X

นายกฯ อบจ.ตรัง พร้อมจองซื้อซิโนฟาร์ม 8 หมื่นโดส-โฆษก ศบค.ตรัง ยัน บริหารจัดการเป็นธรรม ฉีดให้ปชช.เท่าเทียม

“นายกฯอบจ.ตรัง” พร้อมจองซื้อ “ซิโนฟาร์ม” จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ 8 หมื่นโดส ใช้ 80 ล้าน ฉีดให้คนตรัง 6 กลุ่ม เผยผู้ว่าฯขอช่วย ตัดสินใจทันที “โฆษกศบค.ตรัง” ยัน บริหารจัดการเป็นธรรม ฉีดให้ประชาชนอย่างเท่าเทียม ผ่านมติคกก.โรคติดต่อ เร่งสำรวจรายชื่อกลุ่มเป้าหมาย

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ห้องแถลงข่าวศาลากลางจังหวัดตรัง นายบุ่นเล้ง โล่สถาพรพิพิธ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตรัง พร้อม น.พ.ตุลกานต์ มักคุ้น โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จังหวัดตรัง (ศบค.ตรัง) และ นายกิตติเดช วรรณบวร ประธานสภาอบจ.ตรัง แถลงถึงความพร้อมจองซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์โดยใช้งบประมาณของอบจ.ตรัง โดยนายบุ่นเล้งกล่าวว่า อบจ.ตรังได้จัดสรรงบประมาณ 80 ล้านบาท สำหรับจัดซื้อวัคซีนซิโนฟาร์มมาบริการฉีดให้ประชาชนชาวตรัง จำนวน 40,000 คน เพื่อเติมเต็มส่วนต่างจากเป้าหมายของภาครัฐ ซึ่งต้องฉีดคนละ 2 เข็ม เท่ากับ 80,000 โดส โดยจะได้หารือร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจ.ตรัง เพื่อบริหารจัดการวัคซีนดังกล่าวต่อไป

“เป็นการโชคดีที่อบจ.ตรังยังพอมีเงินเหลืออยู่บ้าง และได้รับเกียรติจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดตรังให้มาร่วมด้วยช่วยกัน ผมก็รับปากท่านว่ายินดีทุกเรื่อง ให้ท่านว่ามา สำหรับคนตรังเวลาวิกฤตอย่างนี้ต้องช่วย ก็ได้หารือทุกฝ่ายทุกคนต่างเห็นพ้องว่าครั้งนี้ให้นายกฯตัดสินใจได้เลย เรื่องนี้น้องๆทีมบริหารมอบอำนาจให้เบ็ดเสร็จว่าให้ผมตัดสินใจไปได้เลย เมื่อผมตัดสินใจแล้วก็บอกน้องๆ ทุกคนก็เห็นพ้องต้องกัน เรื่องนี้ท่านผู้ว่าฯหันมาทางผม เพราะรู้ว่าอบจ.มีเงินอยู่ ท่านว่าเฉลี่ยโดสละราว 1 พันบาท 8 หมื่นโดส ก็ราว 80 ล้านบาท อบจ.ตรังสนับสนุนได้ไหม ผมก็ตอบว่าได้ ในเมื่อเรามีเงิน จะปล่อยให้เกิดเรื่องก่อนแล้วค่อยมาชำระสะสางคงไม่ใช่ ส่วนเมื่อได้วัคซีนมาแล้ว จะจัดการยังไง กลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างไร ก็ต้องให้น.พ.ตุลกานต์มาช่วยบริหารจัดการอีกที”นายกฯอบจ.ตรังกล่าว

นายบุ่นเล่งกล่าวอีกว่า นอกจากนี้อบจ.ตรังยังได้สนับสนุนงบประมาณอีก 10 ล้านบาทเศษ เพื่อจัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ ในการสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยของโรงพยาบาลสนามตรัง 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 1 (โรงยิม 1,000 ที่นั่ง) สนามกีฬาเทศบาลนครตรัง 2 (ทุ่งแจ้ง ) จำนวน 5.7 ล้านบาท 2.โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 4 ศูนย์กีฬา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตตรัง) จำนวน 1.8 แสนบาท 3.โรงพยาบาลสนาม แห่งที่ 5 มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตตรัง จำนวน 4 ล้านบาท และ 4.โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 6 ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัยตรัง จำนวน 2.4 แสนบาท

ด้าน น.พ.ตุลกานต์ กล่าวว่า ถือเป็นภาพความร่วมไม้ร่วมมือของหน่วยงานในจ.ตรัง โดยเฉพาะอบจ.ตรังที่ให้การสนับสนุนด้วยดีเสมอมา ทั้งเรื่องการพ่นฆ่าเชื้อโรค และเรื่องโรงพยาบาลสนาม โดยเฉพาะล่าสุดผลงานที่ได้ทำเพื่อพี่น้องชาวตรังคือเรื่องการจองวัคซีนซิโนฟาร์ม โดยการบริหารจัดการเมื่อได้รับการจัดสรรจากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ทางจ.ตรังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจ.ตรัง เพื่อพิจารณาว่าจะฉีดให้กับกลุ่มไหนบ้าง โดยเบื้องต้นแบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้ 1.ประชาชนที่เป็นกลุ่มพ่อค้าแม่ขายและอาชีพทำอาหารในร้านอาหาร 2.ประชาชนที่ทำงานในระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ 3.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน 4.เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.)ในภาคส่วนต่างๆ 5.กลุ่มครูในสังกัดของอปท. และ 6.ภาคส่วนการท่องเที่ยว ผู้ทำอาชีพท่องเที่ยวและท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุด

“ส่วนเมื่อวัคซีนซิโนฟาร์มที่ได้มาแล้ว จะฉีดให้กับใครบ้างนั้น ต้องรอมติคณะกรรมการโรคติดต่อจ.ตรัง โดยจะมีการจองผ่านระบบของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในวันพรุ่งนี้ (14 มิ.ย.) เวลา 08.00 น. โดยเราได้แจ้งสถานพยาบาลสำหรับดำเนินการฉีดประกอบด้วย โรงพยาบาลตรัง , โรงพยาบาล TRPH , โรงพยาบาลวัฒนแพทย์ ซึ่งมีศักยภาพการฉีดวันละ 2,500-3,500 คนต่อวัน ส่วนยอดจองซื้อของสภาอุตสาหกรรมจ.ตรัง จองที่จำนวน 9,300 โดส โดยการฉีดจะฉีดให้กับภาคอุตสาหกรรมก่อน แล้วต่อด้วยโควต้าของอบจ.ตรัง โดยคาดว่าซิโนฟาร์มน่าจะถึงจ.ตรัง ไม่เกินวันที่ 24 มิ.ย. หลังเตรียมข้อมูลคาดว่าจะได้ฉีดไม่เกินวันที่ 28 มิ.ย. ดังนั้นงานหนักของเราต่อจากนี้ คือการลงทะเบียนประชาชน เพื่อให้ทราบฐานข้อมูลก่อน”โฆษกศบค.ตรังระบุ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีแผนบริหารจัดการวัคซีนซิโนฟาร์มอย่างไรไม่ให้ซ้ำซ้อนกับวัคซีนหลัก และประชาชนได้รับความเป็นธรรม น.พ.ตุลกานต์ กล่าวว่า เรามีการลำดับความเสี่ยงในการฉีดอยู่แล้ว และการฉีดจะผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อ เมือมีมติไปยังกลุ่มไหน จะมีการสำรวจรายชื่อ เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน เราจะพิจารณาจากความเสี่ยงโดยมีหลักฐานทางวิชาการรองรับ และจะกระจายทุกกลุ่มที่มีความเสี่ยงใกล้เคียงกัน ส่วนจ.ตรังจะได้รับจัดสรรคมาเต็มจำนวน 8 หมื่นโดสหรือไม่นั้น เนื่องจากการจัดสรรมีเงื่อนไขหลายประการ อันดับแรกคือเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดหรือไม่ ซึ่งจ.ตรังก็ได้เปรียบกว่าพื้นที่อื่น และเหตุผลที่อบจ.ตรังให้ไปนั้นมีน้ำหนักในเรื่องลดการระบาดที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และเพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐ เราก็น่าจะไดรับความหวังในการจัดสรร

“ขอให้ประชาชนมั่นใจว่า ผู้แทนในคณะกรรมการโรคติดต่อจ.ตรัง จะได้อภิปรายกันเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมในการรับจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มอยู่แล้ว และจากที่ผมได้รับติดต่อจากราชวิทยาลัยฯ โดยตรง โอกาสที่ตรังจะได้ครบทั้ง 4 หมื่นคนค่อนข้างสูง เพราะเป็นการทยอยจัดสรรมา”โฆษกศบค.ตรังกล่าว

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน