X

ตรัง นวัตกรรมยางพารา กรวยจราจรยางพารา100% จากห้องทดลองสู่การใช้งานจริง

ตรัง  นวัตกรรมยางพารา เพื่อท้องถนนเจ้าแรกของโลก กรวยจราจรยางพารา โดยวิทยาลัยเทคนิคตรัง เป็นกรวยยางพารา 100% จากห้องทดลองสู่การใช้งานจริง ให้กับอปท.ตรัง ตำรวจภูธรจังหวัดตรัง และ สถาบันอาชีวะในจังหวัด

วันที่ 8 ธันวาคม 2564 ที่แผนกสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง นายปรีดี เกตุทอง ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคตรัง เป็นประธานมอบกรวยยางพารา จำนวน 750 ชิ้น ให้กับหน่วยงานราชการ เช่น การยางแห่งประเทศไทย, อบจ.ตรัง, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดตรัง, ตำรวจภูธรจังหวัดตรัง, สภ.ท่าธง จ.ยะลา และสถาบันอาชีวะในจังหวัดตรัง

สำหรับกรวยยางพารา ดังกล่าวผลิตโดยนักศึกษาและอาจารย์ สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ วิทยาลัยเทคนิคตรัง  มีลักษณะเด่น คือ ผลิตจากน้ำยางข้น 100% ยืดหยุ่นได้ดี ทนแรงกระแทก เหยียบไม่แตก คงรูป ไม่บุบ ไม่ยุบ และไม่ลามไฟ เป็น “นวัตกรรมใหม่ของโลก กรวยจราจรยางพารา” จากแนวคิดของอาจารย์สุรศักดิ์ เทพทอง หัวหน้าแผนกสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์  คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาลัยเทคนิคตรัง ที่ใช้เวลากว่า 3 ปี สร้างนวัตกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อกระตุ้นราคายางพาราและยกระดับนวัตกรรมยางพาราให้เท่าเทียมกับประเทศผู้ผลิตยางพารารายต่าง ๆ วันนี้พร้อมแล้วที่จะส่งมอบให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ได้นำไปใช้บนถนนทุกเส้นของเมืองไทย ถือเป็นความสำเร็จจากความร่วมมือของภาคเกษตรกร การศึกษา และหน่วยงานภาครัฐ ที่ได้นำเอาผลผลิตยางพารา ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ สู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราไปสู่การใช้งานจริงในเชิงพาณิชย์ นอกจากนี้จังหวัดตรังยังเป็นจุดกำเนิดยางพาราต้นแรกของประเทศไทยอีกด้วย

วิทยาลัยเทคนิคตรัง เป็นสถาบันการศึกษาซึ่งมีองค์ความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางโดยเฉพาะ ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในโครงการส่งเสริมการแปรรูปยางพาราเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ เพื่อส่งเสริมให้สถาบันเกษตรกรในการแปรรูปยางพาราเพิ่มมูลค่า โดยมุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ สร้างแรงจูงใจให้สถาบันเกษตรกรแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อจำหน่าย  เป็นการสร้างเสถียรภาพราคายางเนื่องจากการเก็บยางพาราในรูปแบบผลิตภัณฑ์  มีระยะเวลาในการจัดเก็บที่นานกว่า  รวมทั้งเป็นการบูรณาการระหว่างสถาบันการศึกษาในพื้นที่ ที่มีองค์ความรู้ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา  ประชาสัมพันธ์บทบาทและหน้าที่ของการยางแห่งประเทศไทย ด้านการส่งเสริมการใช้ยางในรูปแบบต่าง ๆ

นายปรีดี เกตุทอง ผอ.วิทยาลัยเทคนิคตรัง กล่าวว่า สาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ถือเป็นสาขาที่มีความสำคัญต่อการประกอบอาชีพยางพารา เนื่องจากเป็นแหล่งเรียนรู้การต่อยอด ส่งเสริม ให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากยางพารา และที่ผ่านมาทางภาควิชาฯ ได้เป็นแหล่งฝึกอบรมการทำผลิตภัณฑ์ เช่น หมอนยางพารา เสาหลักนำทาง ให้กับสถาบันเกตรกร และผู้สนใจ แต่สิ่งที่วิทยาลัยเทคนิคตรัง และภาควิชาสาขาวิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ ประสบ คือ ภาควิชาฯ ดังกล่าวไม่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เหมือนภาควิชาอื่น ๆ จึงทำให้มีนักเรียนมาสมัครเรียนน้อย ดังนั้นการทำผลิตภัณฑ์และการได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ ให้หน่วยงานภายนอกได้ใช้งาน ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ช่องทางหนึ่ง  โดยหลังจากนี้จะสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนเข้าเรียนในภาควิชาเทคโนโลยียางและพอลิเมอร์ เช่น การจัดหาทุนการศึกษา เป็นต้น

นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกอบจ.ตรัง กล่าวว่า จังหวัดตรังมีพื้นที่ปลูกยางพาราเป็นอันดับต้นๆของประเทศไทย จังหวัดตรังเองได้มีจัดงานยางพาราซึ่งเป็นไฮไลท์ ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปี จังหวัดตรังมีต้นยางพาราต้นแรก และในสมัยที่นายกิจ หลีกภัย เป็นนายกอบจ.ตรัง ได้ศึกษาการนำยางพาราใช้ในกิจกรรมของอบจ.ตรัง โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง เป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทยที่นำถนนยางพารา 2 แบบ คือ ถนนแบบพาราเคปซีล และ ถนนแบบพาราแอสฟัลท์ติกคอนกรีต ซึ่งตอนนี้กรมทางหลวง  กรมทางหลวงชนบท กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ทำเทคโนโลยีนี้ไปใช้เช่นกัน  ในส่วนของกรวยพลาสติก มีราคาชิ้นละ 100 บาท ส่วนกรวยยางพารา ราคาชิ้นละ 300 กว่าบาท แต่หลังจากนี้หากมีความต้องการใช้มากขึ้น และมีการผลิตในรูปแบบของอุตสาหกรรม เชื่อว่าราคาจะปรับลดลงอีก และเมื่อเทียบกับอายุการใช้งาน และความคงทน กรวยยางพาราถือว่าสามารถใช้งานได้นานและคุ้มค่า

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน