้งนี้ นับจากวิกฤตโควิด19  ทางกลุ่มได้พลิกวิกฤตเป็นโอกาส   ด้วยการเข้าร่วมอบรมกับโครงการภาครัฐ และ เอกชน เพื่อรับการถ่ายทอดความรู้ การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ การตลาด เพิ่มช่องทางขายออนไลน์ เพื่อจะได้กระจายสินค้าออกไปกว้างขึ้น โดยทุกผลิตภัณฑ์ทั้งกาแฟดริปคั่วบด  ชาดอกกาแฟ  และ สบู่ จะขายในตลาดออนไลน์ เช่น เว็บไซส์ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร , Shopee , Lazada , แอพพลิเคชั่นซีเว่นอีเลฟเว่น  นอกจากนี้ได้เข้าร่วมโครงการกับบริษัท SCG  และร่วมโครงการกับปตท. “โครงการชุมชนยิ้มได้”  เมื่อปีพ.ศ.2563 ซึ่งเป็นการสนับสนุนและหาช่องทางการตลาดให้กว้างขึ้นในองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีพนักงานทั่วประเทศจำนวนมาก และการส่งออกไปขายต่างประเทศ โดยการสนับสนุนจากกรมการค้าระหว่างประเทศ  ได้เข้าไปทำตลาดที่ประเทศดูไบ  เซี่ยงไฮ้   เนเธอร์แลนด์ และเตรียมไปทดลองตลาดที่ประเทศมาเลเซีย  โดยกาแฟดริปคั่วบดจะมีทั้งหมด 3 ระดับ  ได้แก่ กาแฟดริปคั่วบด ระดับคั่วอ่อน (LIGHT), กาแฟดริปคั่วบด ระดับคั่วกลาง (MEDIUM)  และกาแฟดริปคั่วบด ระดับ คั่วเข้ม ( DARK) ราคาขายปลีกถุงละ 120 บาท ราคาขายส่งถุงละ 100 บาท  ต่อซองบรรจุ 250 กรัม   ส่วนชาดอกกาแฟที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ไม่มีคาเฟอีน เป็นชาดอกไม้ โดยดอกกาแฟต่อต้นจะได้ประมาณ 2-3 กิโลกรัมต่อปี และเมื่อนำไปตากแห้งแล้วจะเหลือเพียงแค่ประมาณ 10% เท่านั้น ส่งขายในราคากิโลกรัมละ 7,000 บาท  ส่วนราคาขายปลีกกล่องละ 120 บาท ราคาส่งกล่องละ 100 บาท  สามารถนำไปใส่ถ้วยชงดื่ม เพื่อสุขภาพไม่ต้องเติมน้ำตาลแต่อย่างใด   และสบู่กาแฟ  ราคาขาย 3 ก้อน 100 บาท โดยยอดขายก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากในปี 2563 ยอดขายอยู่ที่ 15,000 – 25,000 บาทต่อเดือน  ในปี 2564 ยอดขายพุ่งสูงขึ้นเป็น 50,000 บาทต่อเดือน ทั้งนี้ การดำเนินการของกลุ่มจะเป็นลักษณะการรวบรวมผลผลิตจากสมาชิกผู้ปลูกกาแฟในจังหวัดตรัง โดยกลุ่มจะเข้าไปตรวจแปลงปลูกของสมาชิกทุกแปลงโดยนักวิชาการ กรมส่งเสริมการเกษตร จะต้องเป็นแปลงที่ตรงมาตรฐานเกษตรปลอดภัย  โดยทางกลุ่มจะรวบรวมผลผลิตมาแปรรูป ซึ่งกลุ่มจะดูแลตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ  และได้รับการรับรองสินค้าเกษตร GMP   ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามได้ทางเฟซบุ๊ก “Ratsada Coffee” หรือโทร.093 – 7574031

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน