X

ตรัง “ดร.สุเมศ” ควง “กลุ่มเซ็นทรัล” เยี่ยมชมผ้าทอนาหมื่นศรี ระบุ กรมสมเด็จพระเทพฯ ทรงชมทอผ้าสวย

ตรัง ดร.สุเมศ  กลุ่มเซ็นทรัล คณะจากมูลนิธิชัยพัฒนา  YECTRANG  เยี่ยมชมผ้าทอนาหมื่นศรี  ดร.สุเมศ ลงนามในสมุดเยี่ยมชมตอนหนึ่ง ว่า “ได้มาเยี่ยมกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี ก็สมที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่งว่า “เขาทอผ้าสวยดี” 

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2565 ที่วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี ต.นาหมื่นศรี อ.นาโยง จ.ตรัง คณะจากมูลนิธิชัยพัฒนา กลุ่มเซ็นทรัล และ YECTRANG เดินทางเยี่ยมชม ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เพื่อแลกเปลี่ยนให้คำแนะนำต่อยอดพัฒนาการทอผ้า การออกแบบแปรรูป และร่วมรับประทานอาหารกลางวันเมนูพื้นบ้านนาหมื่นศรีในแบบปิ่นโต ที่ทุ่งทอรัก หรือ ศูนย์การเรียนรู้เชิงเกษตรหัตถกรรมผ้าทอนาหมื่นศรี นำโดย ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิชัยพัฒนา คุณภากมล รัตตเสรี กรรมการและรองเหรัญญิกมูลนิธิฯ คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร กลุ่มเซ็นทรัล พร้อมคณะผู้บริหาร คุณสุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ โรงแรมและรีสอร์ทในเครือเซ็นทารา และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักนโยบายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ กลุ่มเซ็นทรัล คุณอุษา ผูกพันธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ คุณอัจฉรา วิสุทธิวงศ์รัตน์ ผช.กก.ผจก.ใหญ่ รวมทั้ง อาจารย์จารุพัชร อาชวะสมิต จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และ คุณศิริพจน์ กลับขันธ์ ประธาน YECTRANG โดยมีนางสาวอารอบ เรืองสังข์ ประธานวิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี และสมาชิกให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ สำหรับศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 อาคารของกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรีเดิมเก่าชำรุด กลุ่มเซ็นทรัล โดยโครงการเซ็นทรัลทำ (Central Tham) อาสาปรับปรุงอาคารพิพิธภัณฑ์และร้านผลิตภัณฑ์ชุมชน พร้อมจัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมา และรวบรวมลายทอผ้านาหมื่นศรีที่มีอายุมากกว่า 200 ปีที่ได้สูญหายไปกลับมาได้สำเร็จ และร่วมกันพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็น ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี เพื่อหวังสืบทอดภูมิปัญญาและชวนคนไทยมาเห็นคุณค่าของผ้าทอเมืองตรัง ร่วมพัฒนาเยาวชนในพื้นที่ให้รักในมรดกภูมิปัญญาผ่านโครงการมัคคุเทศก์น้อย

ปัจจุบัน ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี แบ่งพื้นที่การใช้งานออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกเป็นโรงเรือนทอผ้าอยู่ด้านหน้าคอยต้อนรับแขก ถัดไปเป็นร้านค้าผลิตภัณฑ์ผ้าทอ และส่วนสำคัญคือด้านบนโรงเรือนทอผ้า เป็นมิวเซียมผ้าทอนาหมื่นศรีขนาดกะทัดรัดเก๋ไก๋ทันสมัย ด้านในแบ่งเป็น 2 ห้อง ห้องแรกทาสีขาวเพื่อฉายสไลด์ข้อมูลคล้ายกับเดินอยู่มิวเซียมทันสมัยเหมาะกับการถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ก่อนเดินทะลุเข้าไปทำความรู้จักโลกของผ้าทอตรัง

ด้านดร.สุเมศ ลงนามในสมุดเยี่ยมชมตอนหนึ่ง ว่า “ได้มาเยี่ยมกลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี ก็สมที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับสั่งว่า “เขาทอผ้าสวยดี” และได้รับการสนับสนุนจาก เซ็นทรัลกรุ๊ป ทำให้การผลิตมีคุณภาพ ทั้งสีสันและลายโบราณ ทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีค่า ก็ขออวยพรให้กิจการเจริญก้าวหน้า และขอขอบคุณเซ็นทรัลกรุ๊ป ที่ให้การสนับสนุน ขอให้มีความสุขความเจริญ มีพลังจากความสามัคคี เอาชนะทุกสิ่งทุกประการไปสู่ความสำเร็จได้”

ทั้งนี้ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ผ้ายกเป็นที่นิยมในราชสำนักและแวดวงสังคมชั้นสูง จากเอกสารจดหมายเหตุ พระราชกิจรายวันวันที่ 29 มิถุนายน 2458 กล่าวถึงในสมัยที่รัชกาล ที่ 6 เสด็จจังหวัดตรัง ว่า “สมุหเทศาภิบาลมณฑลได้ทรงจัดผ้าพรรณทุกอย่างซึ่งเป็นของทำในพื้นบ้าน เช่น ผ้ายก ผ้าราชวัตร ผ้าตาสมุก ผ้าคาด ผ้าเช็ดหน้า ถวายประทานแจกแก่ข้าราชการตามสมควร” และได้ปรากฎหลักฐานจากจดหมายเหตุว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128 ได้ทอดพระเนตรผ้าทอที่เมืองตรัง ข้อความตอนหนึ่งว่า “ใต้ถุนเรือนใช้เป็นที่หัดทอผ้ามีผู้หญิงมาหัดทอมาก” ย่อมแสดงว่าผ้าทอเมืองตรังมีมาก รวมทั้งในชุมชนนาหมื่นศรีด้วย

“สมุหเทศาภิบาลมณฑล ได้ทรงจัดผ้าพรรณทุกอย่างซึ่งเป็นของทำในพื้นบ้าน เช่น ผ้ายก ผ้าราชวัตร ผ้าตาสมุก ผ้าคาด ผ้าเช็ดหน้า ถวายประทานแจกแก่ข้าราชการตามสมควร” และได้ปรากฎหลักฐานจากจดหมายเหตุว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ประพาสหัวเมืองปักษ์ใต้ ร.ศ.128 ได้ทอดพระเนตรผ้าทอที่เมืองตรัง ข้อความตอนหนึ่งว่า “ใต้ถุนเรือนใช้เป็นที่หัดทอผ้ามีผู้หญิงมาหัดทอมาก” ย่อมแสดงว่าผ้าทอเมืองตรังมีมาก รวมทั้งในชุมชนนาหมื่นศรีด้วย

จากคำบอกเล่าของคนเฒ่า คนแก่แห่งบ้านนาหมื่นศรี ทำให้รู้ว่าการทอผ้าได้ขาดหายไปช่วงหนึ่งในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สองเพราะขาดเส้นด้ายที่จะใช้ทำวัตถุดิบ รวมทั้งการทอผ้าประจำบ้านที่ใช้วัสดุธรรมชาติปั่นฝ้ายย้อมสีเองก็ลดลง เนื่องจากการมีเส้นใยย้อมสีสำเร็จรูปเข้ามาแทนที่ หรือการมีผ้าจากโรงงานและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่สามารถซื้อได้ง่ายกว่าการลงมือทอเอง การทอผ้านาหมื่นศรีฟื้นคืนมาอีกครั้งเมื่อราว พ.ศ.2514 โดยยายนาง ช่วยรอด คนดั้งเดิมของหมู่บ้านรวบรวมคนทอผ้าอายุรุ่นเดียวกัน ได้ 3 คน คือ ยายผอม ขุนทอง ยายอิน เชยชื่นจิตร และยายเฉิ่ม ชูบัว ช่วยกันซ่อมแซม กี่ กับเครื่องมือเก่าๆ ให้ใช้การได้แล้วลงมือทอผ้าด้วยความตั้งใจว่าจะให้ลูกหลานได้รู้จักผ้าทอและวิธีทอผ้าแบบดั้งเดิม ต่อมา นางกุศล นิลลออ บุตรสาวของยายนาง เป็นผู้รับช่วงกิจกรรมงานทอผ้า จากนั้นหน่วยงานราชการได้ให้ความสนใจและเข้ามาส่งเสริมต่อมา

ผ้าทอนาหมื่นศรี แบ่งตามลักษณะโครงสร้างของผืนผ้า ได้ 3 ชนิด ได้แก่ ผ้าพื้น ผ้าตา และ ผ้ายกดอก ซึ่งแต่ละชนิดแบ่งย่อยเป็นชื่อลายต่างๆได้อีกหลายลาย 1.ผ้าพื้น เป็นผ้าที่ใช้ด้ายยืนสีเดียว มีผ้าพื้นธรรมดา แบ่งเป็นผ้าพื้นสีเรียบและผ้าพื้นสีเหลือบ ผ้าหางกระรอก และผ้าล่อง หรือผ้าริ้ว มีลายต่างๆ ได้แก่ ลายหัวพลู ลายดอกเข็ม ลายดอกข่อย 2.ผ้าตา เป็นผ้าที่ใช้ด้ายยืนสลับกันตั้งแต่สองสีขึ้นไป ลายตาสมุก ลายลูกโซ่ตาราง ลายตานก และ ลายดอกมุด 3.ผ้ายกดอก เป็นผ้าที่ใช้ด้ายพุ่ง 2 ชนิด เกิดจากการทอด้วยวิธียกดอก หรือการสร้างลวดลาย โดยการเพิ่มด้ายพุ่ง มักใช้ลวดลายดั้งเดิมที่มีความซับซ้อน ใช้จำนวนตะกอ (เขา) มาก ในอดีตมีการทอผ้าเป็นคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งมีจำนวนตะกอนับร้อย ลวดลายเฉพาะของผ้ายกนาหมื่นศรี ได้แก่ ลายลูกแก้ว ลายแก้วชิงดวง ลายลูกแก้วโข่ง ลายลูกแก้วสี่หน่วยใน ลายราชวัตร ลายดอกจัน ลายเกสร ลายดอกกก ลายดอกพิกุล ปัจจุบันมีลวดลายที่นิยมทอเพิ่มอีกกว่า 30 ลาย เช่น ลายพิกุลแก้ว ลายดาวล้อมเดือน ลายลูกแก้วลูกศร ลายขนมเปียกปูน ลายลูกหวาย ลายจัตุรัส ลายดาวล้อมเดือน ลายช่อมาลัย ลายช่อลอกอ ลายดอกมะพร้าว ลายดอกเทืยน ลายท้ายมังคุด ลายเม็ดแตง ลายข้าวหลามตัด ลายราชวัตรห้อง ลายทีนัด ลายครุฑ ลายนกเหวก(นกการะเวก) ลายตุ๊กตาถือดอกบัว ลายกินรี ลายตัวหนังสือ และลายประสม เป็นต้น

ลักษณะพิเศษ ของผ้าทอนาหมื่นศรี ได้แก่ โครงสร้างของผืนผ้า ลวดลายและสี ผู้ทอที่มีฝีมือจะนำลายหลายๆลายมารวมไว้ เช่น ลายลูกแก้วใหญ่ ลายลูกแก้วสี่หน่วยใน ลายดอกจัน บางผืนประสมเฉพาะชุดลูกแก้ว เป็นต้น ส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ด้านสี ถ้าเป็นประเภทผ้าห่ม และผ้าเช็ดหน้ายกดอก ที่ทอขึ้นใช้เองหรือให้แก่กัน จะใช้ด้ายยืนสีแดง ยกดอกสีเหลือง มีบ้างที่ยกดอกสีขาวหรือสีเขียว หากเป็นผ้าทอเพื่อขาย พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงสีด้ายยืน และด้ายพุ่งตามความต้องการตลาด และในกรณีทอใช้เอง ยังคงเป็นสีแดงเหลืองไม่เปลี่ยนแปลง


….

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน