X

ตรัง สืบสานจักสานเขาโหรงต้นคลุ้ม 100 ปี   

ตรัง – กลุ่มชาวบ้าน ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง  ร่วมกันสืบสานภูมิปัญญาชุมชน ทำผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นคลุ้มหรือต้นคล้า  ที่ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์สืบสานมายาวนานไม่ต่ำกว่า 100 ปี ทำเป็นผลิตภัณฑ์ของดีชุมชน จนได้รับใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง  สร้างงานสร้างรายได้แก่ชาวบ้านในพื้นที่

ที่บ้านเขาโหรง หมู่ 12 ต.น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง  ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดกับเทือกเขาบรรทัด ชาวบ้านนำโดย นางโสรญา  ช่วยชะนะ อายุ 49 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานเขาโหรงต้นคลุ้ม 100 ปี  นำผู้สื่อข่าวไปดูต้นคลุ้มหรือต้นคล้า ที่ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นบริเวณริมชายป่า ริมสวนยาง สวนปาล์มน้ำมัน ริมลำห้วย ลำธารต่างๆ ในชุมชน ซึ่งถือเป็นพืชท้องถิ่นที่ขึ้นอยู่ทั่วไป โดยชาวบ้านร่วมกันอนุรักษ์สืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นยาวนานนับ 100 ปี และปัจจุบันเป็นพืชโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดําริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ที่ชาวบ้านรักและหวงแหน และพึ่งพาในการดำรงชีพ โดยการนำมาทำเป็นผลิตภัณฑ์จักสานหลากหลายรูปแบบเป็นสินค้าที่ขึ้นชื่อของชุมชนแหล่งเดียว และแหล่งใหญ่ของจ.ตรังคือ  “ กลุ่มวิสาหกิจจักสานเขาโหรงต้นคลุ้ม 100 ปี”  จนได้รับใบรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง   ทั้งนี้ ตัวอย่างต้นคลุ้มที่สามารถตัดมาทำจักสานได้นั้น จะต้องแก่จัดเต็มที่ โดยที่ส่วนยอดจะต้องแตกกิ่งออกประมาณ 5-6 ยอด และเมื่อใช้มีดพร้าขูดบริเวณลำต้นต้องเป็นสีแดง ก็แสดงว่าแก่จัด สามารถตัดนำมาทำจักสานได้  โดยสมาชิกในกลุ่มที่ยึดอาชีพทำจักสานจากต้นคลุ้ม หรือต้นคล้า มีประมาณ 10 ครัวเรือน กระจายอยู่ในชุมชน แบ่งเป็น 2  ประเภท คือ 1.ประเภท ที่คงรูปแบบ เพื่อการใช้งานจริงตามวิถีชีวิตท้องถิ่นชนบทดั้งเดิม หรือเป็นของใช้ในครัวเรือนตามท้องไร่ท้องนา  เช่น ข้อง นาง กระด้ง  สุ่ม  ไซดักปลา  ตะกร้า คานหาบ ชะลอม กระเช้า รังไก่ ตะกร้าบรรจุหญ้า เป็นต้น  และ  2.ประเภท ย่อส่วนเล็กลงจากของใช้ในครัวเรือนตามวิถีชีวิตดั้งเดิม มาเป็นแบบสินค้าที่ระลึก และปรับแต่งลวดลายแปลกใหม่ เหมาะกับการเป็นของฝากของที่ระลึก และของประดับตกแต่งบ้าน ตกแต่งร้าน  รวมทั้งทำโคมไฟ ถ้วยเยติ  ตะกร้าใส่ขนม ของไหว้สำหรับขบวนแห่ขันหมาก เป็นต้น  โดยสมาชิกมีประมาณ 10 ครัวเรือนนั้น ส่วนใหญ่เป็นคุณย่า คุณตา คุณยาย  โดยแต่ละรายก็นั่งทำจักสานอยู่กับบ้าน ตามออเดอร์ของลูกค้าที่จะมีลูกหลานช่วยขายตามช่องทางต่างๆ รวมทั้ง ทำป้อนส่งให้กับกลุ่มสินค้าโอทอปของชุมชนเอง

ทั้งนี้ คุณยายสำเหม็ด  ทองแคล้ว อายุ 75 ปี อยู่บ้านเลขที่ 59 หมู่ 12 กล่าวว่า ตนเองยึดอาชีพจักสานของใช้จากต้นคลุ้มหรือต้นคล้ามายาวนานตั้งแต่อายุประมาณ 30 ปี ทำเรื่อยมา  วัสดุที่ใช้ทำจักสาน นอกจากต้นคลุ้มเป็นหลักแล้ว ยังมีไม้ไผ่ หวาย เป็นต้น  แต่ขณะนี้ไปตัดต้นคลุ้มที่ขึ้นในพื้นที่เองไม่ค่อยได้ แต่จะมีลูกหลานไปตัดมาให้ ตนเองก็มาทำเอง ถ้าเป็นหวายที่ใช้สำหรับสานยึดโยงผลิตภัณฑ์จักสานนั้น จะใช้ฝาหม้อเก่าๆ มาเจาะเป็นรู เพื่อจะเหลาเส้นหวายให้ได้ขนาดเส้นเล็ก โดยคุณยาย เล่าว่า รับทำจักสานทุกชนิดตามที่ลูกหลานสั่งมา ทั้ง ข้อง นาง กระด้ง ตะกร้า กระถางต้นไม้ที่เขานิยมนำไปใส่ต้นบอนสี  ทำทุกชนิดที่สั่งมา ส่งขายทั่วไป โดยลูกหลานช่วยขายให้ทางออนไลน์ ลูกหลานบางคนที่ไปอยู่ต่างจังหวัด ก็สั่งมา ให้จัดส่งไปให้ ทั้งนำไปใช้เอง และมีเพื่อนบ้านสั่งมาด้วยก็นำไปขาย  และทำป้อนจำหน่ายที่กลุ่มจักสานของชุมชน ทั้งนี้ จักสานแต่ละชนิดราคาจะแตกต่างไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความยากง่าย และขนาดที่สั่ง ถ้าเป็นกระถางใส่ต้นไม้  และนาง สำหรับตักปลา ทำประมาณ 2 วันเสร็จ  ราคาใบละ 200 –300 บาท ตะกร้าใบใหญ่ แต่ลวดลายด้วยหวายสวยงาม แข็งแรง  สำหรับไปวัด ทำประมาณ 3 วัน ราคาใบละ 250 บาท ทั้งนี้ ของตนเองขายไม่แพง ข้างนอกจะขายแพงกว่า  แต่อาศัยทำอยู่กับบ้าน ทำได้ทุกวัน ไม่ต้องออกไปข้างนอก แต่ละเดือนรวมทุกแบบทำได้ประมาณ 20 ใบ มีรายได้เดือนละประมาณ 5,000 – 8,000 บาท และคุณยาย ยังรับเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้งานจักสานให้กับกลุ่มอาชีพต่างๆและหน่วยงานราชการด้วย  คุณยาย บอกว่า เป็นห่วงอยู่เหมือนกัน ห่วงจะไม่มีคนสานต่อ ตนเองพยายามถ่ายทอดให้ลูกหลาน แต่ลูกหลานยังทำไม่สวย  ห่วงวันข้างหน้าอาจสูญหาย  ถ้าลูกหลานมีงานอื่นทำ อาจไม่มีคนสืบทอด  แต่ถ้าใจรักก็ไม่สูญหาย  งานนี้ทำที่บ้าน ได้อยู่บ้าน เฝ้าบ้านด้วย ทำงานได้เงินด้วย ไม่ต้องไปทำงานข้างนอก ส่วนต้นคลุ้มยังมีมากมาย ไม่หมดไปจากชุมชนแน่นอน

ส่วนที่ทำการกลุ่มจักสาน ซึ่งเปิดเป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าโอท๊อปของชุมชน นางโสรญา  ช่วยชะนะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานเขาโหรงต้นคลุ้ม 100 ปี นำชมตัวอย่างผลิตภัณฑ์จักสานจากต้นคลุ้ม 100 ปี พบว่ามีผลิตภัณฑ์หลากหลายทั้งประเภทชนิด และขนาด ไม่ต่ำกว่า 20 ชนิด ทั้งที่ใช้งานได้จริง และขนาดย่อส่วน เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่ระลึก ประดับ ตกแต่ง  โดยกล่าวว่า  ต้นคลุ้ม หรือต้นคล้า ขึ้นทั่วไปในทุกหมู่บ้านของตำบลน้ำผุด อ.เมือง เพราะสภาพพื้นที่อยู่ติดภูเขา สภาพอากาศจึงชุ่มชื้นตลอดทั้งปี เหมาะแก่การเจริญเติบโตต้นพืชคลุ้มที่มักขึ้นตามพื้นที่มีสภาพอากาศชุ่มชื้น โดยเฉพาะมีมากในพื้นที่บ้านเขาโหรงสืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่นไม่ต่ำกว่า 100 ปี  ชาวบ้านจึงยังยึดอาชีพทำหัตถกรรมจักสานจากต้นคลุ้มสืบต่อกันมา และมีมากเพียงพอที่จะนำมาทำผลิตภัณฑ์ชุมชนต่อไป เพราะมีการอนุรักษ์ จัดสรรพื้นที่ปลูกเพิ่มเติม เพราะเป็นพืชตามโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชด้วย  เดิมผลิตภัณฑ์จักสานของกลุ่ม ตนจะนำไปวางจำหน่ายตามร้านจำหน่ายสินค้าชุมชน ของที่ระลึก และร้านค้าชุมชนต่างๆทั้งใน อ.เมือง และ อ.นาโยง  จากเดิมเคยจำหน่ายเดือนละไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท แต่หลังสถานการณ์โควิดยอดขายลดลง แต่ตนหันมาจำหน่ายออนไลน์แทน ทำให้ยอดขายดีขึ้น เน้นรับสั่งทำตามออเดอร์ของลูกค้า   ทั้งนี้ ราคาขายขึ้นอยู่กับขนาด รูปแบบ  และความยากง่าย ลวดลายที่สวยงามแตกต่างกัน  มีราคาตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักพัน สูงสุดจำหน่ายตะกร้าใบละ 2,500 บาท รายได้ของสมาชิกแต่ละรายประมาณ 5,000 – 8,000 บาทต่อเดือน  และเน้นส่งเสริมนำสินค้าชุมชนให้เข้าสู่กิจกรรมต่างๆของตามประเพณีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตท้องถิ่นด้วย เช่น ทำตะกร้าขันหมาก  ชะลอมบรรจุหญ้าวัว ซึ่งขายดีมาก  ทั้งนี้ ตะกร้าขันหมาก หากจำหน่ายเป็นใบๆละ 139 – 159 บาท แต่หากสั่งทำเป็นชุดขันหมากใช้หลายใบ จำหน่ายแค่ใบละ 100 บาท เป็นต้น  นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์ชุมชนอื่นๆอีก  ซึ่งใช้วัสดุที่หาได้ในชุมชน  เช่น ไม้กวาด ผลิตภัณฑ์จากกะลามะพร้าว  ด้ามจอบ ด้ามพร้า เป็นต้น

สำหรับใครสนใจจะเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือซื้อสินค้าจักสานจากชุมชนเขาโหรง สามารถติดต่อได้ที่ เฟสบุ๊ค “ จักสานเขาโหรงต้นคลุ้ม 100 ปี”  ติดต่อ นางโสรญา  ช่วยชะนะ อายุ 49 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจักสานเขาโหรงต้นคลุ้ม 100 ปี  เบอร์โทรศัพท์ 086 – 2778275

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน