X

ตรัง ต้นจาก ทางรอดของชาวชุมชนวังวน แปรรูปสร้างรายได้เข้าชุมชนกว่าเดือนละ 6 แสนบาท

ตรัง – “ป่าจาก หรือ ต้นจาก”  มรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ทางรอดของชาว ต.วังวน อ.กันตัง ที่ใช้ทรัพยากรท้องถิ่นที่มีอย่างอุดมสมบูรณ์ทั้งในพื้นที่ และตำบลใกล้เคียงใน อ.กันตัง นำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เช่น ผลิตภัณฑ์ก้านจาก และ ใบจากตากแห้ง สร้างงาน สร้างอาชีพ ทำรายได้สะพัดเข้าชุมชนเดือนละไม่ต่ำกว่า 600,000 บาท

ต.วังวน อ.กันตัง จ.ตรัง ที่ผ่านมาโด่งดังจากวิสาหกิจชุมชนกลุ่มจักสานก้านจาก บ้านนายอดทอง ที่นำใบจาก และก้านจาก ที่ชาวบ้านลอกเอาแต่ใบส่งขายเป็นใบจาก มาทำเป็นผลิตผลิตภัณฑ์จักสานหลากหลายรูปแบบ ทั้ง ติหมา โคมไฟ ตะกร้า ฝาชี แก้วน้ำ หรือภาชนะใส่อาหาร และของใช้ต่างๆในครัวเรือน  ส่งขายไปทั่วประเทศ และต่างประเทศ จนมีชื่อเสียงโด่งดัง

แต่ในวันนี้จะพาไปดูวิถีชีวิตของชาว ต.วังวน  หาใครขับรถผ่านเข้าไปในหมู่บ้านต่างๆของต.วังวนซึ่งมีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน โดยเฉพาะหมู่ที่ 3 จะเห็นว่าหากวันไหนอากาศร้อน มีแสงแดด ไม่มีฝนตก ตลอดแนวสองข้างทางถนนตั้งแต่ภาคเช้า จนถึงช่วงบ่าย  จะเห็นภาพชาวบ้านนำใบจากที่ลอกแล้ว ออกมาตากเรียงรายตามเส้นทางความยาวของถนน และหน้าบ้านของใครของมัน  ขณะเดียวกันเมื่อเสร็จภารกิจประจำวัน โดยผู้ชายส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมงชายฝั่ง และกรีดยาง พอว่างก็ออกไปรับจ้างตัดยอดจาก หรือตัดของตนเอง นำมาให้สมาชิกในครอบครัวที่ไม่ออกไปทำงานนอกบ้าน  ทั้งผู้หญิง และคนชรา จะออกมานั่งอยู่หน้าบ้าน  มีทั้งที่ซื้อยอดจากต่อมาอีกที ในราคายอดละ 7 บาท เพื่อนำมาสับและลอกออกเป็นใบยาวๆ ตากและส่งขายเอง  กลายเป็น “ผลิตภัณฑ์ใบจากตากแห้ง”  ในการลอกจะต้องใช้นิ้วเท้าในการช่วยดึง  และบางส่วนได้รับว่าจ้างจากเจ้าของยอดจาก ให้ช่วยสับและลอกออกเป็นใบยาวๆให้ ส่วนการขาย หากนำมามัดเป็นจุก  (ชาวบ้านเรียกเป็นจุก) หรือมัดส่วนปลายเป็นมัดยาวๆ จะขายจุกละ  5 บาท แต่หากนำไปตากแห้งก่อน ก็จะขายในราคากิโลกรัมละ 80  บาท ทำให้แต่ละคนทั้งที่ซื้อยอดจากมาลอกขายเอง และรับจ้างลอก มีรายได้ต่อสัปดาห์ประมาณ 1,000 – 2,000 บาทต่อคน    แต่บางคนเป็นนายจ้างของตนเอง ทั้งไปเหมาแปลงป่าจาก  จากนั้นจ้างคนตัดยอดแล้วนำมาว่าจ้างคนในหมู่บ้านให้ช่วยสับ และลอกออกเป็นใบยาวๆ และรับซื้อคืนหลังจากตากแห้งในราคาดังกล่าว  และหาตลาดเอง ทำให้มีรายได้เป็นกอบเป็นกำ   ทำให้คนวัยทำงานและวัยชราที่ไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านมีรายได้เป็นของตนเอง

นายกฤษฎา หนูช่วย  อายุ 45  ปี ชาวบ้านหมู่ 3 ต.วังวน ซึ่งพาเราไปตัดตัวอย่างยอดจาก ของแปลงที่ชาวบ้านปลูกไว้หลังบ้านให้ดู  กล่าวว่า. ชาวบ้านบางคนจะมีแปลงป่าจากเป็นของตนเองทั้งที่ขึ้นเองตามธรรมชาติและ มีการปลูกเสริม บางคนไม่มี หรือมีไม่เพียงพอ ก็จะไปเหมาแปลงป่าจากของชาวบ้านรายอื่นๆในต่างตำบล เช่น  ต.บางหมาก  ต.นาเกลือ ต.บางเป้า ต.ย่านซื่อ ผู้ชายเสร็จงานประมงก็ออกไปตัด และรับจ้างตัด โดยป่าจากเมื่อตัดยอดแล้ว มันก็แตกยอดใหม่ใช้เวลา 4 เดือน ก็ตัดใหม่ได้อีก หรือแต่ละปีก็ตัดได้ 3 ครั้ง  ทั้งนี้ ตัดได้เรื่อยๆตามห้วงเวลาดังกล่าว โดยไม่มีวันตายไม่เหมือนยางพาราที่พอกรีดยางไปประมาณ  30 ปี ก็ต้องโค่นทิ้ง  แต่ทั้งนี้แต่ละต้นก็จะมีจำนวนยอดที่แตกต่างกันขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของต้นจาก.  ซึ่งใบจากตากแห้งที่ส่งขาย มีทั้งแบบแบนที่มวนได้เลย และแบบมัดเป็นกำๆบรรจุถุงๆละ 80 บาท  โดยชาวบ้านใน ต.วังวน ทำอาชีพนี้กันทั่วไปกระจายทั้ง 5 หมู่บ้าน แม้จะไม่ทุกครัวเรือน แต่ไม่ต่ำกว่า 100 ครัวเรือน แต่หมู่ที่ 3 มากที่สุดประมาณ  50 – 60  ครัวเรือน  แต่ละรายมีรายได้สัปดาห์ละประมาณ 1000 – 2000 บาท    แต่บางคนที่มีทุนออกไปเหมาแปลงป่าจาก จากนั้นจ้างคนตัด จ้างคนลอก ตากและส่งขาย ทำเป็นธุรกิจส่งขายไปต่างจังหวัดจะมีรายได้มากเดือนละ 20,000 บาท เดือนละ 30,000 บาท เดือนละ 50,000 บาท หรือบางรายถึงเดือนละ 100,000 บาท ส่วนตนเองลูกเดินทางกลับจากจังหวัดนครศรีธรรมราช และมีตลาด จึงมาทำอาชีพนี้ส่งขายที่จ.นครศรีฯ มีรายได้เดือนละประมาณ 50,000 บาท  ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ตลอด ไม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน

นางยุพา  บุญเพ็ช  อายุ 64 ปี   กล่าวว่า ตัวเองซื้อยอดจากมาราคายอดละ 4-7 บาท นำมาลอก ตากแดดส่งขายในราคากิโลกรัมละ 80 บาท  โดยถ้าซื้อมา 100 ยอด เมื่อขายแล้วได้กำไรประมาณ 400 – 600 บาท ขึ้นอยู่กับยอดเล็ก ยอดใหญ่

ส่วนนางสาวบานเย็น เจะหลง อายุ  39 ปี  กล่าวว่า ตนเองไปเหมาแปลงจากจากต่างตำบล จากนั้นก็ว่าจ้างคนลอก ตากแห้ง แล้วรับซื้อมารวบรวมส่งขาย ทำเป็นใบจากตากแห้ง จากนั้นนำมาตัดเป็นท่อนๆ แล้วกำเป็นมัดๆ แล้วบรรจุเป็นห่อ ขายในราคาห่อละ 80 บาท โดยตนเองจะมีทำเตาอบอย่างง่ายไว้บริเวณหลังบ้าน  หากฝนตกตากแดดไม่ได้ ก็จะนำเข้าเตาอบ โดยอบด้วยถ่านเป็นเวลา 1 วัน จากนั้นนำเมื่อเอาออก พอแดดออกก็นำไปตากแดดต่ออีกประมาณ 1 ชม. เพื่อไล่ความชื้น แล้วจึงนำมาตัด กำมือมัดใส่ถุงส่งขายในจังหวัดกระบี่ และจ.สตูล   โดยชาวบ้านในพื้นที่จะทำเป็นอาชีพหลัก จะเห็นตลอดเส้นทางถนนทางเข้าหมู่บ้าน แต่ปัญหาหากฝนตกชาวบ้านที่ไม่มีเตาอบ อาจทำไม่ได้ เพราะไม่มีแดดตาก

และสุดท้าย คุณยายนุ้ย  ณสตา  อายุ 69 ปี   (นั่งตัดสับใบจากอยู่ริมถนนใต้ร่มเงาสวนยาง)  กล่าวว่า อาชีพลอกใบจากตากแห้งขาย ยายทำมาตั้งแต่เด็กๆอายุ 10 กว่าขวบ ทำกันมายาวนาน เป็นอาชีพดั้งเดิมสืบทอดกันมา เคยขายตั้งแต่กิโลกรัมละ 10 บาท จนตอนนี้กิโลกรัมละ 80 บาท เป็นอาชีพดั้งเดิมสืบสานทำต่อๆกันมา ไม่ต้องไปไหน นั่งทำ ทำไหว ก็นั่งทำไปเรื่อยๆ มีรายได้บ้างไม่มาก แต่มี  จะได้ไม่ต้องอยู่เฉยๆ

อย่างไรก็ตาม สำหรับรายได้ของชาวบ้านใน ต.วังวน อ.กันตัง ที่ได้จากทรัพยากรที่มีคุณค่าในพื้นที่ คือ “ป่าจากหรือต้นจาก”  ทั้งจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนก้านจาก บ้านนายอดทอง ซี่งมีชาวบ้านในตำบลเป็นสมาชิกของกลุ่มประมาณ 100 ครัวเรือน ที่ทำจักสานจากใบจากและก้านจากส่งขายให้กลุ่ม นำไปส่งขายทั้งในประเทศและตลาดใหญ่ที่ประเทศจีน และสร้างงานสร้างรายได้ให้สมาชิกเดือนละ 6,000 – 7,000 บาทต่อครัวเรือน บางครัวเรือนทำได้ประมาณ 20,000 บาทต่อเดือน ส่วนชาวบ้านที่ลอกใบจากหรือทำใบจากตากแห้งส่งขายมีนับ 100 ครัวเรือนเช่นกัน ทำให้มีเงินสะพัดในชุมชนไม่ต่ำกว่าเดือนละ  600,000 บาท

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน