X

ตรัง เกษตรกรยืนยันโรคระบาดหมูทำหมูตายยกคอก-ปศุสัตว์ยังยืนกรานไม่มีโรคระบาดหมูในตรังนานแล้ว

ตรัง – ศูนย์ดำรงธรรมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีหมูตายจำนวนมาก หลังผู้สื่อข่าวนำเสนอข่าวว่าฟาร์มเลี้ยงหมูของเกษตรกรจำนวนมากร้าง ว่างเปล่า  เนื่องจากเมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา หมูที่เกษตรกรเลี้ยงไว้ในฟาร์มเกิดโรคระบาดล้มตายเป็นเบือ จนต้องขุดหลุมฝัง และมีบางส่วยเกษตรกรเร่งระบายขายด้านปศุสัตว์ตรังยังยืนยันว่าจังหวัดตรังไม่เคยเกิดโรคระบาดในหมูมานาน

จากกรณีที่ผู้สื่อข่าวได้นำเสนอข่าว หมูทั่วประเทศราคาแพงพุ่งสูงขึ้นรายวัน ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จนมีการนำเสนอข่าวตรวจสอบตามมา จนกระทั่งทราบว่าประเทศไทยขาดแคลนหมู  โดยพบว่าเกิดโรคระบาดในหมูทำให้หมูล้มตายลงเป็นจำนวนมากในห้วงระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา  โดยที่กรมปศุสัตว์ปิดข่าวเงียบ ไม่มีการแจ้งเตือนเกษตรกร เช่นเดียวกับจังหวัดตรัง ผู้สื่อข่าวลงตรวจสอบพื้นที่พบว่า ฟาร์มเลี้ยงหมูหลายแห่งในจ.ตรัง  โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.รัษฎา และอ.ห้วยยอด ถูกปล่อยทิ้งร้างว่างเปล่า  และพบว่าสาเหตุเกิดจากหมูในฟาร์มล้มตายลงด้วยโรคระบาด เมื่อประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมา  โดยมีภาพถ่ายปรากฎเป็นหลักฐาน และมีร่องรอยการฝังกลบที่ยังใหม่ประมาณ 3-4 เดือนในสวนปาล์มน้ำมัน และบางส่วนยังทยอยตายเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และบางส่วนพบว่าเกษตรกรเร่งระบายส่งขาย   ทำให้ข่าวดังกล่าวสร้างความไม่พอใจให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  โดยปศุสัตว์จังหวัดตรังออกมายืนยันว่า จังหวัดตรังไม่เคยเกิดโรคระบาดมาเป็นเวลานานแล้ว รวมทั้งระยะเวลาก่อนสิ้นปี  และหมูในจังหวัดตรังมีเพียงพอไม่ต้องนำเข้า จะมีบ้างเฉพาะหมูสำหรับทำหมูย่างเท่านั้นที่ต้องใช้หมูเฉพาะ เดือนละประมาณ 200 ตัว  แต่ที่หมูแพงเพราะมีข่าวหมูแพงจึงมีการขึ้นราคาตามกัน และหมูส่วนหนึ่งของจ.ตรังไหลไปจังหวัดอื่น

ล่าสุดนายภานุวัฒน์ พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง ได้รับมอบหมายจากนายขจรศักดิ์ เจริญโสภา ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด โดยมีนายพรชัย สุวรรณอัมพร นายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง อ.ห้วยยอด จ.ตรัง และนางพรพรรณ แก้วทอง อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้าน ม.3  ต.ห้วยนาง พาเข้าพื้นที่ตรวจสอบทั้งหมด 4 ฟาร์ม โดยส่วนใหญ่ได้พบกับเกษตรกรเจ้าของฟาร์ม และบางฟาร์มไม่พบ ซึ่งทั้ง 4 ฟาร์ม ประกอบด้วย ฟาร์มของเกษตรกรรายย่อยเลี้ยงด้วยทุนเอง  และฟาร์มใหญ่เลี้ยงขายส่งบริษัท  โดยมีฟาร์มที่พบระบาดรายแรกแจ้งการตายของหมูไปยังปศุสัตว์ ส่วนที่เหลือไม่ได้แจ้ง  ทั้งนี้ ทางเทศบาลยืนยันมีการขออนุญาตจัดตั้งฟาร์มถูกต้องทุกแห่ง

ทั้งนี้ นายภานุวัฒน์ได้มีการสอบถามข้อมูลต่างๆตามที่ได้รับข้อมูลเบื้องต้นมาจากปศุสัตว์จังหวัด  เช่น ที่มาของลูกหมูที่นำมาเลี้ยงว่าเกษตรกรแต่ละรายนำมาจากแหล่งใด มีใบอนุญาตการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือไม่  และนำลูกหมูที่มีเชื้อเข้ามาเลี้ยงจนทำให้เกิดการระบาดหรือไม่  เพราะจะมีความผิดเท่ากับลักลอบเลี้ยงมีความผิดตามกฎหมาย  และถามเหตุผลว่าบางรายทำไมจะไม่รับเงินชดเชย พร้อมให้เกษตรกรรายหนึ่ง นำไปดูร่องรอยการฝังว่าใหม่หรือเก่า  เพราะในข่าวระบุเป็นร่องรอยใหม่ ทำให้ข่าวที่ออกไปเหมือนกับกำลังระบาดทำให้จังหวัดเสียหายให้ระมัดระวังในการให้ข่าว

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวยืนยันว่าเป็นการนำเสนอข่าวที่ถูกต้อง  เพราะเป็นร่องรอยใหม่ที่เกิดขึ้นในระยะเวลาประมาณ 3-4 เดือนที่ผ่านมาก่อนสิ้นปี 2564  และเกิดโรคระบาดจริง ย้อนแย้งกับที่ทางปศุสัตว์ยืนยันว่าจังหวัดตรังไม่เคยมีโรคระบาดในหมูนานานมาก  ส่วนลูกหมูเกษตรกรบางรายระบุซื้อมาจากพื้นที่อำเภอรัษฎา พื้นที่รอยต่อ ต.ห้วยนาง ยอมรับไม่มีใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ และบางรายผลิตลูกหมูเอง  ระหว่างตรวจสอบทางศูนย์ดำรงธรรมระบุจะลงพื้นที่ตรวจสอบย้อนรอยแหล่งที่มาของลูกหมูแต่ละฟาร์มว่าเกษตรกรทำผิดหรือไม่  เพราะอาจนำหมูติดเชื้อเข้ามาเลี้ยงเอง   และบางรายที่ไม่มาพบแสดงว่าทางเจ้าของฟาร์มกระทำความผิด บางรายมีการระบายขายหมูไป เป็นการกระทำผิดกฎหมาย  ทำให้เกษตรกร และนายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง ซึ่งรับฟังตลอดการลงพื้นที่ไม่พอใจ  และยุติการนำตรวจสอบฟาร์มอื่นๆที่เหลือในต.ห้วยนาง และพื้นที่ อ.รัษฎา ในทันที

โดยเกษตรกรและนายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง และผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ต.ห้วยนาง ยืนยันว่าการเกิดโรคระบาดในหมู ในพื้นที่ต.ห้วยนาง เกิดขึ้นรายแรกในเดือนกันยายน 2564 ในฟาร์มของนายโกสิทธิ์  รอดหาญ  อายุ 54 ปี  โดยมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ให้เข้ามาตรวจสอบ โดยทางเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบ และมีการเก็บตัวอย่างเลือดไปตรวจสอบ โดยระบุเบื้องต้นกับเกษตรกรว่าหมูเป็นโรคระบาด สั่งให้เร่งฝังทำลายหมูทั้งหมดในทันที พร้อมมายืนกำกับควบคุมการฝัง รวมประมาณ 100 ตัว ทั้งแม่พันธุ์และสุกรขุน แต่จนถึงขณะนี้ทางปศุสัตว์ยังไม่ได้แจ้งผลว่าหมูเกิดโรคระบาดอะไร และหลังจากนั้นทางปศุสัตว์ก็ไม่ได้ดำเนินการใดๆ  เช่น ไม่มีการออกคำสั่งประกาศเขตภัยพิบัติโรคระบาดในหมู ไม่มีคำสั่งประกาศควบคุมพื้นที่ ห้ามไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์  ไม่มีการออกประกาศแจ้งเตือนเกษตรกรรายอื่นๆให้ป้องกัน  จนทำให้โรคระบาดลามไปทั้งหมด 13 ฟาร์มของ ต.ห้วยนาง อ.ห้วยยอด หมูตายไปประมาณ 3,500 ตัว โดยเฉพาะในพื้นที่ต.ห้วยนาง พบหมู 3 ตัวสุดท้ายตายและถูกฝังลง เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา  และในห้วงระยะเวลาประมาณเดือนกันยายน – ธันวาคม เชื้อลุกลามไปติดฟาร์มหมูในพื้นที่อ.รัษฎาอีกหลายฟาร์ม รวมทั้งหมูพื้นบ้านที่เกษตรกรเลี้ยงปล่อยทุ่งในพื้นที่ ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด อีกจำนวนมาก ขณะเดียวกันมีเกษตรกรบางราย เก็บตัวอย่างเลือดหมูส่งไปตรวจพิสูจน์หาสายพันธุ์ของเชื้อที่ห้องแล็ปเอกชนแห่งหนึ่งที่กรุงเทพฯ ผลปรากฏว่าโรคระบาดในหมูของฟาร์มแห่งหนึ่งในพื้นที่ ต.ห้วยนาง ติดเชื้อ ASF  และเชื่อว่าฟาร์มอื่นๆ ก็คงเป็นโรคชนิดเดียวกัน

ขณะที่ปศุสัตว์ยืนยันไม่มีโรคระบาดเกิดขึ้นในจังหวัดตรังมานานมาก แม้กระทั่งก่อนสิ้นปี 2564 ก็ตาม  โดยทางนายกเทศมนตรีตำบลห้วยนาง  เรียกร้องผ่านทางผอ.ศูนย์ดำรงธรรม และตั้งคำถาม รวม 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1.ขอให้เปิดเผยผลตรวจเลือดหมูที่เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์เข้าไปเก็บตัวอย่างส่งตรวจว่าเป็นโรคระบาดอะไร เพื่อตนจะได้แจ้งชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป  เพราะที่เกษตรกรเก็บตัวอย่างเลือดส่งตรวจเองพบเป็นเชื้อ ASF 2.การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ว่าเข้าข่ายละเว้นหรือไม่ ในการกำกับ ป้องกัน และควบคุมโรค เพราะหลังรับแจ้งการเกิดโรคระบาดในฟาร์มแรก เข้ามาตรวจสอบ แต่กลับเงียบไม่ดำเนินการใดๆ จนโรคระบาดลุกลามไปสู่ฟาร์มอื่นๆ และ 3.ปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายสัตว์จากพื้นที่ระบาดไปสู่จังหวัดนครปฐมใครเป็นคนออกใบอนุญาตเคลื่อนย้าย และไม่มีการควบคุมพื้นที่ตั้งแต่ต้น และ 4.ขอให้เร่งเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และหากทางจังหวัดมุ่งแต่จะเอาผิดเกษตรกรรายย่อย ซึ่งทั้งหมดสิ้นเนื้อประดาตัว สูญเงินไปรายละ 5 แสน ถึง 6 ล้านบาท ก็พร้อมจะเดินทางเข้าพบผู้ว่าฯ เพื่อชี้แจงเรื่องทั้งหมดด้วยตนเองต่อไป

ทางด้านนายภานุวัฒน์ พูลสวัสดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดตรัง กล่าวว่า ตนเองได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดตรังให้ลงพื้นที่มาแสวงหาข้อเท็จจริงโดยมีนายกเทศมนตรีตำบลห้วยนางและผู้ใหญ่บ้านนำลงพื้นที่ไปตรวจสอบฟาร์มต่างๆ รวมทั้งหมด 4 แห่ง ทั้งฟาร์มรายย่อยและฟาร์มขนาดใหญ่  เฉลี่ยเลี้ยงหมูฟาร์มละประมาณ 300  – 400 ตัว ฟาร์มที่ใหญ่สุดประมาณ 600  ตัว ทุกฟาร์มที่เห็นคือ ไม่มีหมูเหลืออยู่ในฟาร์มเลย สอบถามผู้ดูแลฟาร์มก็ได้รับคำตอบว่าหมูได้ล้มตายลงในห้วงระยะเวลาประมาณ 3 – 4 เดือนที่ผ่านมา ติดต่อกันมาโดยตลอด  และรุ่นสุดท้ายพบว่า ในฟาร์มของนายวุฒทยา  รัตนพันธ์ฟาร์ม ยังตายลงและเกษตรกรเพิ่งฝังดิน เมื่อ 2 -3  วันที่ผ่านมา  ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลเบื้องต้น ส่วนข้อมูลเบื้องลึกต่างๆ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรังก็จะได้ มีการสั่งการลงมาอีกครั้งหนึ่ง  แต่ในความคิดเห็นส่วนตัวทางภาคราชการ ควรจะมาดูแลในห้วงที่เกิดเหตุลักษณะนี้ ควรจะมาดูแลอย่างทั่วถึงและใส่ใจ เพื่อที่จะได้ชี้แนะ และให้คำแนะนำแก่เกษตรกรต่างๆได้ เพราะบางคนเลี้ยงด้วยต้นทุนของตัวเอง บางคนเอาที่ไปจำนองเป็นหนี้เป็นสินมีความเครียด ซึ่งตรงจุดนี้มีช่องว่างเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ดี รวมทั้งเรื่องความช่วยเหลือเรื่องเยียวยา รวมทั้งเรื่องการหยุดยั้งไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก ทุกฝ่ายควรจะมานั่งคุย และหารือร่วมกันกับภาคเกษตรกร  ทั้งฟาร์มที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่ก็ตาม ควรจะมาใส่ใจ เพราะว่าเมื่อเกิดการระบาดขึ้นสักที่ ก็จะระบาดไปยังอื่นๆได้ทั้งหมด  ส่วนตัวกลับไปจะสรุปรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดตรังให้ได้รับทราบ ส่วนหนึ่งที่รับรู้ก็คือ เกษตรกรส่วนหนึ่งกลัวความผิดไม่กล้าแสดงตัว ก็เป็นช่องว่าง แต่ถ้ายกข้อกฎหมายด้วยความใส่ใจก็จะสามารถช่วยบรรเทา เบาบางลงได้ และควรจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน ตรงจุดนี้น่าจะช่วยได้ดีที่สุด

ส่วนการตรวจสอบการทำงานของทางเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์นั้นตนเองจะนำเรียนผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ท่านก็คงจะได้พิจารณาดูว่า ควรจะดำเนินการอย่างไร  รวมทั้งการเยียวยาเกษตรกรทั้งที่ขึ้นทะเบียนถูกต้อง หรือไม่ขึ้นทะเบียน ว่าจะมีการเยียวยาอะไร หรือจะมีข้อกฏหมายหรือไม่อย่างไร

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน